เครื่องจักรอัตโนมัติ กับการใช้ชีวิตของมนุษย์
เครื่องจักรอัตโนมัติสามารถควบคุมและช่วยลดความเสียหาย จากการทำงานโดยแรงงานมนุษย์ มีการทำงานที่สะดวก ง่ายดายและสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน
เรียบเรียงโดย ธีรพงศ์ ประดิษฐ์กุล
ในชีวิตประจำวัน ระบบอัตโนมัติได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก และยังเป็นระบบการทำงานที่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาและเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีหน้าที่หลักเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตแก่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นระบบตั้งเวลาในเครื่องไมโครเวฟ การใช้รีโมทคอนโทรลสำหรับเปิด-ปิดรถยนต์ หรือตัวจับวัดอุณหภูมิห้องในเครื่องปรับอากาศบางรุ่น เป็นต้น และหากพิจารณาถึงประโยชน์ของเครื่องจักรที่ใช้การทำงานแบบระบบอัตโนมัติ จะเห็นได้ว่าเครื่องจักรอัตโนมัติสามารถควบคุมและช่วยลดความเสียหายจากการทำงานโดยแรงงานมนุษย์ มีการทำงานที่สะดวก ง่ายดายและสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน
เครื่องจักรอัตโนมัติ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. ระบบเครื่องจักรกึ่งอัตโนมัติ
หมายถึง เครื่องจักรที่นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเพื่อช่วยควบคุมการทำงาน หรือเพื่อใช้สำหรับทำงานในบางขั้นตอน ซึ่งระบบเครื่องจักรกึ่งอัตโนมัตินี้จะถูกนำมาใช้สำหรับควบคุมการทำงานบางประเภทที่ต้องการความแม่นยำ ความละเอียด หรืองานที่มีอันตรายสูง ส่วนสำหรับขั้นตอนอื่น ๆ นั้นจะเน้นการทำงานด้วยแรงงานคนเป็นหลัก
ตัวอย่างระบบเครื่องจักรกึ่งอัตโนมัติ
เครื่องจักรกึ่งอัตโนมัติ ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตอาหารกระป๋องของโรงงานแห่งหนึ่ง สำหรับควบคุมขั้นตอนการปรุงอาหารให้เป็นระบบการปรุงแบบอัตโนมัติ เนื่องจากก่อนหน้าที่เครื่องจักรจะถูกนำมาใช้งาน ทางโรงงานได้พบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องรสชาติอาหาร คืออาหารของพ่อครัวที่ทางโรงงานได้ทำการจ้างมาทั้งหมด 10 คน มีรสชาติที่แตกต่างกัน โรงงานจึงได้ทำการแก้ไขโดยการแบ่งให้พ่อครัวอยู่ประจำหน่วยปรุงรสทั้ง 5 จำนวนหน่วยละ 2 คน และให้มาช่วยกันปรุงอาหาร แต่ถึงแม้ว่าโรงงานได้กำหนดสูตรส่วนผสมอาหารขึ้นมาแล้วก็ยังพบปัญหาอื่น ๆ ตามมา คือปัญหาเกี่ยวกับปริมาณของอาหารที่ไม่สามารถทำปริมาณเท่ากันในแต่ละวันได้ เนื่องจากความเหนื่อยล้าในการทำงานหน้าเตาของพ่อครัว จากปัญหาเหล่านี้ทางโรงงานจึงได้ตัดสินใจนำเครื่องจักรมาควบคุมระบบการปรุงให้เป็นอัตโนมัติ แต่สำหรับกระบวนการการเคลื่อนย้ายอาหารที่ปรุงสำเร็จไปยังเครื่องบรรจุกระป๋อง โรงงานยังไม่ได้นำเครื่องจักรระบบอัตโนมัติมาใช้ในการบรรจุ จึงยังคงจำเป็นต้องพึ่งแรงงานมนุษย์ในการบรรจุและปิดฝากระป๋อง
2. ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ
หมายถึง เครื่องจักรที่นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเพื่อช่วยควบคุมการทำงาน หรือเพื่อใช้สำหรับทำงานในทุกขั้นตอน เหมาะสำหรับงานที่ต้องอาศัยการควบคุมอย่างเต็มที่ในด้านความสะอาดหรือด้านคุณภาพ รวมทั้งเหมาะสำหรับงานที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงมากซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่มนุษย์ไม่สามารถทำงานได้ ตัวอย่างเช่น การทำงานในอุณหภูมิ 100-1000 องศาเซลเซียส เป็นต้น โดยการทำงานของเครื่องจักรอัตโนมัติสามารถทำงานเองได้ เพียงแค่ต้องการมนุษย์ในการดูแลควบคุมระบบและออกคำสั่งเครื่องเท่านั้น
ตัวอย่างระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ
เครื่องจักรอัตโนมัติได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในโรงงานผลิตน้ำอัดลม เนื่องจากน้ำอัดลมเป็นสินค้าที่ต้องผลิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาดและคุณภาพสูง เครื่องจักรดังกล่าวจึงได้เข้ามามีบทบาทในทุกขั้นตอนกระบวนการผลิต เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการผสมน้ำ ขั้นตอนการอัดลม ไปจนถึงขั้นตอนการบรรจุใส่ขวดและบรรจุใส่ลัง โดยพนักงานจะเป็นผู้ทำการตรวจสอบและควบคุมเครื่องจักรระหว่างกระบวนการผลิต รวมทั้งทำหน้าที่ขนน้ำอัดลมที่สิ้นสุดกระบวนการผลิตและถูกจัดลงลังเรียบร้อยแล้วไปใส่รถขนส่ง จะเห็นได้ว่าโรงงานผลิตน้ำอัดลมได้ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในกระบวนการผลิตทั้งหมด และใช้แรงงานมนุษย์เพียงแค่ควบคุมเครื่องจักรเท่านั้น
ข้อพิจารณาในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
สิ่งที่ต้องพิจารณาสำหรับการเลือกระบบครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการผลิต
- เครื่องจักรระบบอัตโนมัตินั้นมีราคาสูงมาก จึงควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าก่อนการนำมาใช้ในกระบวนการผลิต
- พิจารณาถึงลักษณะของธุรกิจก่อนว่าเหมาะกับการใช้ระบบเครื่องจักรชนิดใด
- หากต้องการผลิตสินค้าต่อครั้งเป็นจำนวนมาก และเป็นสินค้าที่มีความหลากหลาย ควรเลือกใช้เครื่องจักรที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายอย่างเครื่องจักรระบบกึ่งอัตโนมัติ เป็นต้น
- ควรพิจารณาถึงผลกระทบของเครื่องจักรที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพสินค้า และกระบวนการผลิต
การพัฒนาตนเอง 5 แบบ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
หลังจากที่เราเปลี่ยนมุมองของเราที่มีต่อเครื่องจักรแล้ว มนุษย์เรายังจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยในบทความนี้ ได้แนะนำแนวทาง 5 อย่างเพื่อนไปปรับใช้ ได้แก่
Step up: การก้าวไปอยู่เหนือกว่าเครื่องจักรกล
การก้าวไปอยู่เหนือกว่าเครื่องจักรนั้นเปรียบตัวเองเหมือนการเป็นผู้จัดการที่มีลูกน้องเป็นเครื่องจักรกลนั่นเอง การจะใช้แนวทาง Step up นี้ได้ ต้องพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการมองในภาพในมุมกว้างอย่างที่เครื่องจักรทำไม่ได้ และต้องมีความรู้เชิงลึกที่สามารถเข้าใจแนวคิดการทำงานของเครื่องจักรได้ดีด้วย เพื่อให้เราเป็นก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าควบคุมดูแลการทำงานของเครื่องจักรได้ สิ่งที่เราต้องการหากเลือกแนวทางนี้คือ เราจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในระดับที่สูงขึ้น เช่นศึกษาต่อในปริญญาโท MBA หรือ PhD เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งยังต้องมีการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันโลก และมีมุมมองที่กว้างขึ้นในงานที่ทำ Barney Harford CEO ของ Orbits (ซึ่งเป็นบริษัทที่ลดการจ้างงานอย่างมาก โดยการใช้เครื่องจักรมาแทนแรงงานมนุษย์) ได้กล่าวถึงการจ้างงานของเขาว่า เขาต้องการคนที่มีความสามารถแบบ T-Shaped กล่าวคือ คนที่มีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ตัวเองทำ (เปรียบเหมือนขาของตัว T) และต้องมีความรู้หรือความกระตือรือร้นในแนวกว้างถึงสิ่งที่องค์กรทำและการบริหารจัดการมันได้ (เปรียบเหมือน ขีดด้านบนของตัว T) ซึ่งตรงกับแนวทาง Step up นี้ เขายังกล่าวอีกว่า คนคนนั้นต้องรู้และเข้าใจแนวคิด การทำงานของเครื่องจักรกล สามารถกุมบังเหียน ประมวลผล และใช้ข้อมูลจากเครื่องจักรมาต่อยอดและทำการตัดสินใจได้ตัวอย่างเช่น งาน Brand Manager ที่กำหนดและตัดสินใจการวางกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีในการรวมรวมข้อมูลมาและประมวลผล หรือ งานนักชีวเคมี ที่ใช้เทคโนโลยีในการคำนวณและรวบรวมสถิติต่าง ๆ เพื่อคิดวิเคราะห์ยาและแนวทางการรักษาใหม่ ๆ เป็นต้น
Step aside: การก้าวเดินไปพร้อมๆ กับเครื่องจักร
การก้าวเดินไปพร้อม ๆ กับเครื่องจักรนั้น เปรียบเสมือนการแบ่งงานกันทำ เครื่องจักรมีจุดเด่นในด้านของตรรกะและเหตุผล จึงสามารถคิดคำนวณและรวบรวมสถิตตัวเลขต่าง ๆ ได้เร็วกว่ามนุษย์ แนวทางนี้จึงแนะนำให้ใช้เครื่องจักรทำงานที่มันถนัด เพื่อให้ตัวเองมีเวลามากขึ้นสำหรับพัฒนาสิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ถนัดและทำได้ดี นั้นคือ ความสามารถในเชิงศิลป์นั้นเอง ความสามารถในเชิงศิลป์นี้ไม่ได้จำกัดแค่ศิลปะเท่านั้น แต่รวมถึง ความสามารถในเชิงพหุปัญญา (Multiple intelligence) ที่นอกเหนือไปจาก IQ ทั้งหมด เช่น ความสามารถด้านภาษาและการสื่อสาร, ความสามารถในการเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่น, ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์และความคิดสร้างสรรค์, ความสามาถด้านดนตรีและการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น ตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จที่ตรงกับแนวคิดนี้มีมากมาย เช่น D.Eayne Lukas คนฝึกม้าระดับตำนาน ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า เขารู้ได้อย่างไรว่าจะฝึกม้าตัวไหนอย่างไร และตัวไหนบ้างที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะฝึก Jonathan Ive นักออกแบบของ Apple ซึ่งไม่สามารถใช้โปรแกรมใดใดมาเลียนแบบรสนิยมในการออกแบบของเขาได้ Ricky Gervais นักแสดงชื่อดังที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้คนมากมาย เป็นต้น การใช้แนวทางการทำงานแบบ Step aside นี้สามารถประยุกต์ใช้กับงานวิชาชีพต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน เช่น งานทนาย ที่ต้องหากลยุทธ์ในการชนะคดีและต้องให้คำปรึกษากับลูกความทำให้ลูกความเชื่อถือและไว้วางใจ ก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการหาประมวลกฏหมาย หรือค้นหาตัวอย่างคดีในอดีตได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาไปค้นด้วยตัวเอง หรือแม้แต่งาน นักบัญชี สถาปนิค นักลงทุน ครูบาอาจาร์ย หรือที่ปรึกษา ก็สามารถแบ่งงานกันทำกับเครื่องจักรได้เช่นกัน
Step in: การก้าวเข้าไปสู่ใจกลางของเครื่องจักร
