4 ธีมการลงทุนอย่างยั่งยืน ที่น่าสนใจในปี 2566
ในสถานการณ์การลงทุนที่มีความไม่แน่นอน หากต้องการลดความเสี่ยงด้วยการจัดพอร์ตและลงทุนอย่างยั่งยืน ก็มีธีมการลงทุนให้เลือกหลากหลาย และควรกระจายการลงทุนให้เหมาะสม
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก ทำให้นักลงทุนต้องจัดพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและเตรียมรับมือกับความผันผวนในอนาคต ซึ่งการปรับพอร์ตลงทุนไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงและรักษาผลตอบแทนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเลือกสินทรัพย์ลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างพอร์ตลงทุนให้ยั่งยืนมากขึ้น
การลงทุนโดยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ควบคู่ไปกับผลการดำเนินงานทางการเงิน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจและกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านการลงทุน พร้อม ๆ กับการส่งเสริมให้พอร์ตลงทุน มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว
เพราะเมื่อลงทุนโดยคำนึงปัจจัยด้าน ESG นักลงทุนจะเห็นถึงความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การปรับตัว และการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ว่าจะสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคตได้หรือไม่
ในสถานการณ์การลงทุนที่มีความไม่แน่นอน หากต้องการลดความเสี่ยงด้วยการจัดพอร์ตและลงทุนอย่างยั่งยืน ก็มีธีมการลงทุนให้เลือกหลากหลาย และควรกระจายการลงทุนให้เหมาะสม โดยในปี 2566 มีธีมการลงทุนอย่างยั่งยืนที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
จากการคาดการณ์ของ International Energy Agency พบว่าพลังงานหมุนเวียนจะมาเป็นแหล่งพลังงานหลักแทนที่ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2568 และคิดเป็น 1 ใน 3 ของพลังงานทั้งหมด โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ลดลงถึง 82% โดยมองว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมจะลดลง 40 - 50% ในอีก 10 ปีข้างหน้า จากเทคโนโลยีการแข่งขันและการประหยัดจากขนาดการผลิต ซึ่งในกลุ่มนี้โรงไฟฟ้าในยุโรปมีเสถียรภาพและงบดุลแข็งแรงที่สุด ส่วนสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มการเติบโตสูงที่สุด
2. รถยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทาน (Electric Vehicle)
Goldman Sachs และ Deloitte ประเมินว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 18% และ 29% ในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า และจะมีอัตราเร่งตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูง คือ จีนและยุโรป โดยการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานนั้นมีตั้งแต่ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในแบตเตอรี่ การรีไซเคิลแบตเตอรี่
3. ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)
สงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกและทำให้พืชผลสำคัญลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น สิ่งนี้ได้ผลักดันให้ผู้นำเข้ากระจายแหล่งอุปทานและมองหาแนวทางแก้ไขเพื่อเพิ่มผลตอบแทนด้วยการอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องจักรมากขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทจำนวนมากเพิ่มการลงทุนในการผลิตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ความมั่นคงทางอาหารจึงมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันทางการค้าในหลายประเทศ รวมถึงจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ธุรกิจอาหารมีบทบาทเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารให้มีความเพียงพอกับประชากรโลก
4. การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)
หลังจากปี 2563 โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในแทบทุกอุตสาหกรรม วิถีชีวิตใหม่ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน การช็อปปิ้งออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน หรือแม้แต่การศึกษาออนไลน์ ทำให้การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น หมายความว่า องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกจะจัดงบประมาณเพื่อลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้น ผลลัพธ์คือ มูลค่าตลาดของธุรกิจด้านนี้จะเติบโตต่อเนื่อง
แม้ว่าการลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนของพอร์ตลงทุนได้ อีกทั้งการลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์การลงทุนในระยะยาวที่กำลังเติบโตมากขึ้น ดังนั้น นี่อาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนควรเริ่มหันมาศึกษาและสนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน