ทำความรู้จักหมึกพิมพ์ให้มากขึ้น

ทำความรู้จักหมึกพิมพ์ให้มากขึ้น

รศ. ดร. จันทิรา โกมาสถิตย์
สาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ความหมายของหมึกพิมพ์

หมึกพิมพ์ หมายถึง วัสดุทางการพิมพ์อย่างหนึ่งโดยทั่วไปมีสถานะเป็นของเหลวมีสีและใช้สำหรับเครื่องพิมพ์ ทำหน้าที่ให้เกิดเป็นภาพปรากฏแก่สายตาเพื่อสื่อความหมายบนงานพิมพ์ โดยหมึกพิมพ์ถูกถ่ายโอนจากรางหมึกลงสู่แม่พิมพ์และวัสดุพิมพ์ ตามลำดับ

คุณลักษณะที่ต้องการของหมึกพิมพ์ มีดังนี้

  1. หมึกพิมพ์ต้องสามารถถ่ายโอนและไหลจากรางหมึกหรือระบบส่งหมึกในเครื่องพิมพ์ได้ดี
  2. หมึกพิมพ์ต้องเปียกผิวแม่พิมพ์ได้ง่าย และถ่ายโอนจากแม่พิมพ์ลงสู่วัสดุพิมพ์ได้ดี
  3. หมึกพิมพ์ต้องยึดเกาะบนผิววัสดุพิมพ์ได้ดี
  4. หมึกพิมพ์ต้องแห้งตัวหรือมีระยะเวลาการแห้งเหมาะสมกับระบบพิมพ์
  5. หมึกพิมพ์แห้งแล้วต้องมีความทนทานตามความต้องการของการใช้งาน

หมึกพิมพ์ถ่ายโอนจากรางหมึกสู่วัสดุพิมพ์

หมึกพิมพ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ตามความข้นหนืด ได้แก่

  1. หมึกพิมพ์ชนิดข้นเหนียว (Paste printing inks) มักเป็นหมึกพิมพ์ฐานน้ำมัน เช่น หมึกพิมพ์ออฟเซต ลิโธกราฟี (Offset printing ink) หมึกพิมพ์เลตเตอร์เพรส (Letterpress printing ink) เป็นต้น
  2. หมึกพิมพ์ชนิดเหลว (Liquid printing inks) แบ่งเป็นหมึกพิมพ์ฐานตัวทำละลาย และหมึกพิมพ์ฐานน้ำ ได้แก่ หมึกพิมพ์กราวัวร์ (Gravure printing ink) หมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟี (Flexographic printing ink)

ลักษณะของหมึกพิมพ์ตามกระบวนการพิมพ์

หมึกพิมพ์ระบบออฟเซตลิโธกราฟีหรือหมึกพิมพ์ออฟเซต เป็นหมึกพิมพ์ที่มีลักษณะข้นหนืด มีค่าความหนืดสูง สาเหตุที่หมึกพิมพ์ระบบนี้ต้องมีความข้นหนืดมากก็เพื่อให้เนื้อของหมึกพิมพ์สามารถจับตัวกันตรงบริเวณภาพบนแม่พิมพ์และบนผ้ายางออฟเซตโดยที่หมึกไม่กระจายไหลออกมาเลอะนอกบริเวณภาพบนแม่พิมพ์ ในเครื่องพิมพ์จึงมีลูกกลิ้งเกลี่ยเนื้อหมึกให้กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอก่อนถ่ายโอนหมึกไปบนแม่พิมพ์ ดังนั้นหมึกพิมพ์ออฟเซตจึงประกอบด้วยตัวทำละลายที่ระเหยยาก คือน้ำมัน เพื่อป้องกันปัญหาหมึกพิมพ์แห้งตัวก่อนการถ่ายโอนหมึกพิมพ์ไปสู่วัสดุพิมพ์ ความหนาของชั้นพิมพ์หมึกออฟเซตมีความบางกว่าการพิมพ์ระบบอื่น เนื่องจากมีการกดพิมพ์ผ่านผ้ายางก่อนพิมพ์ลงบนวัสดุพิมพ์

