บริหารธุรกิจ ยุค New Normal ผ่านมุมมองความคิด
อ.มานิตย์ กมลสุวรรณ
บริษัท คอนติเนนตัล บรรจุภัณฑ์ (ไทยแลนด์) จำกัด
ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะโควิด-19 หลายคนจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับไวรัส รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมหรือกิจวัตรต่าง ๆ ให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ ซึ่งในด้านของการบริหารหรือดูแลธุรกิจเอง ก็มีการเปลี่ยนไปตามวิถี New Normal เช่นเดียวกัน ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีความเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับสภาวะใหม่นี้ วารสาร Thai Print ฉบับนี้ขอนำเสนอแนวทางการบริหารธุรกิจ ผ่านทางมุมองความคิดของ อ.มานิตย์ กมลสุวรรณ บริษัท คอนติเนนตัล บรรจุภัณฑ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กร และปรับใช้กับคนทำงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“โซล่าเซลล์” การรักษ์โลกอย่างยั่งยืน
อ.มานิตย์กล่าวว่า การนำโซล่าเซลล์มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยในการลดต้นทุน ถือได้ว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา หากแต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ทั่วโลกกำลังพูดถึงเรื่อง Green Energy หรือพลังงานสีเขียว ทำอย่างไรถึงจะลดการใช้พลังงานที่ไม่กระทบกับสภาวะแวดล้อม รวมไปถึงช่วยลดต้นทุนได้อย่างยั่งยืน การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ มีค่าใช้จ่ายค่อนสูง แต่เมื่อเทียบกับผลระยะยาวที่จะได้รับในอนาคต ถือว่าคุ้มค่า
ดูแลความปลอดภัย ให้เป็นมาตรฐาน
ในด้านความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อ.มานิตย์เล่าว่า คอนติเนนตัล หรือ CPT เน้นความปลอดภัยในทุกด้าน ห่วงเรื่องความปลอดภัยกับทั้งตัวพนักงานเอง หรือแม้กระทั่งระบบเครื่องจักร Safety Automation การป้องกันอัคคีไฟ การซ้อมหนีไฟ ความร้อน เสียง และการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ที่ดูแลเป็นอย่างดีทุกด้านความปลอดภัยสามารถจำต้องได้ มีอัตราหรือตัวเลขที่ชัดเจน ตรงตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม
วิถีชีวิตใหม่ New Normal สร้างธุรกิจใหม่ด้วยบรรจุภัณฑ์
ในยุค New Normal นอกจากเรื่องของพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป การกินการอยู่ การใช้เองก็เป็นเรื่องสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน จากเดิมการดื่มน้ำ อาจจะเป็นกดจากตู้กดน้ำ หากแต่ปัจจุบัน เพื่อความปลอดภัย จึงมีการแยกเป็นสัดส่วนของแต่ละคน Vending Machine หรือตู้กดสินค้า ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภค
หลายโรงงานอุตสาหกรรม และธุรกิจการบินอาจประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนแม่ครัว ขาดผู้ผลิตอาหารสำหรับพนักงาน เมื่อมองจุดนี้แล้วเราสามารถมองเห็นแนวทางสร้างธุรกิจใหม่ การผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเสนอกับผู้รับผลิตอาหาร อาจจะเป็นรายย่อย หรือโรงงานผลิตอาหารโดยตรง
การเลือกซื้ออาหารมีทางเลือกมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการที่คนใช้วิธีสั่งอาหารผ่านทาง Application เพื่อความสะดวก และลดการสัมผัส ซึ่งแต่ละร้านเองก็สร้างบรรจุภัณฑ์ให้มีความแตกต่างเพิ่มความน่าสนใจสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร
คิดให้เป็น มองให้ต่าง
บรรจุภัณฑ์พลาสติกถูกจำกัดการใช้ให้มีปริมาณที่ลดลงและไม่มีเลยในอนาคต จะทำอย่างไรเมื่อถึงจุดที่ห้ามใช้พลาสติก หลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม อาหาร หรือกระทั่งน้ำมันเครื่อง ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจการบิน ล้วนบรรจุอยู่ในขวดและบรรจุภัณฑ์พลาสติก หากถูกห้ามไม่ให้มีการใช้ การนำบรรจุภัณฑ์กระดาษมาทดแทนจึงเป็นทางออกสำหรับอนาคต ไม่มีสิ่งที่ดีที่สุด มีแต่สิ่งที่ดีกว่า ต้องรู้แนวโน้มและความเปลี่ยนแปลง ความต้องการของผู้บริโภค
