โรงพิมพ์กวงฝ่า x Likaybindery
เส้นทางตำนานโรงพิมพ์โบราณสู่ภาพศิลปะและ ZINE สุดฮิป
ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์โบราณที่เรียกว่า ‘Letterpress’ ลักษณะนี้เหลือไม่มากนักในเมืองไทย และยิ่งถ้าใช้วิธีเรียงพิมพ์ด้วยตัวหนังสือตะกั่วแล้วแทบจะหาไม่ได้เลย หนึ่งในกิจการที่ยังรักษาไว้คือ โรงพิมพ์กวงฝ่า บนถนนพาดสาย ย่านเยาวราช
ภายในโรงพิมพ์แห่งนี้คือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีทั้งเครื่องพิมพ์ที่ใช้มือโยก เครื่องพิมพ์ยี่ห้อ Heidelberg ของเยอรมันตั้งแต่สงครามโลก ตลอดจนตัวหนังสือตะกั่วอายุไม่ต่ำกว่า 80 ปี ทั้งภาษาไทยจีนอังกฤษจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่มีการผลิตขึ้นอีกแล้ว ที่สำคัญแทบทั้งหมดยังใช้งานได้อยู่จนถึงวันนี้
คุณทองดี เชิงศักดิ์ศรี เจ้าของโรงพิมพ์รุ่นที่ 2 ได้มรดกนี้มาจากบิดาคือ คุณยุ่นชุง แซ่ฉิ่น ชาวจีนแคะที่อพยพจากมณฑลเหมยโจ มาตั้งแต่อายุ 12 เริ่มต้นเป็นช่างแกะสลักไม้ จนเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วตัดสินใจเปลี่ยนมาทำโรงพิมพ์ที่เวลานั้นได้รับความนิยม โดยใช้ชื่อว่า “กวงฝ่า” แปลว่า “ท้องฟ้าที่สดใส”
คุณยุ่นชุงเป็นคนใฝ่รู้ จึงไปยืนดูการทำงานของเครื่องแล้วซื้อมาทดลองเรียนรู้วิธีทำด้วยตัวเอง ตอนกลางวันเขาจะพิมพ์งาน พอตกกลางคืนไปเรียนหนังสือ ฝึกเขียน ก.ไก่ ABC ที่วัดไตรมิตรวราราม เนื่องจากจำเป็นต้องรู้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษมาทำโรงพิมพ์ สมัยนั้นมีลูกค้าแวะมาสั่งงานไม่ขาดสาย ตั้งแต่เอกสาร สิ่งพิมพ์ หนังสือ ไปจนถึงใบเซียมซีและฉลากน้ำปลา ในห้องแถวเล็ก ๆ จึงมีคนนับสิบทำงานกันทั้งวันทั้งคืน นอกจากสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวแล้ว เขายังส่งเงินให้น้อง ๆ ที่เมืองจีนจนเรียนจบทุกคน
แต่แล้วสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็พัดมา เทคโนโลยีระบบออฟเซ็ตที่ใหม่กว่าเข้ามาแทนที่ งานจึงลดน้อยลง ขณะที่คู่แข่งมีเยอะขึ้น บางเดือนคุณยุ่นชุงเปิดลิ้นชักออกมาแทบไม่มีเงิน แต่เขาไม่ยอมถอดใจ ขอให้ลูกชายคนเล็กลาออกจากงานมาช่วย คุณทองดีต้องฝึกฝนตั้งแต่การใช้งานเครื่องไปจนถึงซ่อมบำรุง รวมฝึกถึงเรียงพิมพ์ด้วยตัวเอง ก่อนจะรับช่วงเต็มตัวเมื่อบิดาจากไป
ถึงจะตกยุค แต่คุณทองดีก็ยังใช้เครื่องพิมพ์ Letterpress ทำงานอยู่ เพราะมีจุดแข็งที่เครื่องสมัยใหม่ทำไม่ได้ ด้วยวิธีการพิมพ์ที่อาศัยแรงกด ทำให้สีและตัวหนังสือติดทนนาน ไม่หลุดลอก ไม่จาง โดนน้ำก็ไม่ละลาย ทั้งสามารถพิมพ์ให้เกิดลวดลายนูนบนกระดาษ พิมพ์เรียงเลขตามลำดับ และเมื่อสั่งงานจำนวนมาก ราคาต่อแผ่นก็ย่อมเยากว่า ลูกค้าเก่าและใหม่ยังใช้บริการถึงทุกวันนี้เพราะคุณทองดีทำงานประณีต มีคุณภาพ โดยส่วนใหญ่จะเป็นนามบัตร ใบเสร็จ ฉลากสินค้า ที่ไม่ได้เน้นรายละเอียดของภาพ