หมึกพิมพ์ระบบเฟล็กโซกราฟีและกราวัวร์เป็นหมึกที่มีความเหลวสูง ไหลง่าย มีค่าความหนืดต่ำ การพิมพ์ระบบ กราวัวร์มีกลไกการถ่ายโอนหมึกพิมพ์จากแม่พิมพ์ซึ่งประกอบด้วยหลุมบ่อของภาพ (ink cell) จำนวนมาก หมึกพิมพ์จึงควรมีการไหลลงสู่บ่อภาพได้ง่าย รวมทั้งไหลลงสู่วัสดุพิมพ์ได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับหมึกพิมพ์ระบบเฟล็กโซกราฟีที่ต้องอาศัยลูกกลิ้งอะนิล็อกซ์ซึ่งประกอบด้วยบ่อหมึกจำนวนมากในการถ่ายโอนหมึกพิมพ์สู่แม่พิมพ์เฟล็กโซกราฟี จากกลไกการพิมพ์ของระบบเฟล็กโซกราฟีและกราวัวร์ดังกล่าวทำให้หมึกพิมพ์ของทั้งสองระบบควรมีลักษณะไหลง่ายอย่างอิสระ เพื่อการควบคุมน้ำหนักสีของงานพิมพ์ได้ดี สีพิมพ์สม่ำเสมอ ความหนาของของชั้นพิมพ์แปรตามปริมาตรของหลุมบ่อหมึกบนลูกกลิ้งอะนิล็อกซ์และแม่พิมพ์กราวัวร์ ส่วนประกอบของระบบจ่ายหมึกในเครื่องพิมพ์ระบบหมึกเหลวนี้มีระยะทางระหว่างอ่างหมึกและอุปกรณ์ถ่ายโอนหมึกคือ ลูกกลิ้งอะนิล็อกซ์และแม่พิมพ์กราวัวร์ในช่วงระยะสั้น ๆ (ตรงข้ามกับจากระบบจ่ายหมึกในเครื่องพิมพ์ออฟเซต) หมึกพิมพ์จึงสามารถประกอบด้วยตัวทำละลายที่ระเหยง่าย หมึกแห้งตัวเร็ว

หมึกพิมพ์ระบบสกรีนมีความหนืดระหว่างหมึกเหลวและหมึกข้น เนื้อหมึกมีลักษณะค่อนทางข้นแต่ไม่มีความเหนียว ลักษณะสำคัญคือหมึกต้องยังคงกองอยู่บนแม่พิมพ์สกรีนที่เป็นสานกันเป็นตะแกรงในขณะไม่ปาดพิมพ์ แต่ไหลผ่านช่องตะแกรงของแม่พิมพ์ได้ง่ายเมื่อปาดพิมพ์ โดยที่หมึกไม่ควรเหนียวจนดึงรั้งแม่พิมพ์ให้เกาะติดกับวัสดุพิมพ์ที่อยู่ใต้แม่พิมพ์สกรีน แม่พิมพ์สกรีนต้องสามารถแยกตัวออกจากวัสดุพิมพ์ได้ง่ายโดยไม่เกิดใยยาว ๆของหมึกติดขึ้นมาด้วย เนื้อหมึกพิมพ์สกรีนจึงมีลักษณะสั้น (short-length ink) ตรงข้ามกับหมึกพิมพ์ออฟเซตที่มีลักษณะยาว (long-length ink) ความหนาของชั้นหมึกพิมพ์ของสกรีนมีความหนาหลากหลาย แปรตามความหนาของเส้นด้ายสกรีนที่ขึงบนแม่พิมพ์ หมึกพิมพ์สกรีนมีหลายชนิดมากกว่าหมึกพิมพ์ระบบอื่นเพราะพิมพ์งานได้หลายประเภทบนแทบทุกชนิดของวัสดุพิมพ์ นอกจากกระดาษแล้วยังนิยมพิมพ์บนเสื้อผ้า สิ่งทอ พลาสติก ขวดแก้ว โลหะ และบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ หมึกพิมพ์สกรีนจึงมีการแห้งตัวหลายแบบและหลายช่วงระยะเวลา

จากตารางแสดงค่าความหนาชั้นหมึกพิมพ์ที่พิมพ์ได้จากต่างระบบพิมพ์ซึ่งมีความหนาแตกต่างกันเพราะแม่พิมพ์ กลไกพิมพ์ รวมทั้งแรงกดพิมพ์แตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดอัตราส่วนขององค์ประกอบสูตรหมึกพิมพ์แต่ละชนิด รวมทั้งข้อคำนึงถึงในการควบคุมคุณภาพทางการพิมพ์จึงมีความแตกต่างกัน


เอกสารอ้างอิง
1) H. Kipphan, Handbook of Print Media, Heidelberg: Springer, 2000.
2) R.H. Leach and et al., 4th ed., The printing ink manual, New York: Blueprint, 1988.
ภาพประกอบบทความดาวน์โหลดจาก
• https://www.oberk.com/packaging-crash-course/flexographic-printing
• https://www.oliverinc.com/blog/what-is-flexography-printing-and-how-does-it-work
• https://www.labelandnarrowweb.com/issues/2010-03/view_technologies/offset-printing/
• https://www.americanlabel.com:444/algweb/alg2/explore_flexo.asp
• https://www.facebook.com/ips.sydney/
• https://wisdomprinters.com/
• https://www.ec21.com/product-details/Anilox-Rollers–8570791.html
• http://slsrotogravure.com/
• https://www.instructables.com/Photo-emulsion-Screen-Printing/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า