คาดการณ์ปี 66 งานพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ โตสุดรอบ 3 ปี

คาดการณ์ปี 66 งานพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ โตสุดรอบ 3 ปี

มีแนวโน้มฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย และทั่วโลกส่วนใหญ่กลับมาทำกิจกรรมและเดินทางได้เหมือนปกติมากขึ้น

คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย และรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในไทย ปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย และทั่วโลกส่วนใหญ่กลับมาทำกิจกรรมและเดินทางได้เหมือนปกติมากขึ้น โดยเฉพาะงานพิมพ์กระดาษ มีสัญญาณการฟื้นตัวเห็นชัดมาตั้งแต่ปลายปี 2565 และสังเกตได้ว่างานพิมพ์ไดอารี่ พิมพ์ปฏิทินแบบตั้งโต๊ะและแขวน เพื่อแจกในช่วงปีใหม่ขององค์กรต่าง ๆ มีมากขึ้น การพิมพ์งานป้ายโฆษณาเริ่มกลับมาหลังเปิดประเทศ และการปรับเปลี่ยนหรือติดเพิ่มของร้านค้าหรืองานโฆษณา รับการฟื้นตัวของกิจกรรม และการท่องเที่ยวในและต่างประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง

“กำลังเข้าโหมดเลือกตั้งใหญ่ในปีนี้ ถือเป็นโอกาสหนึ่งของโรงพิมพ์และงานพิมพ์จะมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามเรื่องข้อจำกัดตามระเบียบของการเลือกตั้งด้วย ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่าน ๆ มา จะได้งานพิมพ์ทั้งป้ายหาเสียง แผ่นพับลงรายละเอียดของนโยบายแต่ละพรรค หรือแต่ละบุคคลที่ลงเลือกตั้ง หรือ เอกสารประกอบต่าง ๆ ซึ่งเลือกตั้งใหญ่แต่ละครั้งสร้างเงินในระบบงานพิมพ์และเกี่ยวข้อง 3-4 หมื่นล้านบาท ครั้งนี้ธุรกิจการพิมพ์ก็คาดหวังมูลค่าจะไม่น้อยกว่านั้น”

ขณะที่กลุ่มผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ แม้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังมีการขยายตัว 5-10% ตามพฤติกรรมการสั่งซื้ออาหารและสินค้าไม่ใช่อาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งระบบขนส่งในกลุ่มสินค้าเกษตรมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ส่งในระบบดิลิเวอร์รี่มากหลายเท่าตัว เกษตรกรหันใช้การค้าอี-คอมเมิร์ชมากขึ้น ทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์สูงขึ้นตาม และพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีในการซื้อขายสูงต่อเนื่อง จึงทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ใส่ใจเรื่องนวัตกรรม หรือ สมาร์ทแพคเกจ อาทิ มีการติดบาร์โค้ดบนสิ่งพิมพ์หรือหีบห่อ เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือให้ข้อมูลด้านสินค้าหรือบริการ ใช้เทคนิคงานเออาร์หรืองานสร้างภาพ 3 มิติหรือมองได้รอบ 360 องศาเมื่อสแกนบาร์โค้ดดูรายละเอียดต่าง ๆ ผ่านมือถือ และป้องกันปัญหาปลอมสินค้าได้ด้วย เป็นต้น แต่ก็ยังติดในเรื่องต้นทุนสูง ทำให้ปริมาณการใช้ยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจใหญ่หรือยังมีสัดส่วนเพียง 30% ของตลาด

“คาดว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ปี 2566 จะขยายตัวเกิน 5% และมีมูลค่ารวมประมาณ 3 แสนล้านบาท แยกเป็น 60% จากกลุ่มบรรจุภัณฑ์ และ 40% จากกลุ่มงานพิมพ์ ถือได้ว่าปีนี้กลับมาอู้ฟู่ในรอบ 3 ปี หลังจากทุกอย่างกลับมาสื่อสาร ทำการตลาดมากขึ้น ระบบการค้าเพิ่มการใช้หีบห่อแต่ต้องพัฒนาให้ทันสมัยตามต้องการที่ตลาด เนื่องจากทายาทธุรกิจเป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น แต่อุปสรรคของธุรกิจนี้ยังเป็นเรื่องกำลังถูกดิสรัปด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี เฝ้าระวังการกลับโควิดระบาด ผลต่อเนื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต้นทุนสูงจากค่าไฟ ค่าแรง และค่าเงินบาท”


ที่มา: มติชนออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า