คุณวิวัฒน์ อุตสาหจิต กับบทบาทนายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย

คุณวิวัฒน์ อุตสาหจิต กับบทบาทนายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย

สร้างอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 ภายใต้ความร่วมมือเชิงก้าวหน้าระหว่างนักธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์ สมาคมบรรจุภัณฑ์ไทยได้กลายเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 55 ปีการก่อตั้งสมาคม เมื่อเร็ว ๆ สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร และการเลือกนายกสมาคมปีวาระ 2567-2569 ซึ่งคุณวิวัฒน์ อุตสาหจิต บริษัท ไซเบอร์พริ้นท์ กรุ๊ป จำกัด ได้รับความไว้วางใจ ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ และในโอกาสนี้ วารสาร Thai Print ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงให้เข้าสัมภาษณ์เพื่อรับทราบภารกิจของนายกสมาคม และแนวทางการดำเนินงานต่อไปของสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยภายใต้การบริหารงานของคุณวิวัฒน์

ก้าวต่อไปของสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย

• ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย

คุณวิวัฒน์กล่าวว่า อันดับแรก คือ ต้องเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทย เพื่อให้โรงพิมพ์ไทยสามารถสู้กับต่างชาติได้ ปัจจุบันมี Application ใหม่ที่ชื่อว่า temu ของจีนเข้ามา ซึ่งหากมองในเรื่องของราคาอาจจะค่อนข้างต่ำ แต่คุณภาพก็อยู่ระดับเดียวกับราคา ถ้าต้องการสู้ในส่วนนี้ จะต้องสู้ในเรื่องของคุณภาพให้ลูกค้าติดใจมากกว่าที่จะสู้ในเรื่องของราคา ครับ

• ส่งเสริมเทรนด์ รักษ์โลก

เรื่องต่อไปคือ เรื่องของ Go Green คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ต้องมีการเตรียมพร้อม เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์ในเรื่องนี้กำลังมาแรง ลูกค้าต่างชาติ (โดยเฉพาะลูกค้าของไซเบอร์พรินท์) รีเควสท์มาว่าจำเป็นที่ต้องมี และต้องวัดจำนวนคาร์บอนที่ปล่อยออกไปในบรรยากาศได้

• ดูแลและให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อ

การส่งเสริมศักยภาพทางด้านการกู้เงิน โดยล่าสุดได้มีการเข้าไปพูดคุยกับธนาคารออมสิน และ บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ผู้ประกอบการจะได้มีการปรับปรุงในเรื่องของเครื่องจักรหรือเครื่องพิมพ์ใหม่ ๆ เพื่อที่สามารถให้ต่อสู้และแข่งขันกับต่างชาติได้ ผู้ที่จะร่วมโครงการนี้จะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำร่วมกับสมาคมการพิมพ์ไทย

• หลักสูตรการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม

ในเรื่องนี้ทางมหาวิทยาลัยต้องการได้รับการรับรองจากทั้งทางสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และสมาคมการพิมพ์ไทยเพื่อให้หลักสูตรนี้เกิดขึ้นได้ เป็นหลักสูตรที่เปิดขึ้นใหม่อีกครั้ง หลังจากหยุดรับนักศึกษาไป 2 ปี เรื่องดังกล่าวส่งผลให้ไม่มีบุคลากรเข้ามาช่วยอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการเทรนนิ่งที่บริษัท และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการเรียนทั้งออนไลน์และออนไซต์ที่มหาวิทยาลัย ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปช่วยปรับปรุงที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา รวมไปถึงเรื่องเครื่องจักรสมัยใหม่ที่มาจากจีน เนื่องจากมีราคาที่ย่อมเยากว่ากว่าทางยุโรปหรืออเมริกา

คุณวิวัฒน์พูดต่อในเรื่องของหลักสูตรการพิมพ์ว่า อีกเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยกันนะครับ คือ เรื่องการเทียบวุฒิการศึกษา สมมติว่า ผมเป็นช่างพิมพ์มีประสบการณ์มากกว่า 40 ปี แต่มีวุฒิแค่ ม.3 ต้องการวุฒิปริญญา จะมีวิธีในการเทียบวุฒิ โดยเบื้องต้นอาจจะใช้มาตรฐานเดียวกับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งวุฒิระดับปสว. แต่โครงการนี้ระดับวุฒิสูงขึ้นมาอยู่ในระดับปริญญาตรี ระยะเวลาเรียน 2 ปี ครับ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การเติบโตของประชากร และความต้องการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เติบโตอย่างแข็งแกร่งครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์

แนวโน้มในอนาคต น่าจะเป็นเกี่ยวกับ บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ จะได้รับความนิยมมากขึ้น

การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ทำให้เกิดบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะที่สามารถติดตามและควบคุมสภาพของสินค้าได้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย จะเป็นที่ต้องการของตลาด และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้ง่าย จะช่วยลดปัญหาขยะและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมครับ คุณวิวัฒน์กล่าว

การเปลี่ยนแปลงอย่างไร ปรับตัว ของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

คุณวิวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่าไปในทางที่ดีนะครับ เพราะคนหันมาเลือกผลิตภัณฑ์ที่บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุรีไซเคิล การลดปริมาณพลาสติก หรือการออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์สวยงาม โดดเด่น และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน บรรจุภัณฑ์จึงต้องมีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องของขนาด รูปแบบ และฟังก์ชันการใช้งาน

ในเรื่องการปรับตัวในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนวัสดุ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและวิธีคิดของเราเพื่อสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เพียงแต่สวยงาม แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลอีกด้วยครับ เราต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และคิดค้นบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถติดตามการขนส่งได้ รวมไปถึงเราต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ของเรามีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นครับ

อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กำลังเผชิญกับความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญมากครับ และผมเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เราจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างแน่นอนครับ

ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการปรับตัว ความโดดเด่นของบรรจุภัณฑ์ไทยในตลาดโลก

ถามว่าอะไรทำให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไทยโดดเด่นในตลาดโลก ผมว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เราโดดเด่นได้นะครับ อย่างแรกเลยคือ ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการปรับตัวของคนไทย เราสามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์อาหารไทยที่ผสมผสานศิลปะและวัฒนธรรมเข้าไป ทำให้สินค้าดูมีมูลค่าและน่าสนใจมากขึ้น หรือบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศมากครับ นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของเรา ทำให้เราสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ได้ในราคาที่แข่งขันได้ และยังมี แรงงานที่มีฝีมือ และ วัตถุดิบที่มีคุณภาพ อีกด้วยครับ และอีกปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ ความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์ ครับ ทำให้เราสามารถเข้าถึงวัตถุดิบและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที

อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในยุคปัจจุบัน เปรียบเสมือนสนามรบแห่งนวัตกรรม

นวัตกรรมคือ ตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้บรรจุภัณฑ์ไม่ใช่แค่กล่องใส่ของ แต่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ลูกค้าเลยครับ ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็ว ผู้บริโภคก็ต้องการอะไรที่มากกว่าแค่สินค้า บรรจุภัณฑ์เลยต้องทำหน้าที่ทั้งปกป้องสินค้า และสร้างความประทับใจให้ลูกค้าไปพร้อมกัน นวัตกรรมจึงเหมือนเป็นหัวใจสำคัญของวงการบรรจุภัณฑ์ครับ ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก การที่จะอยู่รอดและเติบโตได้ในธุรกิจนี้ เราต้องพร้อมที่จะปรับตัวและคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในยุคปัจจุบันนี้ เลยเปรียบเสมือนสนามรบแห่งนวัตกรรม เพราะผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บรรจุภัณฑ์จึงไม่ใช่แค่ภาชนะใส่อะไรสักอย่าง แต่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร แสดงตัวตนของแบรนด์ และสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคได้อีกด้วย ยิ่งตอนนี้เทรนด์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่กำลังมาแรงก็มีหลายอย่างเลยนะครับ ยกตัวอย่าง เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Packaging) บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษรีไซเคิล ไม้ไผ่ หรือวัสดุชีวภาพ กลายเป็นที่ต้องการของตลาด หรือบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart Packaging) บรรจุภัณฑ์ที่สามารถติดตามและตรวจสอบสภาพของผลิตภัณฑ์ได้ เช่น บอกวันหมดอายุ ตรวจสอบอุณหภูมิ หรือตรวจสอบการเปิดฝา สแกน QR Code เพื่อดูข้อมูลส่วนผสม เข้าถึงสูตรอาหาร หรือสามารถบอกข้อมูลต่างๆ ได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่บอกวันหมดอายุ แม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์ที่เปลี่ยนสีเมื่อผลิตภัณฑ์เสีย

สรุปแล้ว นวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เพราะมันช่วยให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ และสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน คุณวิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย
(The Thai Packaging Association-TPA)

86/6, Soi Trimit, Kluaynumthai, Rama IV Rd, Klongtoey, Bangkok 10110 Thailand
T: +662-712-1995, +669 3620 9954
F: +662-713-6164
E: [email protected]
H: Monday – Friday: 9:00 AM to 5:00 PM
W: www.thaipack.or.th

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า