ส.อ.ท. หวั่นโควิด-19 ทำส่งออกครึ่งปีหลังลดความร้อนแรง
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
“ส.อ.ท.” เกาะติดการระบาดไวรัสโควิด-19 ใกล้ชิดหลังต่างประเทศเริ่มระบาดใหม่โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้บางเมืองเริ่มล็อกดาวน์ ขณะที่ไทยยอดติดเชื้อใหม่ยังน่าวิตกหวั่นกระทบคลัสเตอร์โรงงานเพิ่มกระทบห่วงโซ่การผลิตฉุดส่งออกไทยครึ่งปีหลังชะลอตัวได้ หนุนรัฐหากกึ่งล็อกดาวน์กทม.และปริมณฑลเอาไม่อยู่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ขั้นสุด
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนมีความกังวลใจอย่างมากต่อสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งในไทยที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวันมีอัตราสูงเฉลี่ย 4,000 คนและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานที่มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่าหมื่นคนที่อาจกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตขณะที่ในต่างประเทศเริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่เช่น เดลตา เดลตาพลัส ทำให้เริ่มกลับมาล็อกดาวน์บางส่วนเช่น ออสเตรเลีย แม้กระทั่งอิสราเอลเริ่มกลับมาบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยอีกครั้ง ฯลฯ ดังนั้นคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะอาจกระทบต่ออัตราเติบโตการส่งออกให้ชะลอตัวได้แม้การส่งออกเดือนพ.ค.จะเติบโตถึง 41.59%
“ส่งออกเดือนพ.ค. 64 อยู่ที่ 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐโต 41.59% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปีส่งผลให้ 5 เดือนแรกเติบโตขยายตัวรวมกัน 10.78% แต่หากพิจารณารายละเอียดพบว่าฐานของปีก่อนนั่นค่อนข้างต่ำเพราะทั่วโลกล็อกดาวน์ ประกอบกับที่ผ่านมาสต็อกสินค้าโลกเริ่มหมดลงจึงสั่งของไว้แต่หลังจากนี้ต้องติดตามหากมีการล็อกดาวน์แต่ละเมืองในต่างประเทศเพิ่มขึ้นความร้อนแรงของการส่งออกอาจชะลอลง คงจะต้องติดตามใกล้ชิดโดยคาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนในไตรมาส 3 นี้ ขณะที่ไทยเองก็จะต้องระวังไม่ให้โควิด-19ลามกระทบห่วงโซ่การผลิตที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยประกอบด้วย”นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าวทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงเป้าหมายการเติบโตการส่งออกปี 2564 อยู่ที่ระดับ 5-7% แม้ว่าบางส่วนจะมีเป้าหมายมองการส่งออกที่จะเติบโตไปในระดับ 5-10% แล้วก็ตามเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังจำเป็นต้องติดตามต่อเนื่องเพราะเริ่มมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาอีกและการรับมือของไทยขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามแม้ว่าล่าสุดรัฐบาลจะประกาศมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ และ สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร )ซึ่งเป็นลักษณะกึ่งล็อกดาวน์ เช่น ห้ามนั่งกินในร้าน ปิดแคมป์คนงาน ห้างฯ เปิดได้ถึง 21.00 น. เริ่ม 28 มิ.ย.นี้แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งติดตามคือ การหนีออกต่างจังหวัดของแคมป์คนงานด้วยเพราะเกรงว่าจะนำไปสู่การแพร่ระบาดที่กระจายวงกว้าง ดังนั้นหากสถานการณ์ไม่คลี่คลายหลังจากนี้วีธีดีสุดอาจจำเป็นต้องยกระดับไปสู่การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ
“เข้าใจว่ารัฐบาลอยากจะสร้างความสมดุลระหว่างการดูแลด้านสาธารณสุข กับ ด้านเศรษฐกิจแต่ขณะนี้เชื้อโรคค่อนข้างรุนแรง และผู้ติดเชื้อใหม่รายวันก็ยังอยู่ระดับสูงมาก แม้ว่าปัญหาการติดเชื้อจะมีมากในแคมป์คนงานก่อสร้าง แต่หากพิจารณาก็ยังพบว่ามีการติดเชื้อในชุมชนแออัด คลัสเตอร์ต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งหากการควบคุมบางส่วนแล้วยังไม่ได้ผลสักพัก วิธีดีที่สุดอาจต้องล็อกดาวน์ทั้งหมดหรือไม่เพราะลักษณะกึ่งล็อกดาวน์ก็ทำให้ประชาชนไม่กล้าเดินทาง ความรู้สึกก็เหมือนล็อกดาวน์ไปแล้ว แต่ในเรื่องของการดูแลเยียวยารัฐก็คงจะต้องพิจารณาภาพรวม” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับการที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน โดยไม่ต้องมีการกักตัวนั้น ภาคเอกชนเห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาล เพราะเป็นการเร่งฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาโดยเร็ว แต่รัฐบาลจะต้องพยายามสร้างจุดสมดุลให้ได้กับการด้านสาธารณสุขโดยมีแนวทางหรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ที่อาจจะเกิดขึ้นในไทย เพราะเชื้อไวรัส มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จนวัคซีนที่มีอยู่ในโลกนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นการเร่งจัดหาวัคซีนที่ล่าสุดรัฐบาลยืนยันว่ามีวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านโดสแล้วนั้นก็อยากเห็นการเร่งระดมฉีดให้เร็วที่สุด