การหมุนเวียนถุงนมโรงเรียนแบบวงรอบปิด (Closing The Loop) เพิ่ม Recyclability ด้วยเทคโนโลยี “De-ink”

การหมุนเวียนถุงนมโรงเรียนแบบวงรอบปิด (Closing The Loop) เพิ่ม Recyclability ด้วยเทคโนโลยี “De-ink”

บริษัท ซิกเวอร์ค (ประเทศไทย) จำกัด (SWT)

กรณีศึกษาถุงนมโรงเรียน แต่ละปีจะมีเศษถุงนมเกิดขึ้นกว่า 1,000 ล้านชิ้น ถุงนมเหล่านี้ผลิตจากพลาสติก LLDPE และ LDPE คุณภาพสูงสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบที่ดีได้ เนื่องจากมีคุณลักษณะและหน้าตาที่เป็นมาตรฐาน มีปริมาณที่ต่อเนื่อง มีปริมาตรไม่มาก อีกทั้งมีระบบโลจิสติกที่แน่นอนสามารถรับถุงนมกลับได้ แต่บนถุงนมมีการพิมพ์ลวดลายด้วยหมึกเต็มทั่วพื้นที่ ดังนั้นการนำถุงนมมารีไซเคิลเป็นวัสดุรอบสองที่มีคุณภาพสูงจึงทำได้ยาก

การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่

SWT ร่วมมือกับ SCGC, MTEC, QPP และผู้มีส่วนได้เสียตลอดโครงข่ายคุณค่าของผลิตภัณฑ์ใช้การหมุนเวียนแบบวงรอบปิดของถุงนมโรงเรียนขยายผลการใช้เทคโนโลยี “De-ink” โดยรับฟังความเห็นและ Design inputs จากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยหลัก Design for Recyclability การออกแบบเน้นที่การพิมพ์ถุงนมให้สามารถหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นฟิล์มบางคุณภาพสูงได้ โดยคำนึงถึงความเข้ากันได้ของเทคโนโลยี De-ink กับสายการผลิตจริงที่มีอยู่ในประเทศ และการพัฒนาสูตรหมึกพิมพ์ให้สามารถลอกออกได้ โดยไม่เพิ่มขั้นตอนของโรงงานรีไซเคิล

การที่ SWT ออกแบบให้หมึกพิมพ์ลอกออกง่าย ช่วยให้โรงพิมพ์ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะไม่ต้องเพิ่มชั้นไพร์เมอร์ (deinking primer) ก่อนจะพิมพ์หมึก อีกทั้งมีความปลอดภัยสูงทำให้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้สามารถนำกลับมาผลิตถุงนมในรอบต่อไปได้ถ้ากฎหมายอนุญาตยิ่งไปกว่านั้นยังมีศักยภาพในการนำไปรีไซเคิลในรอบถัด ๆ ไปด้วย

บริษัท ซิกเวอร์ค (ประเทศไทย) จำกัด (SWT)

เป็นผู้ผลิตหมึกพิมพ์และสารเคลือบสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ดำเนินการด้านการพัฒนาคุณภาพและสมรรถนะทางสิ่งแวดล้อม SWT ได้พัฒนาหมึกพิมพ์ที่ปราศจากสารโทลูอีน ทั้งยังพัฒนาเทคโนโลยี “De-ink” ทำให้โรงงานรีไซเคิลสามารถผลิตวัสดุรอบสองที่ปราศจากการปนเปื้อนจากหมึกพิมพ์และมีคุณภาพทัดเทียมวัสดุรอบแรกได้ แต่การจะพัฒนาระบบการรีไซเคิลพลาสติกคุณภาพสูงให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติยังต้องอาศัยความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดโครงข่ายคุณค่าของผลิตภัณฑ์