Carbon footprint for Printing Industry and ways to reduce your carbon footprint in production printing.
คาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในการผลิตสิ่งพิมพ์
โดย ดร. ชานนท์ วินิจชีวิต จากระบบ smartgreeny.com
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการตระหนักถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและประเด็นปัญหาภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (climate change) เป็นประเด็นปัญหาที่ได้รับความสนใจทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมายและเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวทุกคน ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดภัยธรรมชาติต่าง ๆ มากมาย ฉะนั้นจากปัญหาดังกล่าวทุกอุตสาหกรรมต่างต้องหันเข้ามารวมกันแก้ไขปัญหานี้ รวมทั้งในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ด้วย ซึ่ง ณ วันนี้ ถือได้ว่าเป็นอุตหสากรรมที่สำคัญของประเทศและมีการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ
การตั้งเป้าหมายของการลดถือเป็นสิ่งที่เจ้าของโรงพิมพ์ต่าง ๆ ควรทำเป็นนโยบายหลักของโรงพิมพ์ นอกจากจะเป็นนโยบายที่ยั่งยื่นแล้ว ยังสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่กำลังมองหาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีแนวโน้มสูงมากขึ้น พร้อมกับวิธีนี้ยังเป็นการสร้างความแตกต่างเพื่อประโยชน์ในเชิงการแข่งขันได้อีกด้วย
วิธีการเริ่มต้นที่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ต้องเริ่มทำก่อน คือ การรับรู้ว่าในปัจจุบันโรงพิมพ์ของเรา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปในปริมาณที่จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการให้บริการของโรงพิมพ์ เช่น การเดินทาง การจัดการของเสีย การใช้สารเคมี การใช้ทรัพยากรในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งระบายออกสู่ชั้นบรรยากาศในช่วงเวลานั้น ๆ โดยวิเคราะห์ส่วนต่าง ๆ เช่น ระบบการผลิตของคุณ กระดาษที่คุณใช้ การใช้พลังงาน ระยะทางในการจัดส่งวัสดุสิ้นเปลือง การกำจัดของเสียต่าง ๆ การใช้ไฟฟ้า และแม้แต่การเดินทางของพนักงานของโรงพิมพ์ ก็ควรต้องนำมาคำนวณด้วย ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยใช้การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับองค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) ซึ่งเป็นหลักการตาม ISO14064-1 โดยแบ่งเป็น 3 สโคป ดังนี้
สโคปที่ 1 : การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Direct Emissions) จากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม/รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรม เป็นต้น
สโคปที่ 2 : การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น
สโคปที่ 3 : การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้านอื่น ๆ การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น โดยทั้ง 3 สโคปนั้น จะเน้นที่ ก๊าซเรือนกระจกจำนวน 7 ชนิด
• คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
• มีเทน (CH4)
• ไนตรัสออกไซด์ (N2O)
• ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs)
• เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs)
• ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (HF6)
• ไนโตรเจนไตรฟลูอไรด์ (NF3)
โดยหลังจากที่เราคำนวณและทราบค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของเราแล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม สิ่งต่อไปที่เราควรทำคือ มองหาวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในการผลิตงานโดยใช้สื่อรีไซเคิลประเภทต่าง ๆ การลดการใช้พลังงานและลดของเสียจากการพิมพ์ในกระบวนการผลิตปกติ การตรวจสอบกระบวนการแต่ละกระบวนการเพื่อให้แน่ใจว่าคุณลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งว่า การออกนโยบายการจัดซื้อสีเขียว (Green Procurement) เพื่อไว้คัดสรรค์ผู้ผลิตที่จัดจำหน่ายสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและคาร์บอนต่ำ เพื่อให้ผลรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโรงพิมพ์ของเรามีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง