“ทำไมไม่กินข้าวหลามในตู้เย็น”
ทีมชนะเลิศจากประกวด “คนรุ่นใหม่ ไร้ Food Waste”
บริษัท ซีพีแรม จำกัด ร่วมกับ สาขามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ร่วมดำเนินโครงการการประกวดคลิปวิดีโอภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ไร้ Food Waste”
รวมถึงได้จัดงานประกาศรางวัล เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา
วารสาร Thai Print ฉบับนี้ จะนำท่านผู้อ่านมารู้จักทีมชนะเลิศที่ได้รับรางวัลมูลค่า 100,000 บาท จากการประกวดครั้งนี้ ทีม “ทำไมไม่กินข้าวหลามในตู้เย็น” ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชามีเดียอาตส์ เอกการออกแบบภาพยนตร์ โครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ (มีเดีย) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจนสินี จันทร (ไอซ์), พลอยชนก บุญเติม (พลอย), ปณัสญา อธิคบัณฑิตกุล (เพลง), ธนัชพร อนุภาพประเสริฐ (ฮวกใช้), ปริญ อาภาศิลป์ (เชลล์)
ที่มาของชื่อทีม “ทำไมไม่กินข้าวหลามในตู้เย็น”
มาจาก ตอนที่ออกกองงานประกวดครั้งที่แล้ว ตอนเลิกกองกำลังเก็บของจะกลับบ้านแล้วแฟนของเพื่อนโทรมาเหมือนจะเถียงกัน บรรยากาศตอนเก็บของเลยตึงๆ จนเพื่อนพูดกับแฟนว่า “แล้วทำไมเธอไม่กินข้าวหลามในตู้เย็นล่ะ” อยู่ๆ ทุกคนก็หันมามองหน้ากันแล้วก็หัวเราะโดยพร้อมเพรียง แล้วเพื่อนก็กลับห้องไปกินข้าวหลามในตู้เย็นค่ะ หลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อกรุ๊ปแชทเป็น ทำไมไม่กินข้าวหลามในตู้เย็น เป็นโมเม้นต์ที่ตราตรึงใจมากๆ
เหตุผลที่เรียนสาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ธนัชพร: ตอนเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 คิดว่าโตไปอยากทำหนังกับงานเบื้องหลัง แบบไปเป็นช่างภาพเบื้องหลัง Behind the scene เพราะรู้สึกว่ามันอิสระดี
ปณัสญา: ช่วงมัธยมปลายได้ทำละครเวทีที่โรงเรียนแล้วติดใจการทำงานเบื้องหลังมากๆ ตอนทำงานรู้สึกสนุก เลยคิดว่ามาทางนี้อาจจะเหมาะกับเราค่ะ
พลอยชนก: เลือกเรียนคณะนี้เพราะว่า ได้เรียนทั้งเรื่องของการวาดรูป การดีไซน์ และการทำภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่เราชื่นชอบทั้ง 2 อย่าง พอเห็นว่าคณะนี้รวมสิ่งที่เราชอบไว้ด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจได้ทันทีว่าอยากจะเข้าคณะนี้ เอกภาพยนตร์ค่ะ
