About Us

เกี่ยวกับสมาคมการพิมพ์ไทย

about-01

about-02

ประวัติและความเป็นมาของสมาคมการพิมพ์ไทย

สมาคมการพิมพ์ไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2489 เดิมใช้ชื่อว่า “สมาคมการพิมพ์แห่งประเทศไทย” เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของบรรดาเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการต่างๆของอุตสาหกรรมการพิมพ์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของห้างหุ้นส่วนหรือในนามของบริษัทจำกัดต่างๆ ที่มารวมตัวกันเพื่อทำการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบสมาคมการค้า เพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการทั้งหลาย ก่อให้เกิดการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกัน เป็นกระบอกเสียงให้คนในอุตสาหกรรมการพิมพ์ในการเจรจาต่อรองกับภาครัฐ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ความร่วมมือกันในการปรับปรุงและร่วมกันพัฒนาทางด้านการพิมพ์ ทั้งในด้านเทคนิคชั้นสูงและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในวงการพิมพ์เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ช่วยยกระดับมาตรฐานการพิมพ์ของประเทศให้สูงขึ้น พร้อมทั้งช่วยขยายตลาดความต้องการใช้สิ่งพิมพ์ของภายในประเทศออกไปให้กว้างขวางและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

บุคคลท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการริเริ่มก่อตั้งสมาคมได้แก่ นายเพียวเพ้ง แซ่ลี้ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการพิมพ์แห่งประเทศไทยคนแรก และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯติดต่อกันยาวนานถึง 22 ปี พร้อมคณะกรรมการสมาคมฯในขณะนั้น ซึ่งได้ทำการยื่นขออนุญาตจัดตั้งสมาคมฯ และได้รับอนุมัติการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ภายหลังจากการจัดตั้งสมาคมฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมาคมฯได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่โรงพิมพ์เฮี่ยบเฮง ต.ตลาดน้อย ถนนเจริญกรุง ซึ่งต่อมาไม่นานก็ได้ย้ายไปเช่าที่ทำการแห่งใหม่ซึ่งไม่ไกลจากที่เดิมนัก และเริ่มดำเนินกิจกรรมของสมาคมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2490

สมาคมการพิมพ์ไทยเป็นสมาคมของภาคเอกชนที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อดำเนินการบริหารงานของสมาคมฯ โดยมิได้แสวงหาผลกำไร ซึ่งการหารายได้เพื่อใช้จ่ายในการบริหารงานส่วนใหญ่มาจากค่าบำรุงรายปีจากสมาชิก และการดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่นการจัดสัมมนา การจัดงานนิทรรศการการพิมพ์ รวมถึงเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา

ในปี พ.ศ 2544 สมาคมการพิมพ์ไทยก้าวสู่จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญยิ่งใหญ่อีกครั้ง ภายใต้การนำของคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ซึ่งดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมการพิมพ์ไทย คนที่ 9 และดำรงตำแหน่งติดต่อกันนานถึง 7 ปี (พ.ศ.2544-2550 ) ซึ่งถ้านับรวมระยะเวลาที่คุณเกรียงไกรได้เข้ามาร่วมงานกับสมาคมฯในฐานะหนี่งในคณะผู้บริหารสมาคมฯในหลายวาระและได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอดีตนายกสมาคมฯ หลายท่าน ผ่านงานมาหลายตำแหน่งจนก้าวขึ้นเป็นนายกสมาคมฯ ก็รวมเวลาในการรับใช้สมาคมฯ มากกว่า 20 ปี ภายหลังที่ได้รับตำแหน่งนายกสมาคมฯนโยบายแรกที่ได้ดำเนินการ คือ การประกาศยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ โดยมีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางด้านการพิมพ์ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้จัดทำแผนงานและซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม อันนำไปสู่การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ภายในประเทศและการพิมพ์เพื่อการส่งออกอย่างแข็งแรงและมีความยั่งยืน และเป็นประเทศที่มียอดการส่งออกสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ มิดังนั้น การระดมกำลังสมองในการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมจึงเป็นไปอย่างจริงจัง ซึ่งได้ก่อให้เกิดแนวทางและกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยมีขีดความสามารถทัดเทียมกับอารยะประเทศ อันส่งผลไปสู่การขยายตัวของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศของผู้ประกอบการโรงพิมพ์ของไทย ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาของสมาคม รวมถึงแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

