DRUPA 2024 งานแสดงเทคโนโลยีทางด้านการพิมพ์

DRUPA 2024 งานแสดงเทคโนโลยีทางด้านการพิมพ์

ณ เมือง Düsseldorf ประเทศเยอรมนี วันที่ 2 – 10 มิถุนายน 2567

สมาคมการพิมพ์ไทยและสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยร่วมกันนำผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาดูงาน DRUPA 2024 ณ เมือง Düsseldorf ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 2 – 10 มิถุนายน 2567 รวมเวลา 5 วัน 6 คืน โดยมีผู้ร่วมเดินทางเป็นจำนวนทั้งสิ้น 33 ท่าน

งาน DRUPA เป็นงานแสดงเทคโนโลยีทางด้านการพิมพ์ที่มีความสำคัญสำหรับคนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี แต่เนื่องจากว่าช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤตการณ์ COVID–19 ที่มีผลกระทบทั่วโลก ทำให้ไม่สามารถจัดงาน DRUPA ขึ้นมาได้ และงานในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกหลังจากเว้นจากกการจัดงานไปถึง 8 ปี
งาน DRUPA 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2567 โดยมี Exhibitor ร่วมออกบู๊ธภายในงานมากกว่า 1,643 บู๊ธ ผู้เข้าชมงาน 80% เป็นชาวต่างชาติ จาก 174 ประเทศ รวมจำนวนผู้เข้าชม 170,000 คน ภายในงานจะถูกแบ่งออกเป็น 17 ฮอลล์ โดยแต่ละฮอลล์จะแสดงถึงเทคโนโลยีของระบบการพิมพ์แตกต่างกันตามประเภทของผู้ผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

Welcome to DRUPA 2024

คณะดูงานจากสมาคมการพิมพ์และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ได้รับการต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดีจาก คุณ Sabine Geldermann Director drupa, Portfolio Print Technologies Messe Düsseldorf และ คุณ Gernot Ringling Messe Duesseldorf Asia ซึ่งให้การต้อนรับคณะฯ ด้วยตัวเอง โดยได้อธิบายถึงประวัติความเป็นมาของการจัดงาน DRUPA รวมไปถึงรายละเอียดต่าง ๆ ภายในงาน เนื่องจากพื้นที่จัดงานขนาดใหญ่ การที่จะเข้าชมให้ครบทั้งหมดภายในระยะเวลาที่จำกัดมีความเป็นไปได้ยาก ทางคุณ Sabine และคุณ Ringling จึงได้ให้คำแนะนำ เส้นทางการเดินในแต่ละฮอลล์บู๊ธที่น่าสนใจ มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ทางคณะฯ จะสามารถเข้าชมโดยได้รับประโยชน์สูงสุด

สถานการณ์การพิมพ์ของโลกในปัจจุบัน

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ของโลก ณ วันนี้ มีการจ้างงานมากกว่า 4 ล้านคน มีมูลค่าของรายได้อยู่ที่ 950,000$ และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ระหว่างปี 2023-2028 โดยอุตสาหกรรมที่เติบโตมากที่สุด คือ ตลาดอุตสาหกรรมฉลาก (Label), บรรจุภัณฑ์ (Packaging) และการพิมพ์ดิจิทัล (Digital Printing) ส่วนตลาดที่เป็น Commercial หรือ กราฟิก อยู่ในสถานะคงตัวเนื่องจากสถานการณ์ Digital media Disruption ที่ส่งผลให้สิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่มมีอัตราการเจริญเติบโตคงที่

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกราฟ ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศในเอเชีย กราฟสีเขียวมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในตลาดการพิมพ์โลกจำแนกตามภูมิภาค โดยเอเชียมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.9 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของโลก

ทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมพิจารณาได้จากกราฟ เส้นสีเขียวมีการชันขึ้น เป็นการเติบโตของ Label & Packaging ส่วน Commercial จะเห็นได้ว่า เป็นเส้นที่ราบตรงซึ่งหมายความว่ามีอัตราการขยายตัวที่ยังคงตัว เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรม Publishing

