บทบาทของรัฐกับมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือ
แนวคิดริเริ่มที่จะพัฒนาวงการหนังสือในฐานะหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตามนโยบายยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์
หนังสือราคาแพง…
• นักแปลเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ยาก ต้องมีช่องทางรายได้จากที่อื่น แล้วทำงานแปลด้วยใจรัก…
• เราไม่เคยมีมาตรการห้ามหนังสือใหม่ลดราคา หนังสือออกวางขายก็ตัดราคากันสนั่นเมืองแล้ว…
• เราไม่มีสถาบันการแปลทำหน้าที่นำเสนอวรรณกรรมดีๆ ให้กับสำนักพิมพ์ต่างชาติ…
• คนไทยอ่านหนังสือน้อยเกินไปหรือเปล่า ทำไมวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยจึงไม่เข้มแข็ง…
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของสารพันปัญหาที่ผู้เขียนมักจะได้ยินได้ฟังมาจากการพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับคนในแวดวงการอ่านและสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นจากการสัมภาษณ์ หรืองานเสวนาต่างๆ บ่อยครั้งที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาใหญ่ คือ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านอย่างจริงจัง พบว่ารัฐบาลในหลายประเทศมีการวางแผน ผลักดัน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีอำนาจบริหารจัดการและประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้ตระหนักว่าหากต้องการจะสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือให้เข้มแข็ง ต้องเริ่มจากการมีมาตรการที่ครอบคลุม และเอื้อให้ทุกองค์ประกอบของอุตสาหกรรมหนังสือได้รับการพัฒนาไปพร้อมกัน
บทความนี้ ชวนมาดูตัวอย่างการดำเนินงานของต่างประเทศในมิติเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเครื่องมือทางกฎหมาย เทียบเคียงกับการดำเนินมาตรการการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือของไทยที่ผ่านมา เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ช่วยกันมองไปข้างหน้าว่า แนวคิดริเริ่มที่จะพัฒนาวงการหนังสือในฐานะหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตามนโยบายยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ (รวมไปถึงการพัฒนาห้องสมุดและส่งเสริมการอ่าน) ซึ่งกำลังจะดำเนินการต่อไปให้เป็นรูปธรรมนั้น มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายสู่ความสำเร็จได้หรือไม่
มาตรการเชิงกฎหมาย เศรษฐกิจ และโครงสร้าง กรอบที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือ
โครงข่ายขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังสือมีความเกี่ยวข้องของคนหลายกลุ่ม ตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการผลิตไปจนถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย
- นักเขียน นักวาดภาพประกอบ บรรณาธิการ
- ผู้ผลิตหรือนำเข้ากระดาษ น้ำหมึก และแรงงานของผู้ผลิต
- โรงพิมพ์
- การขนส่ง
- ผู้จัดจำหน่าย เช่น ร้านหนังสือ ห้างร้านต่าง ๆ
- นักการตลาด
- สถาบันการศึกษา และสุดท้าย
- นักอ่าน
ด้วยความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับผู้คนมากมายหลายอาชีพ นโยบายที่จำเป็นในการผลักดัน ส่งเสริม และพัฒนาจึงควรเอื้อต่อการผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังสือก้าวไปข้างหน้าได้อย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการพัฒนาสื่อ การส่งเสริมด้านวรรณกรรม ศิลปะ ห้องสมุด กลไกราคา การส่งเสริมธุรกิจ ภาษี หรือแม้กระทั่งนโยบายด้านการศึกษา
รายงานเรื่อง Ambitious Literary Policies: International Perspectives ซึ่งกล่าวถึงนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือของประเทศจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก มีการนำเสนอมุมมองที่เกี่ยวกับนโยบายด้านหนังสือและการอ่านได้อย่างครอบคลุม โดยแบ่งรูปแบบมาตรการออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ มาตรการทางกฎหมาย มาตรการด้านเศรษฐกิจ และมาตรการเชิงโครงสร้าง ถือว่าเป็นการมองรอบด้านที่น่าจะช่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือเกิดขึ้นในทุกมิติ โดยแต่ละด้านมีรายละเอียด ดังนี้
มาตรการด้านกฎหมาย
ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยปกป้อง คุ้มครอง หรือให้สิทธิขั้นพื้นฐานต่อผู้ผลิตผลงาน เช่น การทำสัญญาระหว่างนักเขียนกับสำนักพิมพ์ การคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ การให้สิทธิต่อองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรใช้ประโยชน์จากผลงานสร้างสรรค์ รวมถึงให้เสรีภาพในการแสดงออกของผู้ผลิตผลงานด้วย โดยมาตรการด้านกฎหมาย เป็นมาตรการที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการด้านอื่นๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและโครงสร้าง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนังสือ มีทั้งกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การคุ้มครอง ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และกฎหมายภายในประเทศที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละนโยบาย บางแห่งมีกฎหมายที่ครอบคลุมเรื่องของวัฒนธรรมและศิลปะ เช่น กฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรม กฎหมายห้องสมุดประชาชน (Public Library Act) ซึ่งมีผลให้ห้องสมุดประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของงบประมาณรัฐ ช่วยรับรองคุณภาพ กำหนดผู้รับผิดชอบ ที่มาของงบประมาณและบุคลากรของห้องสมุดแต่ละแห่ง อีกทั้งกฎหมายสถานะศิลปิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของศิลปิน โดยกฎหมายจะให้ความคุ้มครองศิลปินในฐานะอาชีพสร้างสรรค์ ปกป้องสิทธิด้านต่าง ๆ ของศิลปิน ส่งเสริมความเท่าเทียม พัฒนาสภาพแวดล้อมและสวัสดิการที่ดีสำหรับศิลปิน เป็นต้น
มาตรการทางเศรษฐกิจ
เป็นการช่วยสนับสนุนด้านการเงินและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหนังสือและการอ่าน โดยปกติแล้วมาตรการนี้มีหน้าที่ควบคุมตลาดให้เป็นไปอย่างสมดุล ทำให้เกิดกลไกขับเคลื่อน ผลักดันให้มีการแข่งขันด้านราคาอย่างยุติธรรม ภาครัฐในหลายประเทศจึงมีระบบสนับสนุนกระบวนการผลิตและจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการให้ทุนสนับสนุนการผลิตหนังสือ การให้ความช่วยเหลือด้านการส่งเสริมการตลาดให้กับผู้ผลิตผลงาน สำนักพิมพ์ และผู้ประกอบการ หรือแม้กระทั่งสถาบันการศึกษา จัดตั้งรางวัลด้านวรรณกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงาน สนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรที่เกี่ยวข้ใองกับหนังสือและการอ่าน การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดสรรเงินทุนสาธารณะ เป็นต้น
มาตรการเชิงโครงสร้าง
เป็นการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะ ปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่าน และกระจายความเจริญไปยังแต่ละพื้นที่ให้มีความทัดเทียมกัน
สำหรับมาตรการนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านกว้างๆ คือ หนึ่งด้านการศึกษา ซึ่งหมายความรวมถึงการก่อตั้งโครงการหรือสถาบันที่ส่งเสริมการผลิตและกระจายหนังสือ ตัวอย่างเช่น สถาบันการแปล หลักสูตรอบรมและพัฒนานักเขียน นักแปล หรือบรรณาธิการ การส่งเสริมให้องค์กร สถาบันที่มีอยู่แล้วเข้ามาทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบนิเวศหนังสือและการอ่านให้เข้มแข็ง อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ผ่านสถาบันศึกษา งานวิจัย และบุคลากรในสายการศึกษา สองคือ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในแวดวงหนังสือและการอ่าน เช่น ห้องสมุด เทคโนโลยี ฐานข้อมูล แพลตฟอร์ม และมาตรการการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านต่าง ๆ
หากรัฐใด ประเทศใด มีมาตรการเชิงนโยบายที่ครอบคลุมในแต่ละด้าน ผู้ที่อยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมหนังสือคงได้รับการสนับสนุนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่คาดหวังไว้ได้ไม่ยากนัก
สำรวจมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือในต่างประเทศ
มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือของหลากหลายประเทศ หลายกรณีตัวอย่างมีภาครัฐเป็นแกนหลักในการออกแบบ พัฒนา และบังคับใช้มาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อให้ระบบนิเวศหนังสือมีความเข้มแข็งในทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของธุรกิจการผลิต ผู้พัฒนาเนื้อหา วัฒนธรรมการอ่าน ห้องสมุด รวมไปถึงการส่งเสริมให้หนังสือเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ มาตรการของประเทศเหล่านั้น มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป บางประเทศก็ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน บูรณาการรอบทิศได้อย่างน่าชื่นชม
เยอรมนี
ได้ออกกฎหมายกำหนดราคาหนังสือมาตรฐานมาตั้งแต่ปี 2002 โดยรัฐจะจัดทำข้อตกลงระหว่างสำนักพิมพ์และร้านหนังสือว่าจะขายหนังสือในราคาไม่ต่ำกว่าที่กำหนด เพื่อให้ตลาดหนังสือมีความเท่าเทียมและยุติธรรม โดยห้ามลดราคาหนังสือรวมทั้งอีบุ๊กเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง และมีกฎหมายระบุว่าไม่ว่าจะขายหนังสือเยอรมันในประเทศใด ๆ ก็ตาม ต้องใช้ราคาหนังสือมาตรฐานเหมือนราคาขายภายในประเทศเท่านั้น
นอร์เวย์
ถือว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการครอบคลุมรอบด้านตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมหนังสือ ทั้งมาตรการเชิงกฎหมาย โครงสร้าง และเศรษฐกิจ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญคือ มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับวารสารและสิ่งตีพิมพ์ รวมถึงหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นิตยสาร และวารสาร อัตราภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์นี้ยังใช้กับสิ่งพิมพ์ที่มีเสียง ภาพเคลื่อนไหว การสตรีและการดาวน์โหลดหนังสือเสียงก็ได้รับการยกเว้น ถือเป็นการสนับสนุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่ช่วยลดต้นทุนการผลิตหนังสือที่ได้ผลดีทีเดียว
ฮังการี
มีมาตรการพัฒนาห้องสมุดประชาชนที่มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานท้องถิ่นสามารถทำสัญญากับหอสมุดแห่งชาติ เพื่อรับความช่วยเหลือเกี่ยวกับบริการทางวัฒนธรรมและบริการห้องสมุดด้วยงบประมาณของส่วนกลาง