กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกพลังเครือข่ายประชารัฐ เปิดมิติใหม่ พลิกโฉม SME ไทยยุค 4.0

p64-67_02

กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกพลังเครือข่ายประชารัฐ
เปิดมิติใหม่ พลิกโฉม SME ไทยยุค 4.0 ในงาน SME Transform
#พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล ซึ่งจัดโดย กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมุ่งหวังขับเคลื่อนและยกระดับ SME สู่ยุค 4.0 ผ่านมาตรการส่งเสริมพัฒนาและมาตรการด้านการเงิน ในการช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล” ว่า ปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs มีจำนวนกว่า 3 ล้านกิจการ คิดเป็นร้อยละ 99.7 ของจำนวนวิสาหกิจทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน SMEs จึงถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นห่วงโซ่การผลิตและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่แท้จริง รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งให้ความสำคัญในการส่งเสริม SMEs ได้กำหนดให้การพัฒนา SMEs เป็นวาระแห่งชาติ ผ่านการขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง “ผ่านกลไก “ประชารัฐ” โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นแกนหลักในการประสานและบูรณาการงานส่งเสริม SMEs ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้การส่งเสริม SMEs เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ภาคอุตสาหกรรม SMEs จึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และสร้างสิ่งใหม่ๆ พร้อมทั้งเข้าถึงและเข้าใจ Digital Technology เพื่อให้ SMEs ก้าวสู่ยุค Industry 4.0 ได้อย่างภาคภูมิ สามารถดำเนินธุรกิจให้เกิดความแข็งแกร่งและเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น สิ่งจำเป็นคือเราจะต้องพัฒนาตัวเองให้เติบโตและสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม SME ตั้งแต่ระดับชุมชน/ฐานราก วิสาหกิจชุมชน ต้องปรับเปลี่ยน ต้องปฏิรูปหรือ Transform ตัวเอง โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ สสว. และ SME Development Bank และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงออกชุดมาตรการใหม่ที่ได้เริ่มนำร่องแล้ว 9 มาตรการหลัก ที่ให้ความสำคัญกับการวางแนวทางมาตรการส่งเสริมและปฏิรูป SME อย่างเป็นรูปธรรม มีทั้งมาตรการเพื่อการเข้าถึงการส่งเสริม ควบคู่ไปกับมาตรการเพื่อการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงการ สร้างการรับรู้แนวทางและโอกาสการปรับเปลี่ยนธุรกิจพร้อมนำเสนอกลไกการยกระดับ SMEs ทุกกลุ่ม ทุกมิติ และทั่วประเทศ โดยมีมาตรการที่มีความครอบคลุมในทุกมิติตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value-Chain) และกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนในด้านมาตรการการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับคนตัวเล็ก รัฐบาลได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยจัดให้มีสินเชื่อ 2 แบบคือ (1) สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 (คนตัวเล็ก) วงเงินรวม 8,000 ล้านบาท ผู้กู้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้าประกัน สามารถกู้ได้ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1 % ระยะเวลา 7 ปี ปลอดเงินต้น 3 ปีแรก และ (2) สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยกู้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินกู้ 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ระยะ 7 ปี โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดให้มีการผ่านบริการเคลื่อนที่หรือ “ม้าเร็วเติมทุน”เพื่อให้บริการแก่ SMEs/วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่กว่า 1,000 จุดทั่วประเทศให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นผ่านทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ร่วมกันดำเนินงานโครงการเพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้โครงการ Connected Industry ดังนี้ โครงการ 3-Stage Rocket Approach ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าในการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้อย่างเหมาะสม โครงการ Open Innovation Columbus เป็นโครงการที่ประเทศไทยร่วมกับญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง การแลกเปลี่ยนนวัตกรรมแบบเปิด หรือ Open Innovation โครงการ Flex Campus ที่ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมที่เสริมจากการศึกษาในระบบปกติที่อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม

ขณะที่การเชื่อมโยงกับประชาคมโลก หรือมาตรการด้านการตลาด กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทาง E-Commerce และการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล ซึ่งทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทอาลีบาบา (Alibaba Group) โดยนาย แจ็ค หม่า (Mr.Jack Ma) ประธานกรรมการบริหาร ที่ได้มีการลงนามความร่วมมือด้าน Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership ไปเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคจีนที่ในปัจจุบัน มีผู้ซื้อกว่า 500 ล้านคน รวมไปถึงการเข้าถึงตลาดโลกที่มีมูลค่ามหาศาล ช่วยให้เกิดการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเมืองรองและการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่กระจายตัว ในขณะที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นจากเทคโนโลยี ดิจิทัลต่างๆ เป็นการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยจะสามารถก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้อย่างยั่งยืน

“รัฐบาลมุ่งหวังที่จะผลักดัน SMEs ของไทย ให้ก้าวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันด้วยการบริหารจัดการการใช้เทคโนโลยี ภูมิปัญญา และการผนึกกำลังกัน ทำให้ SMEs สามารถเติบโตได้ตามพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ สามารถเพิ่มศักยภาพ และสามารถปรับตัวได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ยกระดับสู่ Smart Enterprise เปลี่ยนจาก “ทำมากได้น้อย” (More for Less) เป็น “ทำน้อยได้มาก” และรัฐบาลหวังที่จะเห็น SME ของไทย เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังเช่นประเทศ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น หรือ ไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่ทำให้ “GDP SME” เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 36 เป็น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2564 สำหรับการจัดงาน SME TRANSFORM #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล ในวันนี้ นับเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลตามกรอบแนวทาง “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นนโยบายหลักเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่ยุค 4.0 โดยสามารถแปลงนโยบายมาสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน มีกลไกและมาตรการต่างๆ ที่จับต้องได้ และสามารถช่วยเหลือ SMEs ได้อย่างแท้จริง” ดร.สมคิด กล่าว

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานพันธมิตร ได้ดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ผ่านมาตรการขับเคลื่อน SMEs ให้เข้าสู่ยุค 4.0 เพื่อพัฒนาด้านกลไกสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ (Service Upgrading) ด้านการเสริมแกร่ง SMEs (Enablers) ด้านการเพิ่มขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจ (Capacity Upgrading and Transforming) และด้านการยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน (Local economy) โดยมีการบริการในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ใหม่ ๆ ด้วยนวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์ (Creative Innovation) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ ตลอดจนการรวมกลุ่มเป็น Cluster เป็นต้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ Industry Transformation Center (ITC) ที่เปรียบเสมือนข้อต่อกลางที่จะเข้ามาช่วย SMEs ให้สามารถปฏิรูปธุรกิจของตนเองผ่านกระบวนการ SME Transformation ทั้งผลิตภัณฑ์ (Product Transformation) กระบวนการผลิต (Process Transformation) และบุคลากร (People Transformation) ในส่วนมาตรการด้านการเงิน กลไกนี้จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ SMEs ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มวงเงินสินเชื่อ การขยายกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการลดข้อจำกัด หลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขบางประการ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มทุกระดับ สามารถเข้าถึงแหล่งทุนตามศักยภาพ สามารถฟื้นฟู ปรับกิจการ ขยายธุรกิจ รวมทั้งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

สำหรับการจัดงาน SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล ได้จัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้สร้างโอกาสต่าง ๆ ไว้รองรับ SMEs และวิสาหกิจฐานรากของประเทศในการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยการรวมพลังเครือข่ายประชารัฐในการขับเคลื่อนและยกระดับ SMEs สู่ยุค 4.0 รวมถึงเป็นเวทีให้ SMEs ได้สัมผัสและเรียนรู้ผลสำเร็จนโยบายการส่งเสริม SMEs ตลอดจนการสร้างการรับรู้แนวทางและโอกาสการปรับเปลี่ยนธุรกิจพร้อมนำเสนอกลไก การยกระดับ SMEs ทุกกลุ่ม ทุกมิติ และทั่วประเทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า