ผ้าพันแผล 3 มิติที่ถูกใช้ในการรักษาแผลไฟไหม้
ช่วยให้สามารถปิดแผลโดยไม่เกิดการอับชื้น กดทับ หรือติดกับผิวหนัง ลดความเจ็บปวดที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย
การรักษาแผลไฟไหม้เป็นเรื่องยาก ถือเป็นหนึ่งในอาการบาดเจ็บร้ายแรงที่ทิ้งผลกระทบและความเจ็บปวดไว้ให้แก่ผู้ป่วยยาวนานและจำเป็นต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด แต่ล่าสุดเริ่มมีการคิดค้นผ้าพันแผลชนิดใหม่ที่ใช้รักษาแผลไฟไหม้โดยเฉพาะ
แผลไฟไหม้ ถือเป็นเรื่องน่าปวดหัวทางการแพทย์ เป็นบาดแผลที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันที่สร้างความเจ็บปวดทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ในกรณีร้ายแรงบาดแผลมักลึกและกว้าง จำเป็นต้องใช้เวลาต้องใช้เวลา กรรมวิธี และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมาก ถือเป็นหนึ่งในบาดแผลที่หายยากที่สุดชนิดหนึ่ง
ในกรณีที่ได้รับบาดแผลเป็นวงกว้างอาจจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ด้วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเสียชีวิตค่อนข้างสูง ภายหลังได้รับการรักษาจนหายก็ใช่ว่าผลกระทบจากบาดแผลจะหมดลง เป็นไปได้สูงว่าแผลไหม้อาจทิ้งรอยแผลเป็นซึ่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์ และบางครั้งอาจนำไปสู่ความพิการอีกด้วย
ล่าสุดมีการคิดค้นผ้าพันแผลชนิดใหม่ที่ออกแบบมารักษาแผลไฟไหม้โดยเฉพาะก็จริง แต่คงต้องพูดถึงรายละเอียดบาดแผลประเภทนี้กันเสียหน่อย
ลักษณะและความร้ายแรงของแผลไหม้
อาการบาดเจ็บลักษณะนี้ถูกเรียกรวมในคำว่า แผลไฟไหม้ แต่อันที่จริงแผลไหม้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ได้จำกัดแค่จากเปลวไฟ แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากน้ำร้อนลวก, ไฟฟ้าช็อต, การกัดกร่อนของสารเคมี หรือแม้แต่การสัมผัสกัมมันตรังสี ล้วนสามารถทำให้เกิดบาดแผลประเภทนี้ได้ทั้งสิ้น
ในส่วนความรุนแรงสามารถแบ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- แผลไฟไหม้ระดับแรก การไหม้จำกัดอยู่ในชั้นหนังกำพร้า บาดแผลมีรอยแดงแต่ไม่มีตุ่มพอง จะเกิดอาการเจ็บปวดหรือแสบร้อนทั่วไป ใช้เวลาในการพักฟื้นราว 7 วันหากไม่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ สามารถรักษาด้วยการทายาปิดแผลภายนอก มักพบได้ทั่วไปในกรณีถูกแดดเผา หรือน้ำร้อน/ไอน้ำเดือดเฉียดผ่านผิวหนัง
- แผลไฟไหม้ระดับสอง การไหม้ทำลายชั้นหนังกำพร้าไปถึงหนังแท้บางส่วน ในกรณีไหม้เฉพาะหนังกำพร้าจะมีอาการแสบร้อนมากแต่ถ้าไหม้ลึกจะไม่ปวดนัก สามารถเกิดขึ้นได้จากการถูกความร้อนหรือไฟลวกโดยตรง ใช้เวลาพักฟื้นราว 2 – 6 สัปดาห์ มีโอกาสในการเหลือรอยแผลเป็นบางส่วน
- แผลไฟไหม้ระดับสาม การไหม้ลุกลามลึกไปถึงระดับต่อเหงื่อและเซลล์ประสาททั้งหมด บางครั้งรุนแรงไปจนชั้นกล้ามเนื้อและกระดูก ส่งผลให้ไม่เกิดการเจ็บแผลแต่ส่วนที่ไหม้จะแห้งกร้าน ไม่เกิดความรู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป ไม่สามารถหายได้เองต้องได้รับการปลูกถ่ายผิวหนังใหม่ อาจมีอาการข้อยึดนำไปสู่ความพิการอีกด้วย
การรักษาแผลไฟไหม้จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทำตามคำแนะนำจากแพทย์ และรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด ห้ามนำสิ่งแปลกปลอมตามความเชื่อ เช่น ยาสีฟัน ไข่ขาว หรือน้ำมันมาปิดบนบาดแผล เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ ขั้นตอนการดูแลรักษาก็นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นำไปสู่การคิดค้นผ้าพันแผลชนิดใหม่ที่ใช้กับแผลไฟไหม้โดยเฉพาะ
