สมุยอักษร
การบำบัดน้ำเสีย
วันที่ 5 มิถุนายน “วันสิ่งแวดล้อมโลก” เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่นานาชาติทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะตระหนักดีว่า สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของโลกอยู่ในภาวะที่ถูกมนุษย์คุกคามจนสูญเสียสมดุลย์ธรรมชาติที่เคยมีมาอย่างรวดเร็ว ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีตและการเพิ่มขึ้นของการผลิตจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ สิ่งที่ตามมาในปัจจุบันคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (ภาวะโลกร้อน) การลดลงของป่าไม้ ปัญหาขยะตกค้างทั้งบนบกและในทะเล ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศสารพิษอุตสาหกรรมตกค้างในธรรมชาติและห่วงโซ่อาหาร สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงมีผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและความเจ็บป่วยที่มนุษย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างไม่คุ้มค่า
มลพิษทางน้ำ (Water Pollution) เป็นหนึ่งในสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกับในประเทศเรา การปล่อยน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ชุมชน ธุรกิจร้านค้าโดยมิได้บำบัดลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติได้ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียและมลพิษทางน้ำ แต่คงเป็นการยากที่จะจำแนกได้ว่ามีสาเหตุมาจากอุตสาหกรรมประเภทใดมากน้อยต่างกันเท่าไร แต่ถ้าหันมามองเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นโรงพิมพ์ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่มักไม่ได้มีการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นเรื่องราว ปล่อยทิ้งลงคูน้ำสาธารณะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักมีปลายทางอยู่ที่แม่น้ำและทะเลนั่นเอง ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงก็คือการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายจากอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งรวมทั้งอุตสาหกรรมการพิมพ์ก็จะเกิดกับห่วงโซ่อาหารจากสัตว์น้ำสู่สุขภาพของเราคนไทยนั่นเอง
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำให้ผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์ทั้งระบบให้ความร่วมมือกันบำบัดน้ำเสีย เพราะยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องสร้างความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ เช่น องค์ความรู้ จิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับแต่ละขนาดและแต่ละประเภทของธุรกิจสิ่งพิมพ์ และที่สำคัญต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการมากเกินไป รวมถึงการต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลักดันส่งเสริมและกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์ควรมีระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับขนาดของธุรกิจของตัวเอง
ปัจจุบันงานวิจัยที่เกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียที่ประสบความสำเร็จมีการเผยแพร่และได้รับการจดอนุสิทธิบัติแล้วคือ “ระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงพิมพ์ระบบออฟเซ็ต เฟลกโซกราฟและสกรีน” โดยเป็นผลงานการวิจัยของ รศ.ดร.ไพทิพย์ ธีรเวชญาณ และคณะ เป็นอนุสิทธิบัตรในนามของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
อย่างไรก็ดียังมีวิธีการอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการด้านการพิมพ์ได้นำองค์ความรู้จากหลายแหล่งมาปรับใช้โดยเฉพาะการบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย เช่นหลักการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ซื่งเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียตามโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา
ตัวอย่างของโรงพิมพ์ที่นำเอาหลักการผสมผสานมาปรับใช้ในระบบการบำบัดน้ำเสีย เช่น หจก.สมุยอักษร โรงพิมพ์ระบบออฟเซ็ทบนเกาะสมุย และระบบบำบัดน้ำเสียของบริษัทถาวรเลเบิล แอนด์ริบบอน สมุทรสาคร ผู้ผลิตฉลากและสติ๊กเกอร์ในระบบเฟล็กโซ่ เป็นอีกตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ตระหนักถึงผลกระทบจากน้ำเสียต่อสิ่งแวดล้อม
จึงได้พยายามลดผลกระทบด้วยวิธีที่เหมือนกันด้วยการตกตะกอนสารแขวงลอยในน้ำเสียด้วยการเติมสารเร่งการตกตะกอน (Bio-separater) ก่อนจะเเยกน้ำทีผ่านการตกตะกอนแล้วแต่น้ำยังมีกลิ่นสารเคมีและยังมีสภาพเป็นกรด บำบัดต่อในบ่อกรองถ่านและบ่อพืชน้ำที่มีการเติมอากาศและเติมจุลินทรีย์ที่ช่วยปรับสภาพน้ำเสีย(น้ำหมักชีวภาพ)ให้คืนสภาพเป็นน้ำดีที่ใสสะอาด สามารถปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมได้
นอกจากนี้ในระบบนี้ยังได้มีการพัฒนางานวิจัยเพื่อนำตะกอนตากแห้งที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ร่วมกับทาง คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ (วิทยาเขตพัทลุง) เช่นการศึกษานำไปเป็นส่วนผสมในการทำอิฐก่อสร้างและตกแต่ง การศึกษานำไปเป็นสารดูดซับแก๊สที่ได้จากเเก๊สหมักชีวภาพเป็นต้น
ดังนั้นการที่รัฐต้องการให้พลเมืองของเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพกายใจที่ดีได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องหันมา “ดูแล” ต้นทางของปัญหาสิ่งแวดล้องเสื่อมโทรมอย่างเอาจริงเอาจัง โดยการเร่งปลูกสร้างจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า”สิ่งแวดล้อมคือหัวใจของคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน”โดยเฉพาะการปลูกสร้างจิตสำนึกในสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่วัยเยาว์ตลอดจนมีการบังคับใช้กฏหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการคิด ทำและติดตามประเมินผล