การขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ กับการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นองค์กรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศไทย

การขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ กับการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นองค์กรในอุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศไทย

Carbon footprint for Organization : CFO

ดร.ชานนท์ วินิจชีวิต จากระบบ smartgreeny.com

ทุกวันนี้เราคงต้องยอมรับแล้วว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมในรูปแบบคาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับองค์กร (Carbon footprint for Organization : CFO) มีความจำเป็นและมีอิทธิพลต่อธุรกิจของเรามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในบทความนี้ จะขอลงลึกไปในหลักการและความสำคัญซึ่งจะทำให้เราได้เห็นภาพมากขึ้นว่า ในส่วนของการขนส่ง ซึ่งปัจจัยนี้ กำลังจะกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่ง ที่ส่งต่อผลลัพธ์ในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรเลยก็ว่าได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เรามีลองเจาะลึกลงไปในแต่ละขอบเขตของการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับองค์กร ว่าการผลกระทบของการขนส่ง มีอยู่ส่วนไหนได้บ้างและส่งผลออกมาในรูปแบบใดรวมถึง เราจะได้ลองหาวิธีการรับมือและปรับกลยุทธ์เพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุด

ก่อนอื่นเรามาทวนในหลักการของ คาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับองค์กร (Carbon footprint for Organization : CFO) ซึ่งมีด้วยกันจำนวน 3 ขอบเขต ประกอบด้วย

  • ขอบเขตที่ 1 การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรง
  • ขอบเขตที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน
  • ขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ

แล้วปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นจากการขนส่งจะไปอยู่ ส่วนขอบเขตไหนได้บ้างละ ซึ่งคำตอบในแต่ละองค์กร ก็อาจจะไม่เหมือนกันได้ เพราะกิจกรรมของแต่ละองค์กร อาจจะแตกต่างกันได้ครับ แต่ถ้าให้ตอบแบบกว้าง ๆ คือ กิจกรรมการขนส่งอาจจะอยู่ได้ ทั้ง 3 ขอบเขต ก็เป็นไปได้

ขอบเขต สำหรับการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

  1. ขอบเขตที่ 1 ในส่วนการเผาไหม้ที่มีการเคลื่อนที่ (Mobile Combustion) ซึ่งถ้าให้อธิบายง่าย ๆ คือยานพาหนะต่าง ๆ ที่ต้องใช้น้ำมัน เช่น ดีเซล, เบนซิน หรือ ก๊าซต่าง ๆ เช่น CNG, LPG ที่องค์กรเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงนี้เอง
  2. ขอบเขตที่ 2 การใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันก็อาจจะเกิดขึ้นยาก ที่การขนส่งจะไปอิงกับการใช้ไฟฟ้า แต่เราอย่าลืมบ้าง ก็มีโอกาสเป็นได้ที่ในบ้างองค์กร การขนส่ง ก็เปลี่ยนรูปแบบมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว ฉะนั้นค่าปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นจากการขนส่งก็อาจจะมีในขอบเขตนี้ก็เป็นไปได้
  3. ขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ซึ่งพอเราอ่านแล้วมันก็ค่อยข้างกว้างมากเลย ว่าอื่น ๆ นั้นมันจะมีอะไรบ้าง ซึ่งก่อนอื่นเราก็ต้องไปดูในเนื้อหาของการแบ่งกลุ่มต่าง ๆ ในขอบเขตที่ 3 นี้ก่อน ว่าแบ่งเป็นอะไรได้บ้าง และองค์กรเราต้องรับผิดชอบในส่วนไหนบ้าง ซึ่งการขนส่ง แทบจะมีอยู่ในทุก ๆ กลุ่มย่อยเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรืออ้อมแฝงอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การขนส่งของวัตถุดิบ การขนส่งสินค้า เป็นต้น หรือ การขนส่งอาจจะมีผลแฝงอยู่ใน กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เราซื้อเข้ามาใช่ในองค์กรก็ได้ เราต้องอย่าลืมว่า วัตถุดิบที่เราเอามาคิดนั้น กว่าจะมาเป็นวัตถุดิบนั้น ๆ ได้ มีเรื่องการขนส่งแฝงอยู่ในนั่นอยู่ด้วย เป็นต้น

วิธีการรับมือและปรับกลยุทธ์ 3 ส่วนหลัก ๆ ที่สำคัญ

  1. การใช้ยานพาหนะที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณน้ำหนักการบรรทุก เช่น น้ำหนักสินค้าบรรทุกของเราที่ 2 ตัน แต่ไปใช้รถที่มีการรับน้ำหนักได้ 10 ตัน เป็นต้น ซึ่งเท่ากันสินค้าในแต่ละหน่วยที่บรรทุกของเราในครั้งนั้นก็จะมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นโดยเฉลี่ยมากกว่าถ้าเราจะบรรทุกสินค้ารวมที่ 10 ตัน เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เราต้องเพิ่มปริมาณรอบการขนส่งที่มากขึ้น
  2. ด้านระยะทาง ซึ่งในการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้น นอกจากเรื่องน้ำหนักแล้วระยะทาง ก็จะมีผลต่อการคำนวณด้วย เช่น ระยะทางในการขนส่งที่ไกล ก็จะมีโอกาสปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นที่สูงมากกว่า การขนส่งต่าง ๆ ในบ้างครั้งเราอาจจะยากในการเลือกสถานที่ในการขนส่งได้ แต่ก็ควรพิจารณาเลยการวางแผนการเลือกเส้นทางขนส่งให้ดีที่สุด
  3. สภาพของยานพาหนะ ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ยานพาหนะของเรา ใช้พลังงานมากกว่าปกติได้ ฉะนั้น ถือเป็นหน้าที่หลักขององค์กร ที่ต้องตรวจสอบและดูแลยานพาหนะของเราให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดในการใช้งาน