วิธีการตรวจสอบรอยด่างของงานพิมพ์อย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการพิมพ์ ตอนที่ 2
An efficient method for inspecting print mottle in printing processes, Part 2
ศิริลักษณ์ ป้องเกียรติชัย*, โกสินทร์ หาชะวี และวโรตม์ พรหมบุญ *Corresponding author: [email protected]หน่วยงานวิจัยบรรจุภัณฑ์, ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์, บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
ข้อมูลในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงหลักการวิเคราะห์ความไม่สม่ำเสมอของงานพิมพ์ (print mottle) ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น Standard method, Specific Perimeter, Bandpass Image Analysis, Modified coefficient of variation และ Integration Model เป็นต้น ซึ่งในวิธีการเหล่านี้ยังไม่มีวิธีการใดที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการตรวจสอบ print mottle ที่ดีที่สุด นอกจากนี้ เครื่องมือวิเคราะห์ที่ใช้สำหรับการตรวจสอบ print mottle ที่มีขายทั่วไปในเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังให้ผลการตรวจสอบที่ไม่สอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญกับผลที่ได้จากการประเมินด้วยสายตาคน ดังนั้นศูนย์พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ (IPDC), บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) จึงได้วิจัยและพัฒนาวิธีการตรวจสอบ print mottle (IPDC method) ที่มีความมุ่งหมายให้มีข้อดีด้านต่าง ๆ ได้แก่
- สามารถให้ผลการตรวจสอบ print mottle ที่มีความสอดคล้องกับการประเมินด้วยสายตาคน
- สามารถให้ผลการตรวจสอบ print mottle ที่มีความแม่นยำมากขึ้นโดยการปรับแต่งภาพและคัดกรองข้อมูลที่ผิดปกติออกก่อนขั้นตอนการวิเคราะห์ความไม่สม่ำเสมอของสีของภาพ
- สามารถใช้อุปกรณ์, เครื่องมือหรือโปรแกรมวิเคราะห์ภาพถ่ายที่มีอยู่ทั่วไปในการตรวจสอบ print mottle
การวิจัยและพัฒนาวิธีการตรวจสอบ print mottle (IPDC method) ประกอบด้วยขั้นตอนการวิเคราะห์ print mottle ด้วยโปรแกรมสำหรับวิเคราะห์ภาพ PRECISEPRO: Versatile Image Analyzer แสดงดังรูปที่ 1
ขั้นตอนพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ print mottle เพื่อให้ได้วิธีการ IPDC method
• การวิเคราะห์ print mottle กับตัวอย่างภาพที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ (ชุดที่ 1) ประกอบด้วย
– สร้างภาพจำลองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เกิดระดับของ print variation ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดแสดงดังรูปที่ 2 โดยที่กำหนดให้ความเข้มเฉลี่ยของสีเท่า ๆ กันทุกภาพเพื่อตัดปัจจัยด้านความเข้มสี สำหรับคัดกรองวิธีวิเคราะห์ต่าง ๆ ในเบื้องต้น- นำภาพที่ได้มาประเมินด้วยสายตาโดยผู้ประเมิน 5 คน
– นำภาพมาเปรียบเทียบการประเมินระดับการเกิด print mottle ด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยใช้เครื่องสแกนเนอร์ (CanoScan 4400F) ความละเอียด 600 dpi เป็นอุปกรณ์เก็บภาพ และวิเคราะห์ print mottle ตามสมการทางคณิตศาสตร์ จำนวน 47 วิธี ดังนี้
a. วิธีจาก Commercial A ซึ่งใช้หลักการ tile cell (ISO/IEC 13660:2001) โดยได้กำหนดค่า cell size ขนาด 0.420 mm, 0.635 mm, 1.27 mm และ 2.54 mm โดยในแต่ละ cell size จะใช้ค่า mottle ของสีต่าง ๆ กัน 7 สี ในการประเมิน (รวม 4×7 = 28 วิธี)
b. IPDC method (PRECISEPRO: Versatile Image Analyzer) ใช้หลักการ tile cell, bandpass method, integration model และ mottle index โดยกำหนดสภาวะในการวิเคราะห์ต่าง ๆ กันรวม 19 วิธี
– เปรียบเทียบค่า correlation ของผลการประเมินกับการประเมินด้วยสายตาคน
ผลการทดลองพบว่าวิธี IPDC method ทั้ง tile cell, bandpass, integration model และ mottle index ให้ผลการประเมินสอดคล้องกับการประเมินด้วยสายตาคนที่ให้ correlation มากกว่า 0.9 ส่วนการประเมินโดยใช้ Commercial A ซึ่งใช้ tile cell method ให้ correlation ค่อนข้างดี (R ~ 0.9) เมื่อใช้ cell size 0.420 และ 0.635 mm. แต่หากใช้ cell size ตามมาตรฐาน ISO/IEC 13660:2001 (1.27 mm) ค่า correlation น้อยกว่า 0.8
• การวิเคราะห์ print mottle กับตัวอย่างภาพที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ (ชุดที่ 2) แสดงดังรูปที่ 3
การทดลองนี้ดำเนินการเช่นเดียวกับชุดที่ 1 แต่เพิ่มการศึกษาผลของความเข้มสีของภาพ (mean gray intensity หรือ mean reflectance) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลการประเมิน
– เปรียบเทียบผลการประเมินกับการประเมินด้วยสายตาคน ผลการทดลองพบว่าวิธี IPDC method โดยเฉพาะ วิธี tile cell (ที่ใช้ค่า modified COV), integration model และ mottle index ให้ค่า correlation มากกว่า 0.97 ส่วนวิธีของ Commercial A (cell size 0.42-2.54 mm) ไม่สอดคล้องกับการประเมินด้วยสายตาคน มี correlation ต่ำกว่า 0.7 ซึ่งไม่เหมาะสมในการนำมาวิเคราะห์ print mottle ในกรณีที่ตัวอย่างมีความเข้มสี (mean gray level) แตกต่างกัน ในตอนต่อไปจะเป็นการทดลองที่ใช้กับตัวอย่างงานพิมพ์ offset จริง