เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก (1)
ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ฉลาก (labels) สามารถผลิตได้จากวัสดุหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า และความเหมาะสมในการใช้งาน เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากจะเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์เพียง 1 ระบบ หรือหลายระบบในการผลิต ทำให้ฉลากที่ผลิตได้มีความหลากหลายและส่งเสริมให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถเพิ่มการป้องกันการปลอมแปลงให้กับสินค้านั้น ๆ
หน้าที่และส่วนประกอบของฉลาก
ฉลาก สามารถออกแบบและผลิตจากวัสดุได้หลายชนิด เช่น กระดาษ พลาสติก ผ้า โลหะ หรือวัสดุอื่น ๆ โดยนำมาปิดผนึกกับภาชนะบรรจุและเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ โดยมีหน้าที่สําคัญอย่างยิ่งในการให้ข้อมูล รายละเอียดเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด และช่วยในการส่งเสริมการขาย มีการใช้ฉลากในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย โดยมีการกำหนดตําแหน่งและการออกแบบที่สวยงาม รวมไปถึงวัสดุและการใช้เทคโนโลยีทางการพิมพ์ จะทําให้การใช้ฉลากเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ฉลากจึงเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ชี้แจงข้อมูล เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักผลิตภัณฑ์ สรรพคุณ วิธีการใช้ และแม้กระทั่งรู้จักผู้ผลิต
ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีบรรจุภัณฑ์ต้องปรากฏข้อมูลต่อไปนี้บนบรรจุภัณฑ์ด้วยทุกครั้ง ดังแสดงในรูปที่ 1 โดยข้อมูลจะประกอบด้วย
- ชื่อตรายี่ห้อของผลิตภัณฑ์
- ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์
- วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์
- ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์
- ชื่อผู้ผลิต
- วัน เดือน ปีที่ผลิต / วันหมดอายุ
ประเภทของฉลาก
- ฉลากที่ติดด้วยกาว (Glue-on label)
ฉลากประเภทนี้นิยมพิมพ์บนกระดาษ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซต หลังจากพิมพ์เสร็จแล้วในรูปแบบม้วน หรือแผ่น จะถูกนำไปติดบนบรรจุภัณฑ์ด้วยเครื่องติดฉลากด้วยกาว ฉลากประเภทนี้นิยมใช้การอย่างแพร่หลายสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เช่น อาหารกระป๋อง ไวน์ เบียร์ เป็นต้น ดังแสดงในรูปที่ 2 - ฉลากที่ติดด้วยตนเอง (Self-adhesive)
ฉลากประเภทนี้จะนิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สติกเกอร์” โดยผิวหน้าของฉลากจะสามารถทำมาจากวัสดุได้หลายชนิด เช่น กระดาษ พลาสติก หรืออลูมิเนียมฟอยล์เคลือบบนกระดาษหรือพลาสติก ดังแสดงในรูปที่ 3 โดยจะต้องมีการปรับผิวหน้าเพื่อให้เหมาะสมกับหมึกพิมพ์ที่ใช้สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์ระบบต่าง ๆ - ฉลากหดรัด (Sleeve labels หรือ Shrink film)
ฉลากหรือฟิล์มประเภทนี้จะหดตัวเมื่อได้รับความร้อน การใช้งานฉลากหรือฟิล์มประเภทนี้ จะทำโดยการนำฟิล์มดังกล่าวมาทำเป็นท่อ แล้วสวมครอบบรรจุภัณฑ์อย่างหลวม ๆ หลังจากนั้นนำบรรจุภัณฑ์ไปผ่านลมร้อน ที่มาจากเครื่องเป่าลมร้อนแบบต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับขนาดของสินค้าและความเร็วที่ต้องการ เป็นผลให้ฟิล์มหดตัวและรัดแน่นกับสินค้าที่สวมอยู่
คุณสมบัติที่โดดเด่นของฉลากฟิล์มหดนั้นคือ สามารถหดรัดได้เข้ากับทุกวัสดุ ไม่ว่าจะเป็น โลหะ แก้ว พลาสติก ซึ่งจะช่วยให้สินค้ามีความโดดเด่น และดึงดูดการซื้อสินค้า รวมถึงสามารถพิมพ์รูปภาพ ข้อความ และสามารถใช้สีสันได้ตามความต้องการ ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ทำฉลากสินค้า (Shrink labels), ฟิล์มหดหุ้มสินค้า (Shrink film for packaging) หรือฟิล์มหดหุ้มฝาขวด (Cap seal) เป็นต้น สามารถผลิตจากฟิล์มได้หลายประเภทด้วยกัน ดังนี้
- ฟิล์มหด PVC เป็นฟิล์มหดที่นิยมใช้กันมากที่สุด เนื่องจากมีความใส ความทนทานสูง น้ำหนักเบาและต้นทุนต่ำ ข้อเสีย คือ จะมีกลิ่นค่อนข้างแรงในกระบวนการนำไปใช้งาน
- ฟิล์มหดพีโอเอฟ (POF) มีลักษณะนิ่ม บาง ใส ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทานและใช้งานได้หลากหลาย จึงมีความทนทานและคมชัดกว่าฟิล์มหดชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ POF ยังผลิตวัสดุที่รีไซเคิลได้ โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