พฤติกรรมของผู้บริโภคโดยส่วนมากนั้น หากไม่เห็นสินค้าด้านใน อาจจะทำให้มีการตัดสินใจที่ยากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งจุดที่ผู้ประกอบการต้องนำมาคิด ว่าต้องทำอย่างไรที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์เพิ่มความน่าสนใจให้ผู้บริโภคหยิบจับขึ้นมาและตัดสินใจซื้อสินค้าชิ้นนั้น อาจจะเป็นการเจาะใส่หน้าต่าง ซึ่งสิ่งที่ตามมาอาจจะเป็นการรั่วซึม แต่ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของเทคโนโลยี เมื่อกระดาษถูกนำมาใช้กับน้ำ ของเหลว หรือน้ำมัน สิ่งที่ต้องคิดตามมา คือ ทำอย่างไรถึงจะไม่มีการรั่วซึม หรือรักษาคุณภาพให้ได้นานเทียบเท่ากับบรรจุภัณฑ์พลาสติกก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ CPT “คิด” และลงมือ “ทำ” เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
เครื่องจักร และเทคโนโลยีทดแทน แรงงาน
เนื่องจากผู้คนในปัจจุบันมีความคิดแบบใหม่ ไม่ชอบที่จะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานบริษัท การทำงานอยู่ที่บ้านหรืออยู่กับครอบครัว การมีธุรกิจของตัวเองทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์มีมากขึ้น ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานในระดับปฏิบัติการ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวเองก็กลับภูมิลำเนา เพราะภาวะโรคระบาด การจะกลับเข้ามายังประเทศไทยเป็นเรื่องยากมากขึ้น เพราะยังไม่มีการเปิดการค้าเสรีที่ต้องมีการแก้กฎหมาย มีมาตรการต่าง ๆ รองรับ ดังนั้น การเลือกใช้ ลงทุนกับเครื่องจักรและเทคโนโลยี จึงเป็นทางออกทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน
ข้อดีของการใช้เครื่องจักรเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน จะเห็นได้ว่า เครื่องจักรหนึ่งเครื่องสามารถแทนแรงคนได้มาก ไม่จำเป็นต้องมีเวลาพัก การตรวจสอบความแม่นยำและคุณภาพมีมากกว่า
สำรองให้พอ หาแหล่งให้ได้
ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ วัตถุดิบสำคัญ คือ กระดาษ หากไม่มีกระดาษ ก็ไม่ต่างจากไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ดังนั้น ควรมีการสำรองวัตถุดิบสำหรับการผลิตอย่างน้อยไม่ต่ำว่า 18 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง และหาแหล่งผลิตที่มีวัตถุดิบเพียงพอและมีความพร้อมที่จะรองรับความต้องการวัตถุดิบได้ตลอดเวลา
สร้าง “จุดเด่น” และ “จุดต่าง” เพื่อสร้างภาพจำให้กลายเป็น “จุดขาย”
การที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง ๆ นั้น จุดเด่นของสินค้าก็เป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกน้ำดื่ม ทำไมต้องเป็นแบรนด์นั้นแบรนด์นี้ คุณอยู่จังหวัดนี้ทำไมถึงไม่เลือกน้ำดื่มที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นของจังหวัดนั้น ๆ แต่กลับเลือกแบรนด์ที่มีความแข็งแรงและติดตลาด แต่สิ่งนี้แก้ไขได้ด้วยการสร้างบรรจุภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง ออกแบบให้มีจุดเด่นเป็นที่น่าสนใจ ต้องมีการเรียนรู้ ต้องมองเห็นและดึงจุดต่างออกมา ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของเทคโนโลยี
จากที่กล่าวมาข้างต้น จุดสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ New Normal ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดไอเดียในการนำไปปรับใช้ในงาน การเตรียมความพร้อม คือ สิ่งที่ทุกคนทำได้ เพราะอนาคตไม่สามารถคาดการณ์ได้
คอนติเนนตัล บรรจุภัณฑ์ (ไทยแลนด์)
บริษัท คอนติเนนตัล บรรจุภัณฑ์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ CPT ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยนาย อนันต์ (เซียมเคี้ยง) กมลสุวรรณ ภายใต้ชื่อ โรงพิมพ์ตงตง หรือโรงพิมพ์นิยมช่าง เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าและเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โรงพิมพ์ห้องแถวเล็ก ๆ บนถนนเยาวราช ได้ขยายไปยังพื้นที่ซึ่งใหญ่ขึ้นบนถนนสุขุมวิท และได้เริ่มผันตัวเองเข้าสู่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
เมื่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีการแข่งขันกันสูงขึ้น จึงขยายบริษัทอีกครั้ง เพื่อให้เข้าสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์อย่างเต็มรูปแบบ ได้ขยายฐานการผลิตไปยังบางนา-ตราด และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท คอนติเนนตัล บรรจุภัณฑ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ดังนั้นในทุกวันนี้ คอนติเนนตัล จึงเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตกล่องสุราและอาหารแช่แข็ง