เจนสินี: เหตุผลที่เลือกเรียนคณะนี้เพราะสนใจการทำหนัง จึงอยากศึกษาเรื่องการทำหนังโดยตรง แต่พอเข้ามาแล้วได้เรียนรู้เรื่องการออกแบบเพิ่มเยอะมาก เข้าใจการทำหนังมากขึ้น และที่สำคัญคือเรียนรู้แค่ในห้องไม่พอต้องออกไปหาประสบการณ์จริงจากข้างนอกมหาลัยเพื่อเพิ่มความรู้และเทคนิคที่เรายังไม่รู้
ปริญ: ชอบบรรยากาศที่บางขุนเทียน แล้วก็อยากเรียนด้านภาพยนตร์ก็เลยเรียนที่่นี่
แรงจูงใจในการส่งงานประกวด
ธนัชพร: ให้เหตุผลว่า อยากลองทำงานส่งประกวดทิ้งท้ายในปีสี่ดู อยากรู้ว่าตัวเองจะทำได้ขนาดไหน
แนวคิดของผลงาน “ทิ้งกันไป ใครเจ็บสุด”
ปณัสญา: เรามองเรื่องใกล้ๆ ตัวที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายอย่างเรื่องของความรักมาใช้ในการเล่าเรื่อง มองตามขอบเขตที่เรามีว่า สเกลนี้เราจะถ่ายได้จริงนะ มองงานนี้เป็นโฆษณาชิ้นหนึ่ง ที่ต้องการข้อมูลที่ครบถ้วนและเข้าถึงง่ายค่ะ
หน้าที่ในการทำงาน
ส่วนมากจะแบ่งตามความถนัด คือโชคดีที่กลุ่มเรามีคนทำงานตามหน้าที่ได้พอดีๆ เวลาแบ่งงานจะไม่ยาก
ธนัชพร: เขียนสคริปต์ + กำกับ
ปณัสญา: โปรดิวเซอร์ + กล้อง + ตัดต่อ + ทำสี
ปริญ: ผู้ช่วยผู้กำกับ
เจนสินี: ฝ่ายศิลป์ + จัดการกอง
พลอยชนก: ฝ่ายศิลป์ + จัดการกอง + SOUND
อุปสรรค ปัญหา แนวทางในการแก้ไข
ธนัชพร: เวลาในการเล่าที่จำกัดกับข้อมูลที่ต้องใส่เข้าไปเยอะมาก เลยต้องทำข้อมูลให้กระชับกับเวลาสามนาทีแล้วก็ต้องทำให้สนุกไปด้วยในเวลาเดียวกัน กับอุปกรณ์ในการทำงาน วันออกกองคือแทบไม่มีอะไรเลยนอกจากอุปกรณ์ของทีมงานใช้กล้องหนึ่งตัวกับ iPhone ไว้อัดเสียง แล้วก็ไฟดวงเท่าไฟฉาย ก็ใช้เท่าที่มี มันก็ลำบากหน่อยแต่ผลก็ไม่ได้แย่นะเพราะทีมงานทุกคนช่วยกันมันก็เลยดี
ปณัสญา: อุปกรณ์ที่จะใช้ไม่เพียงพอค่ะ มีแค่ไฟดวงเล็กๆ จริงๆ เราคิดมาแล้วตั้งแต่ตอนคิดงานว่า จะใช้แค่โลเดียวนะ เพราะไม่มีงบ จะได้ประหยัด ไฟดวงเล็กที่ซื้อเผื่อๆ ไว้ก็ได้ใช้งานจริง วิธีแก้ไข คือใช้ของที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ค่ะ
ได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่างไร
ธนัชพร: ได้รับคำแนะนำว่ามีโครงการนี้นะให้ไปลองทำส่งดู แต่ชิ้นงานไม่ได้ปรึกษาใครเลยอาจารย์เห็นอีกทีคือทำเสร็จแล้ว
ปณัสญา: ไม่ได้คำแนะนำอะไรเป็นพิเศษค่ะ
เห็นอะไรจากการได้ชมผลงานของทีมอื่น
ธนัชพร: ทุกทีมเก่งมาก ทุกคนมีไอเดียที่ดีมากในการนำเสนอเรื่อง food waste ให้ออกมาในมุมอื่นๆที่แตกต่าง