2.1 POF Shrink Regular ที่ใช้สำหรับห่อสินค้าทั่วไป ไม่เน้นสมบัติพิเศษของฟิล์มและต้องการลดต้นทุน เช่น สมุด หนังสือ นิตยสาร เวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เครื่องใช้ในสำนักงานประเภทบรรจุกล่อง กล่องโทรศัพท์มือถือและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบรรจุถ้วย เป็นต้น
2.2 POF Shrink Cross-Linked ที่ใช้สำหรับห่อสินค้าที่ต้องการความแข็งแรงของฟิล์ม มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก เช่น อาหารแช่งแข็ง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และล้อแม็กซ์รถยนต์ เป็นต้น - ฟิล์มหด PE มีคุณสมบัติที่โดดเด่นตรงที่เมื่อมีการหดตัวแล้วเนื้อฟิล์มจะเหนียว ทำให้เหมาะกับการนำไปห่อหุ้มสินค้าที่มีน้ำหนัก เช่น น้ำดื่ม น้ำผลไม้ อาหารกระป๋อง น้ำอัดลม หรือแม้แต่ ไม้ฝา ไม้ระแนงต่าง ๆ
- ฟิล์มหด PETG มีคุณสมบัติหดตัวสูง มีความเหนียวและทนทาน สามารถหดรัดรูปได้แนบสนิทกับผลิตภัณฑ์ เช่น ขวดที่มีรูปทรงค่อนข้างโค้งเว้า, ขวดรูปทรงลักษณะพิเศษ และสามารถทำฉลากได้ทุกรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวเรียบ หรือขรุขระ เช่น พลาสติก, แก้ว, โลหะ เป็นต้น
- ฟิล์มหด PLA (Polylactic Acid) หรือ Biodegradable film เป็นฟิล์มที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นฟิล์มที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น อ้อย, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด เป็นต้น โดยมาพัฒนาการผลิตมาเป็นฟิล์มหดที่สามารถพิมพ์ได้ สามารถหดรัดรูปได้แนบสนิทกับรูปทรงต่าง ๆ ได้ดี และยังคงการย่อยสลายได้จากกระบวนการหมักตามธรรมชาติ
เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก
จากประเภทของฉลากและการนำไปใช้งานที่หลากหลาย ทำให้การพิมพ์ฉลากจะสามารถพิมพ์ได้จากหลายระบบการพิมพ์ ดังแสดงในรูปที่ 5 สำหรับการเลือกระบบการพิมพ์ให้เหมาะสมกับฉลากจะมีการพิจารณาจากรูปแบบของฉลาก การทำลักษณะพิเศษ จำนวนในการพิมพ์ และลักษณะการใช้งาน
จากรูปที่ 5 เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามลักษณะของเครื่องพิมพ์ คือ เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยการพิมพ์ระบบเดียว (Single printing process) และเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยการพิมพ์แบบผสม (Combination printing process) โดยเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยระบบการพิมพ์เดียว เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ระบบการพิมพ์เพียงระบบเดียวในการพิมพ์งานฉลาก เช่น เครื่องพิมพ์ออฟเซตป้อนแผ่น เครื่องพิมพ์เฟล็กโซกราฟีแบบหน้าแคบ (Narrow web flexography press) เป็นต้น
สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยการพิมพ์แบบผสม เครื่องพิมพ์ที่นำมาใช้ในการผลิตฉลาก จะมีการติดตั้งระบบการพิมพ์ไม่น้อยกว่า 2 ระบบ ซึ่งจะมีวัตถุประสงค์ในการเลือกระบบการพิมพ์เพื่อใช้ในการพิมพ์รายละเอียดของภาพในบริเวณที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องพิมพ์แบบผสม จะมีการติดตั้งระบบการพิมพ์ออฟเซตเพื่อการพิมพ์ตัวอักษรขนาดเล็ก ติดตั้งระบบการพิมพ์สกรีน เพื่อใช้ในการพิมพ์สีพื้นบนฟิล์ม มีการติดตั้งระบบการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ เพื่อใช้ในการปั้มทอง ดังแสดงในรูปที่ 6 โดยป้อมพิมพ์สามารถถอดออกมา เพื่อสลับการเรียงระบบการพิมพ์ให้เหมาะสมในการผลิตฉลากแต่ละแบบ สามารถติดตั้งตัวกลับวัสดุพิมพ์ เพื่อให้สามารถพิมพ์ได้ทั้งสองด้านของวัสดุ และโดยส่วนมากเครื่องพิมพ์แบบผสม จะมีการติดตั้งป้อมไดคัท เพื่อใช้ในการปั้มตัดให้งานฉลากสามารถเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นวงกลม หรือสี่เหลี่ยม ตามที่ลูกค้าต้องการ
เครื่องพิมพ์แบบผสมจะสามารถเพิ่มมูลค่าของงานฉลากด้วยเทคนิคการพิมพ์ที่แตกต่างกันไป เช่น การปั้มทอง การพิมพ์หมึกที่มีกลิ่น เป็นต้น ทำให้ฉลากที่ผลิตได้จะมีลักษณะที่โดดเด่นกว่าฉลากที่พิมพ์ด้วยระบบการพิมพ์เดียว และทำให้เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลากด้วยการพิมพ์แบบผสม เป็นที่นิยมในการใช้ในการพิมพ์ฉลาก ตัวอย่างงานพิมพ์ฉลาก จะแสดงในรูปที่ 7