ความพิเศษของร้านนี้คือ ถ้าเป็นงานที่ไม่ซับซ้อนอย่างใบเสร็จหรือแบบฟอร์มเอกสาร คุณทองดีจะขึ้นไปหยิบตัวตะกั่วโบราณในกรุมาเรียงในบล็อกแม่พิมพ์ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและฝีมือในการเรียงกลับซ้ายเป็นขวา ประกอบเป็นคำและประโยคขึ้นมา ไม่ต่างจากการสร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้น นับเป็นกรรมวิธีโบราณที่ใกล้จะสูญหายไปหมดแล้วจากเมืองไทยอย่างไรก็ตาม คุณทองดียอมรับว่าตนเองคงเป็นรุ่นสุดท้าย เพราะไม่มีทายาทสืบทอดกิจการ ทุกวันนี้เพียงแค่ตั้งใจทำงานตรงหน้าให้ออกมาดีที่สุด ไปจนถึงวันหนึ่งที่จะทำไม่ไหว
โครงการ Made in Charoenkrung 3 อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยืดอายุภูมิปัญญาการพิมพ์แบบโบราณ จึงชักชวน คุณเก๋ - พันทิพา ตันชูเกียรติ แห่ง Likaybindery หนึ่งในดีไซเนอร์ที่มีผลงานสร้างสรรค์เรื่องกระดาษกว่าสิบปี มาช่วยคิดค้นและหาวิธีทำให้ผู้คนได้รู้จักเรื่องราวการพิมพ์ยุคดั้งเดิมมากยิ่งขึ้น
หากแต่ความท้าทายคือ เจ้าของร้านมีงานค่อนข้างรัดตัว บวกกับไม่มีทายาทรับช่วงต่อ ทำให้มีโอกาสน้อยมากที่จะต่อยอดหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ถึงอย่างนั้นคุณทองดีก็พร้อมถ่ายทอดความรู้ของตัวเองไปสู่คนที่สนใจ คุณเก๋จึงลองคิดถึงแนวทางอื่น ๆ ที่น่าจะตอบโจทย์การทำงานของเขามากที่สุด
พอดีเธอมีตัวตะกั่วเรียงพิมพ์ภาษาอังกฤษเก็บไว้ชุดหนึ่ง กับแท่นพิมพ์เล็ก ๆ ที่สามารถพิมพ์ภาพขนาดเอห้าออกมาได้ จึงทดลองเรียงเล่น ๆ กระทั่งออกมาเป็นรูปที่ดูคล้ายทิวทัศน์ของเมืองที่เต็มไปด้วยตึกน้อยใหญ่ซึ่งมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร
จากนั้นจึงขอตัวพิมพ์ของกวงฝ่า ซึ่งมีความหลากหลายกว่า ทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน และสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาผลิตเป็นชิ้นงาน โดยทำออกมาเป็น 3 แบบ 3 สไตล์ แล้วก็ส่งให้โรงพิมพ์เป็นผู้ผลิตต่อไป พร้อมกับทำแม่พิมพ์โลหะเพื่อให้ทางร้านนำไปใช้เวลาที่มีลูกค้าสั่งเข้ามาเพิ่ม โดยไม่จำเป็นต้องเก็บตัวเรียงต้นฉบับนี้ไว้
ขณะเดียวกัน คุณเก๋ยังนำผลงานต่าง ๆ ของร้าน ทั้งใบเสร็จ นามบัตร หนังสือ มารวบรวมผลิตเป็น Zine ฉบับเล็ก ๆ ที่หน้าตาเก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร เล่าถึงประวัติของโรงพิมพ์กวงฝ่า ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจถึงความเป็นมาของการพิมพ์ในเมืองไทยผ่านโรงพิมพ์เล็ก ๆ แห่งนี้ การทำงานครั้งนี้แม้จะไม่ง่าย แต่คุณเก๋ก็รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนส่งต่อเรื่องราวของการพิมพ์ Letterpress โดยใช้ตัวเรียงพิมพ์แบบนี้ ไปสู่วงกว้าง และส่วนตัวก็หวังว่า ผลงานที่ออกมาจะเป็นแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ที่ช่วยให้มีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจสืบทอดศาสตร์ความรู้นี้ให้อยู่คู่กับเมืองไทยต่อไป