Sustainable Business ธุรกิจยั่งยืน
ทำอย่างไรเพื่อสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่แค่กับตัวธุรกิจ แต่กับโลกของเราด้วย
ถ้าแปลแบบตรงตัว Sustainability คือ ‘ความยั่งยืน’ แต่จริง ๆ แล้วทั่วโลกมีมุมมองต่อคำว่า Sustainability ในทางที่ต่างกันไป นั่นก็คือเราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่แค่กับตัวธุรกิจ แต่กับโลกของเราด้วย
เมื่อพูดถึงเรื่องของ Sustainability คนมักจะอ้างอิงถึง ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)’ ของสหประชาชาติ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งหมด 17 ประการ คอนเซปต์ของมันก็คล้าย ๆ กับ Do More Good คือทำสิ่งที่ดี ๆ เพื่อโลกให้มากขึ้น อีกคำหนึ่งที่ต้องรู้จักก็คือ ESG (Environmental, Social and Governance) หรือกรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นการมาสำรวจดูว่าสิ่งที่แต่ละธุรกิจหรือแต่ละองค์กรกำลังทำอยู่จะสามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยรอบได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของโลกในระยะยาว
หรือถ้าพูดในมุมของ SMEs ก็ยังมีอีกคำหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับ Sustainability เช่นกันนั่นคือ Triple Bottom Line การที่เราทำธุรกิจนั้นไม่ใช่ว่าจะดูแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องดูทั้ง People, Profit และ Planet คือ กำไรต้องมี โลกของเรายังสามารถที่จะอยู่รอดต่อไปได้ และคนในองค์กรก็ต้องแฮปปี้ด้วยเหมือนกัน
Sustainable Business เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม, ผลการดำเนินด้านสังคม และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ มีความรับผิดชอบต่อธุรกิจในมิติของสิ่งแวดล้อม “ทุกธุรกิจต้องตระหนักอยู่เสมอว่าสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบและเสริมสร้างความสามารถของตนเองให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น”
มิติความยั่งยืนทางสังคม “การพัฒนาอย่างต่อเนื่องทางสังคม” จะครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ เช่น ความเท่าเทียมทางสังคม คุณภาพชีวิต ทุนทางสังคม และการสนับสนุนทางสังคม สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และความรับผิดชอบต่อสังคม ความยุติธรรมทางสังคม ความสามารถทางวัฒนธรรมและการปรับตัวของมนุษย์
ESG คืออะไร
ESG คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่จะคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) ซึ่งปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการธุรกิจผ่านตัวชี้วัด 3 ด้าน ดังนี้
- Environment (สิ่งแวดล้อม) ความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณของเสีย และการปล่อยมลพิษ
- Social (สังคม) องค์กรมีการจัดการความสัมพันธ์กับพนักงาน ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) และผู้ทำงานใน Value Chain ทั้งหมดอย่างไร่ อาทิ สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
- Governance (ธรรมาภิบาล) องค์กรมีการจัดการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อให้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส และตรวจสอบได้
เหตุผลที่กระแส Sustainability กำลังกระเพื่อมแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะนี้
จริง ๆ แล้วบนเวทีโลกเขาคุยเรื่องนี้กันมานานตั้งแต่ประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว แต่ ณ ตอนนั้นมันยังเป็นแค่การทำนาย เช่น ดูเหมือนว่าจะมีก๊าซเรือนกระจกที่กำลังเข้ามาทำร้ายโลก แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่ามันไม่ได้อาจจะ แต่มันใช่แล้ว เพราะโลกก็ร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ
หรือถ้าจะพูดให้ใกล้ตัวมากขึ้น รู้หรือไม่ว่าพลาสติกครึ่งหนึ่งของโลกถูกสร้างขึ้นมาภายใน 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง สำหรับบางคนอาจจะคิดว่าพลาสติกมันไม่ได้เป็นอะไรที่แย่ขนาดนั้นหรือเปล่า แต่ลองมองว่าเมื่อพลาสติกเข้าไปอยู่ในกระแสน้ำ ปลามันกินพลาสติกเข้าไป แล้วมนุษย์ก็กินปลาอีกที ที่สุดแล้วการที่คนเป็นมะเร็งกันเยอะหรือมีอาการป่วยกันง่ายขึ้น ก็อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ดูแลสิ่งแวดล้อมดีพอจนมันวนกลับมาทำให้เราป่วยหรือเปล่า
เมื่อเรื่องพวกนี้มันเริ่มมีข้อมูลที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือออกมายืนยันมากขึ้นว่าการที่เราไม่ดูแลความยั่งยืนของโลก ผลสุดท้ายมันจะวนกลับมามีผลกระทบกับตัวของเราเอง คนก็เลยเริ่มตระหนักมากขึ้น บวกกับการที่สมัยนี้เรามีโซเชียลมีเดีย ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น กระจายข้อมูลกันได้ง่ายขึ้น จึงเริ่มมีความตระหนักรู้ในส่วนนี้กันมากขึ้น