การก้าวเข้าไปในใจกลางของเครื่องจักรนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้เราเดินทางไปหาเครื่องจักรที่ไหน แต่มันคือการทำความเข้าใจในเครื่องจักรนั่นเอง ในเมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้ เราก็ก้าวเข้าไปคลุกคลีกับมันซะเลย แนวทางนี้กล่าวถึงความไม่สมบูรณ์ ความไม่แน่นอน และความผิดพลาดของเครื่องจักร ที่ถึงแม้ว่าการใช้เทคโนโลยีในการตัดสินใจจะมีความรวดเร็วแม่นยำมากขึ้นกว่าในอดีต แต่เราไม่อาจพูดได้ว่า คำตอบที่คอมพิวเตอร์ให้เรามานั้นถูกต้องและสมบูรณ์แบบ การนำคำตอบนั้นมาใช้เรายังต้องการผู้ที่คอยตรวจสอบการตัดสินใจ และทำปรับการทำงานและโปรแกรมนั้น ๆ อยู่ ซึ่งแนวทางการพัฒนาตัวเองแบบ Step in นี้มุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการเข้าใจตรรกกะการทำงานและกระบวนการตัดสินใจของคอมพิวเตอร์ แล้วสามารถปรับกระบวณการตัดสินใจนั้นๆ หรือนำผลลัพธ์ที่ได้ไปปรับใช้เป็นสิ่งที่จะช่วยเป็นอย่างมากคือ การเพิ่มพูนความรู้ของตนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ STEM (Science, Technology, Engineering, and Math) และปรับตัวเองให้เป็นคนที่คอยหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่เสมอๆอีกด้วย หลายคนอาจสงสัยว่า คอมพิวเตอร์นั้น มีข้อผิดพลาดจริงหรือ เราลองย้อนกลับไปดูข่าวเมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557) กัน นิตยสาร New York Time ได้พูดถึง ชายคนนึงที่พึ่งเปลี่ยนงานใหม่ และทำการยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ (Refinance) กับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ถึงแม้ว่าเขาจะรับราชการมาถึง 8 ปี และทำงานสอนที่มั่นคงมามากกว่า 20 ปี เขาก็ไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ เนื่องจากระบบอัตโนมัติได้พิจารณาจากฐานรายรับในปัจจุบันของเขาและพบว่าการที่เขาพึ่งเปลี่ยนงานใหม่นั้น ทำให้เขามีรายรับที่ไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงมากเกินไปที่จะอนุมัติเงินกู้นี้ได้ ชายคนนั้นคือ Ben Bernanke ประธานคนก่อนของ U.S. Federal Reserve ผู้ซึ่งพึ่งเซ็นสัญญามูลค่ามากกว่าหมื่นล้านดอลล่าร์ และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อดังเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก ชื่อ The Courage to Act นี่ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างยิ่งของระบบอัตโนมัติ และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องการคนที่จะคอบดูแลแก้ไข และป้องกันความผิดพลาดนี้ ตัวอย่างอาชีพของแนวทาง Step in เช่น งาน Pricing Expert งานนักลงทุน หรือ งานนักการตลาด เป็นต้น
Step narrowly: การก้าวเข้าไปในทางที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
แนวทางของการ Step narrowly คือ การหนีการทำงานกับเครื่องจักร โดยการก้าวเข้าไปหนทางการทำงานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเป็นงานส่วนที่เครื่องจักรอัตโนมัติยังก้าวไปไม่ถึง หรือเป็นตลาดที่ไม่มีมูลค่ามากขนาดพอที่จะลงทุนทำระบบอัตโนมัติได้ ตัวอย่างเช่น Gary Joyal ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท JCM Franchise Development เขาได้ถูกกล่าวถึงในบทความเรื่อง The Secret World of The Dunkin’ Donut Franchise Kings จากนิตยสาร The Boston Globe ว่าเป็นคนที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย Dunkin’ Donut แฟรนไซส์ ด้วยความที่ Gary Joyal เป็นคนที่มีความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับระบบการทำงานและการประเมินผลต่างๆของ Dunkin’Donut แฟรนไซส์ Gary ทำงานเป็นโบรคเกอร์และผู้ให้คำปรึกษาทั้งกับ ผู้ซื้อและผู้ขายแฟรนไซส์ของ Dunkin’ Donut ให้การซื้อขายกันในแต่ละครั้ง เป็นไปด้วยความพึ่งพอใจ และมั่นใจได้ว่าทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการซื้อขายครั้งนี้ มูลค่าของสัญญาของ Dunkin’ Donut ที่ Gary ปิดได้ตลอดชีวิตการทำงานของเขานั้น มีมูลค่ามากกว่าห้าร้อยล้านดอลล่าร์ ยังไม่รวมถึงธุรกิจแฟรนไซส์อื่น ๆ ที่เขาให้คำปรึกษา เช่น 5 Guys อีกด้วย นอกจาก Gary แล้ว ยังมีอีกตัวอย่างนึงที่ถูกกล่าวถึงในนิตยสาร Johns Hopkin นั่นก็คือ งานของ Claire Bustarret ผู้มีความสามารถในการจำแนกกระดาษทุกชนิด จากสัมผัส จากความรู้สึก จากเส้นใยของมัน และสามารถบอกได้ว่า กระดาษแผ่นนี้ถูกทำขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ ความสามารถของ Claire มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อนักประวัติศาสตร์ และนักตรวจสอบศิลปะ หากถามว่า เครื่องจักรกลอัตโนมัติสามารถมาแทนความสามารถของทั้งสองคนนี้ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ แต่เนื่องจากเป็นตลาดที่เล็ก เฉพาะเจาะจง และละเอียดอ่อน ต้นทุนในการสร้างจักรกลอัตโนมัติอาจไม่คุ้มค่า และต้องใช้เวลามาก กว่าที่จะสามารถสร้างจักรกลอัตโนมัติได้ ความสามารถของทั้งสองคนนี้ก็พัฒนาไปไกลแล้ว ตัวอย่างงานในแนวคิด Step narrowly เช่น Wrap Advertising ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการสื่อโฆษณาเคลื่อนที่บนพาหนะต่าง ๆ เป็นต้น
Step forward: การก้าวไปข้างหน้า
การก้าวไปข้างหน้า คือการเดินให้เร็วกว่าเครื่องจักรไปถึง การที่จะไปให้เร็วกว่าเครื่องจักร ก็หมายถึงการสร้างเครื่องจักรขึ้นมา และเป็นผู้บริหารจัดการมันนั้นเอง ยิ่งโลกนี้ต้องการระบบอัตโนมัติมากเท่าไหร่ โลกก็ยิ่งต้องการคนที่สร้างและพัฒนาระบบอัตโนมัติมากขึ้นเท่านั้น แนวทางของ Step forward นั้น มุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ Application ใหม่ ๆ หรือ ระบบอัตโนมัติใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เช่น ระบบการวิเคราะห์การลงทุนที่ดีขึ้น, โปรแกรมอัตโนมัติสำหรับการอนุมัติสินเชื่อที่ดียิ่งขึ้น หรือ เครื่องจักรกลอัตโนมัติสำหรับการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น เป็นต้น ซึ่งการจะสร้างเครื่องจักรกลอัตโนมัติซักชิ้นหนึ่ง เสมือนกับการสร้างหนังฟอร์มยักษ์ซักเรื่องหนึ่ง ซึ่งกว่าจะได้ผลงานที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์และยังสวยงามถูกใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ระบบอัตโนมัติหรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่เราเห็นนั้น ประกอบขึ้นจากโปรแกรมย่อย ๆ จำนวนมาก ซึ่งต้องการทีมงานจำนวนมหาศาลในการสร้างขึ้นมาก ทั้งคนที่ออกแบบระบบ คนเขียนโปรแกรม คนดูแลและทดสอบระบบ เป็นต้น จึงอาจพูดได้ว่ายังมีที่ว่างอีกมากสำหรับงานในแนวทางของ Step forward นี้ ซึ่งตรงกับที่ Bill Gates ได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการมาถึงของยุคเครื่องจักรกลอัตโนมัตินี้ว่า Programing is safe for now. ส่วนใครที่ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมตัวสำหรับงานในแนวทาง Step forward นี้ ก็เป็นที่แน่นนอนว่า นอกจากต้องศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ของ Computer Engineering, Computer Science, Artificial Intelligence แล้ว ยังต้องมีความคิดสร้างสรรค์และรู้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมออีกด้วย