Digital Disruption และ New Normal เราจะปรับตัวอย่างไรให้รอด เมื่อโลกกำลังปั่นป่วน
โดย คุณพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่
ความเปลี่ยนแปลงเป็นวิถีชีวิตใหม่ในสังคม New Normal ที่เราพบเห็นตั้งแต่ก้าวออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน การทำงานออนไลน์ Work from Home การเรียนออนไลน์ อาคารสถานที่ตั้งจุดคัดกรอง จุดบริการเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้าน ร้านอาหารนั่งแยกโต๊ะ และซื้อกลับมารับประทานที่บ้าน การใช้ธุรกรรมออนไลน์ รวมไปถึงการใช้บริการ Delivery มากขึ้น สิ่งนี้คือปรับตัวของบุคคลทั่วไป แต่ในส่วนของการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจนั้น คุณพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ได้ให้เล่าไว้ใน Young Printer Talk ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “Digital Disruption และ New Normal เราจะปรับตัวอย่างไรให้รอด… เมื่อโลกกำลังปั่นป่วน” ซึ่งมีคุณกร เธียรนุกุล ประธาน Young Printer เป็นผู้ดำเนินรายการ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ
ทำความรู้จักสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่
“สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่” หรือ Thailand Tech Startup Association เพื่อช่วยพัฒนาผู้ประกอบการหน้าใหม่ในวงการเทคโนโลยี และสร้างคอมมิวนิตี้ให้เป็นปึกแผ่น
ธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ Tech Startup กำลังมีบทบาทสำคัญในยุค Creative Economy ซึ่งนอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้ว เทคโนโลยียังเป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจยุคใหม่ มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ หรือ Business Model ที่แตกต่างไป มีตลาดที่ใหญ่ขึ้น และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้มากขึ้น วันนี้ Tech Startup ไทยกำลังเติบโต และเป็นที่จับตามองในระดับภูมิภาค ดังนั้นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ จะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด ไม่จำเป็นต้องเป็น Silicon Valley เหมือนใคร เราจะรวมตัวกันสร้างคำว่า Startup Thailand ด้วยจุดแข็งของผู้ประกอบการ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และโอกาสมากมายทั้งในประเทศไทยและอาเซียน
ความคิดเห็นเกี่ยวกับคำว่า New Normal
เรื่องนี้แบ่งได้เป็นสองส่วน คือ ในเรื่องของเทคโนโลยี และเรื่องของ Motive หรือแรงจูงใจของเงื่อนไขของเทคโนโลยีที่จะมาอยู่ในยุค New Normal คือ ดิจิทัล เนื่องจากต้องใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่วนในเรื่องของแรงจูงใจนั้น จะต้องมองว่ามนุษย์เรามีแรงจูงใจอะไรบ้าง เมื่อมองทั้งสองส่วนนี้แล้วจะเห็นโอกาส มองเห็นปัญหา และใช้ความรู้ความสามารถที่มีแก้ไขให้ดีกว่าเดิม มอง New Normal ในมุมมองของตัวเองที่คนอื่นอาจจะไม่เห็น
New Normal สามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน แม้จะไม่มีวิกฤติโควิด-19 แต่เมื่อเกิดวิกฤตินี้ส่งผลให้เกิดข้อกำจัดบางอย่าง ซึ่งอาจจะไม่ถึงขั้นเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น จึงต้องหา New Normal จากวิสัยทัศน์ของเราเอง จะส่งผลให้เกิด Vision ในรูปแบบของเราเอง
การปรับตัวของธุรกิจ Start up และการอยู่ให้รอดหลังวิกฤติโควิด-19
นำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น Event Pop ที่ปกติรับจองตั๋วคอนเสิร์ต แต่เมื่อไม่มีการจัดคอนเสิร์ต ก็ปรับรูปแบบเป็นการจองคิวจองอาหารแทน ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาปรับใช้ได้มากกว่ากัน
ปัจจุบันนี้มี Tools หรือเครื่องมืออยู่มากมาย ต้องดึงมาใช้และเข้าใจให้ลึกซึ้งในสิ่งที่ตัวเองมี พยายามใช้และควบคุมให้ได้ วิกฤติโควิด-19 ตัดความไม่จำเป็น ตัดความไร้สาระออกไป และมองว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ และอะไรที่จำเป็นต้องทำจริง ๆ สิ่งนี้ทำให้ต้องมองตัวเองและกลับมาพัฒนาให้ความสามารถเพิ่มมากขึ้นยิ่งไปกว่าเดิม เพราะถ้าไม่เรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เลย ภัยที่เกิดขึ้นมีสาระ มีข้อมูล มีไอเดียหลาย ๆ อย่างที่ซ่อนอยู่ในนั้น ดังคำที่ว่า “ในวิกฤติ มีโอกาส” อาจจะทำให้มองเห็น New S-Curve ของ Family Business ของเราก็ได้ ไม่ใช่ตลาดเดิม เป็นตลาดใหม่ที่ใช้ของที่มีอยู่เดิมในการพลิกออกมา ไม่ยึดติดว่าต้องเป็นแบบนี้ พยายามของหา Value ใหม่ ๆ ตั้งคำถามกับสิ่งนั้นให้มาก จะทำให้เห็นโอกาสที่จะหมุนตัวเองไปได้