1. การพัฒนาบุคลากร ซึ่งเน้นไปสู่ 3 กลุ่มเป้าหมาย

  • ช่างพิมพ์ การขาดแคลนช่างพิมพ์ที่มีความรู้ความสามารถทางการพิมพ์ที่สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาโดยตลอด ซึ่งทางสมาคมมีเป้าหมายในการจัดตั้งสถาบันการพิมพ์ตามมาตรฐานโลกขึ้น เพื่อทำการผลิตช่างพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพและป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยให้มากที่สุด โดยการนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในภาครัฐด้วย
  • ผู้บริหารระดับกลาง ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่งในด้านการบริหารงานพิมพ์ เพราะป็นมืออาชีพที่จะนำนโยบายฝ่ายบริหารระดับสูงหรือเจ้าของกิจการมาสู่การปฏิบัติในงานจริง โดยสมาคมจะจัดอบรมหลักสูตรสัมมนาความรู้ ทั้งด้านการพิมพ์และบริหารการจัดการให้แก่บุคคลในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง
  • ทายาททางการพิมพ์ บุคคลกลุ่มนี้คือเจ้าของกิจการในอนาคตนั่นเอง ดังนั้นการพัฒนาการบริหารจัดการ รวมถึงการปรับภาพลักษณ์และปรับรูปแบบองค์กร เพื่อยกระดับให้โรงพิมพ์มีมาตรฐานที่ดีที่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยสมาคมจะจัดกิจกรรมเพื่อทายาททางการพิมพ์เหล่านี้อย่างจริงจัง

2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

สมาคมการพิมพ์ไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพิมพ์แห่งชาติ โดยตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 30,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2553 และสามรถประสบความสำเร็จเร็วกว่าที่ทางสมาคมฯ ได้ตั้งเป้าไว้ เพราะแค่ปี 2550 ก็ส่งออกได้ถึงเป้าดังกล่าวแล้ว และปี 2551 ก็สามารถส่งออกได้ถึง 50,000 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของการส่งออกสิ่งพิมพ์ของภูมิภาคนี้แทนประเทศสิงคโปร์ได้สำเร็จถึง 2 ปีติดต่อกัน ดังนั้น ทางสมาคมการพิมพ์ไทยจึงได้มีมติปรับเปลี่ยนเป้าการส่งออกใหม่ ท้าทายกว่าเดิม คือยอดส่งออกสิ่งพิมพ์เป็น 100,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2560

ณ วันนี้ สมาคมการพิมพ์ไทย ได้ก้าวสู่ความเป็นเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์อย่างแท้จริง สมาคมฯของพวกเรามีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากว่า 70 ปี ซึ่งก่อตั้งโดยบรรดาบรรพชนและผู้หลักผู้ใหญ่ของวงการพิมพ์ในอดีต จากรุ่นสู่รุ่น จนทำให้เกิดความเข้มแข็งและเติบโตขึ้น และสามารถเป็นปากเสียงให้กับอุตสาหกรรมการพิมพ์ในผลักดันนโยบายต่างๆกับรัฐบาล สมาคมฯไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นของพวกเราทุกคน และยิ่งได้มองไปข้างหน้าในอนาคต การแข่งขันทางการค้าที่เข้มข้นและรุนแรงขึ้นจากผลของการเปิดระบบตลาดการค้าเสรีจากประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะต้องแข่งขันกันเองภายในประเทศแล้ว ยังต้องแข่งขันจากคู่แข่งจากภายนอกประเทศอีกด้วย ความสามัคคีและความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับคู่แข่งและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจได้อย่างปลอดภัย

รูปสมาคมการพิมพ์ไทย