ผ้าพันแผลจากการพิมพ์ 3 มิติที่ใช้รักษาแผลไฟไหม้
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Waterloo แห่งแคนาดา กับการคิดค้นผ้าพันแผลชนิดใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ป่วยแผลไฟไหม้โดยเฉพาะ ช่วยให้สามารถปิดแผลโดยไม่เกิดการอับชื้น กดทับ หรือติดกับผิวหนัง ลดความเจ็บปวดที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย อีกทั้งยังสามารถออกแบบรูปทรงให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้
เราทราบดีว่าผู้ป่วยแผลไฟไหม้จำเป็นต้องทำการล้างแผลให้สะอาดและปิดแผลป้องกันการติดเชื้อ แต่นี่ก็ถือเป็นข้อจำกัดประการหนึ่ง ผ้าพันแผลยังจำเป็นต้องสัมผัสและแนบติดผิวเนื้อ โดยเฉพาะกับแผลไหม้ที่ยังสดหรือทำให้ผิวหนังแห้งกว่าปกติ เมื่อผ้าพันแผลแนบติดจะสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก อีกทั้งผ้าพันแผลทั่วไปยังใช้ปิดแผลไหม้ยากด้วยรูปทรงไม่เอื้ออำนวยต่อการปิดแผลในบางตำแหน่งนัก
นั่นทำให้เกิดการคิดค้นผ้าพันแผลชนิดใหม่ที่ทำการพัฒนาจากวัสดุไฮโดรเจลชนิดพิเศษจากสาหร่ายทะเล ตัวเจลมีคุณสมบัติในการขยายตัวเมื่อได้รับความเย็นและหดตัวเมื่อได้รับความร้อน เมื่อนำมาใช้งานและได้รับอุณหภูมิจากบาดแผล ตัวเจลจะหดลงเล็กน้อยเพื่อให้ไม่เลื่อนหลุดจากผิวหนัง และสามารถทำให้คลายตัวได้ง่ายเพียงใช้ผ้าเย็นเช็ดบริเวณผิวนอก จะทำให้เจลคลายตัวเลื่อนหลุดออกมาโดยง่าย สะดวกเป็นอย่างยิ่งในการตรวจสอบอาการและแกะผ้าพันแผลออก
การใช้งานผ้าพันแผลจากไฮโดรเจลนี้จะเริ่มจากขึ้นรูปจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำการสแกนส่วนที่เกิดแผลไหม้เพื่อขึ้นโมเดลแล้วจึงนำมาผลิตผ้าพันแผล เพื่อให้ผ้าพันแผลนี้ช่วยปกปิดตำแหน่งแผลไฟไหม้ที่เกิดได้แม่นยำและครอบคลุม แม้เป็นส่วนที่สามารถพันได้ยากอย่างใบหน้าและนิ้วมือ
ตัวเจลที่ใช้ในการผลิตมีคุณสมบัติอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น ไม่ยึดเกาะลงบนผิวหนังที่แห้งกว่าปกติของบาดแผล ช่วยลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย นอกจากนี้การออกแบบรูปทรงด้วยการพิมพ์ 3 มิติ ยังช่วยให้การพันแผลไม่เกิดการกดทับตำแหน่งใดมากเกินไป ช่วยลดผลการกดทับที่อาจเป็นการซ้ำเติมบาดแผลได้
อีกหนึ่งคุณสมบัติชั้นเยี่ยมของผ้าพันแผลชนิดนี้คือ คุณสมบัติในการบรรจุยาไว้บนผ้าพันแผลได้โดยตรง จึงสามารถจ่ายยาให้แก่ผิวหนังบริเวณดังกล่าวโดยไม่ต้องเปิดแผลซ้ำ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยช่วยให้ไม่ต้องแกะผ้าพันแผลบ่อย รวมถึงยังสามารถใส่ยาที่ช่วยลดความเจ็บปวดจากการขยับตัวในชีวิตประจำวันอีกด้วย
นอกจากใช้งานกับผู้ป่วยแผลไฟไหม้แล้ว ทางผู้พัฒนาวางแผนว่าจะนำไปใช้ในสายงานอื่นเช่นกัน โดยพวกเขาคาดว่าผ้าพันแผลชนิดนี้ อาจนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง สามารถส่งยาเคมีบำบัดเข้าสู่ร่างกายโดยลดผลกระทบแก่ผู้ป่วย ไปจนใช้ในอุตสาหกรรมความงามและเครื่องสำอาง ช่วยให้สามารถบำรุงผิวเฉพาะส่วนได้อย่างแม่นยำอีกด้วย นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่อาจพลิกโฉมการแพทย์หลายขนานในอนาคต