ปณัสญา: ตอนเห็นผลงานยอมรับว่าทุกคนเก่งมากๆ น้องทีมมัธยมก็เก่งมากๆ เหมือนกัน หลายๆ ทีมมีความโดดเด่นแตกต่างกัน บางทีมไอเดียเด่น บางทีมเอฟเฟคเด่น บางทีมโปรดักชั่นเด่น เราก็รู้สึกว่า ถ้าบางทีเรามีอุปกรณ์พร้อมๆ น่าจะดีเหมือนกันนะ บางทีไอเดียดีมันอาจจะเพียงพอ ถ้าวิชวลดูดีไปด้วยงานจะยิ่งดีขึ้นๆ ไปอีก
พลอยชนก: ทีมอื่นก็ทำได้ดี มีดีทั้งโปรดักชั่น ทั้งบท หรือเทคนิคการเล่าต่างๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดและเทคนิคบางอย่างจากการดูงานทีมอื่น
เจนสินี: จากการที่ได้ชมผลงานของทีมอื่นในช่วงตอนประกาศรางวัล คืองานของแต่ละทีมมีฝีมือมาก ถึงได้ดูแค่ทีเซอร์ของหนัง เห็นภาพแล้วแบบกล้องเค้าดีมากค่ะ ภาพสวยมากจริง คุณภาพของภาพในหนังคือดีมากทั้งสองระดับเลยค่ะ พอดูผลงานของระดับมัธยมคืองานน้องดีเลยนะคะ บางทีมดีกว่าเราด้วยซ้ำ ตอนหนูอยู่มัธยมยังไม่ได้ขนาดนี้เลย น้องๆ เก่งจริง ส่วนของระดับมหาวิทยาลัย หลายๆ ทีมดีเลยนะคะ การถ่ายก็ดีอีกเหมือนกัน เรื่องก็มีการเล่าที่ดีนะคะ ทุกทีมอาจจะมีพลาดบ้างจุดบ้างแต่โดยรวมคือดีเลยค่ะ เพราะพวกหนูเองก็มีจุดผิดพลาดเหมือนกัน ช่วงประกาศยังตื่นเต้นเลยค่ะไม่คิดว่าทีมเราจะได้รางวัลนี้เพราะดูแล้วมีแต่งานดีๆ ทั้งนั้น ไอเดียกับอุปกรณ์ของเขาดีจริงๆ ค่ะ
เชิญชวนรุ่นน้องที่สนใจเรียน หรือส่งผลงานเข้าร่วมประกวด
ธนัชพร: ถ้าน้องมั่นใจแล้วว่าชอบด้านนี้ ก็ลุยให้เต็มที่เลย สู้ๆนะ
ปณัสญา: ทำในสิ่งที่น้องชอบให้เต็มที่ พยายามให้เต็มที่ แล้วจะทำได้นะ
เจนสินี: สำหรับน้องๆที่สนใจในการเรียนด้านนี้ งานด้านนี้ต้องศึกษา ดูภาพยนตร์ให้มากๆ วิเคราะห์ในสิ่งที่อาจารย์สอน ลงมือทำจริง เจอปัญหาและแก้ไขต่างๆ ให้ไว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญมาก เพราะการทำงานจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง และอีกอย่างต้องเป็นคนช่างสังเกต เพราะการสังเกตสิ่งต่างๆ ล้อมข้างจะทำให้เราเจอเรื่องที่อยากเล่า ความเป็นจริงของคาแรคเตอร์แต่ละตัวละคร ที่เราจะเอามาใช้ในหนัง และสุดท้ายจงออกไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียนมันจะทำให้เราเจอเทคนิคแนวคิด และการทำงานที่ยิ่งกว่าในห้องเรียน
พลอยชนก: ในการเรียนด้านนี้ งานเยอะค่ะ ภาคปฏิบัติจะค่อนข้างเยอะกว่าทฤษฎี ฝากน้องๆ ว่า หากบริหารเวลา จัดสรรเวลาได้เป็นอย่างดี งานก็จะออกมาดีเองค่ะ เราทำอะไรก็จะได้อย่างนั้น ตั้งใจทำงาน ให้เวลากับมัน หรือแม้แต่ถ้าเผางาน ตัวเนื้องานมันจะบอกเองค่ะ สุดท้ายอยากบอกน้องๆ ว่าศึกษางานข้างนอกเยอะๆ แต่ก็ไม่ควรทิ้งความรู้จากในตำรา ศึกษาควบคู่กันไป