เทรนด์ที่น่าสนใจในงาน DRUPA 2024

งาน DRUPA ครั้งนี้ มีเทรนด์ที่น่าสนใจและมีการปรับตัวอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของ Digitalization เนื่องจากโลกในปัจจุบันนี้เป็นโลกดิจิทัล หากอุตสาหกรรมไม่ปรับตัวก็จะส่งผลให้สู้กับกระแสของการเปลี่ยนแปลงไม่ได้จนต้องตายไป The transition to a digital world – Adapt or die

เทคโนโลยีที่สำคัญ และล้ำสมัยภายในงาน DRAPA 2024

หลังจากรับฟังการบรรยายจากผู้จัดงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีจากผู้ผลิตเครื่องจักรที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในประเทศไทย ซึ่งได้ทำการประสานงานในการเข้าเยี่ยมชมล่วงหน้า ทาง Exhibitor แต่ละรายจึงได้จัดทีมผู้ให้คำอธิบายเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในการเข้าเยี่ยมชมแต่ละบู๊ธ

• Landa Digital Printing

Landa Digital Printing เป็นผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดิจิทัล โดย Mr. Benny Landa, CEO ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องพิมพ์ Indigo และได้ขายลิขสิทธิ์ให้ทาง HP ไป ในงานครั้งนี้ Landa ได้นำเครื่องพิมพ์มาแสดงให้เห็นถึงความสามารถในด้านการพิมพ์ ที่ใช้นาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีความละเอียดของเม็ดสีอยู่ในระดับนาโนทำให้ภาพที่พิมพ์ออกมามีความคมชัดสวยงาม โดยทาง Landa ได้นำเครื่องพิมพ์ Digital Print Landa S11 และ Landa S11P มาแสดง เครื่องพิมพ์นี้มีความเร็วในการพิมพ์อยู่ที่ 11,200 แผ่นต่อชั่วโมง (11,200 SPH Speed and Print Ai Modules) อีกทั้งยังได้เปิดตัวเครื่องพิมพ์บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว ป้อนม้วน (Flexible Packaging) รุ่น W11

• The Ricoh Co.,Ltd.

นอกเหนือไปจากการแสดงเครื่องพิมพ์ที่เป็นระบบโทนเนอร์ที่มีขายอยู่ในตลาดเมืองไทยแล้ว ทางริโก้ได้แสดงเครื่องพิมพ์ระบบอิงค์เจ็ทที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Technology) รวมไปถึงการแสดงเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่นำไปพิมพ์ลงในวัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพหรือ Health Care หรือเทคโนโลยีการพิมพ์ สิ่งพิมพ์ป้องกันการปลอมแปลง Security Printing

• EPSON

จัดแสดงความสามารถของเครื่องพิมพ์ระบบอิงค์เจ็ทที่พิมพ์ฉลากได้รวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทที่สามารถพิมพ์ลงบนวัสดุที่เป็นผ้า (Textile) ได้โดยตรง จากเดิมต้องพิมพ์ลงบนวัสดุแล้วทำการ Transfer ลงบนผ้า ทำให้ประหยัดเวลาในการพิมพ์ลง สามารถนำไปใช้กับเสื้อผ้าหรือกระเป๋า โดยไม่จำเป็นที่ต้องพิมพ์ในจำนวนที่เยอะ สามารถออกแบบลายตามความต้องการของดีไซเนอร์ได้โดยง่าย

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีความน่าสนใจคือ เทคโนโลยีการพิมพ์บนผิวโค้ง โดยทาง EPSON ได้นำหมวกกันน็อก มาสาธิตวิธีการพิมพ์โดยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท ซึ่งเครื่องพิมพ์สามารถพ่นหมึกไปตามความโค้งของวัสดุ และพิมพ์ออกมาได้อย่างสวยงาม ชี้ให้เห็นว่าในอนาคตเครื่องพิมพ์สามารถพิมพ์ลงบนพื้นผิวทุกประเภทได้โดยตรงโดยไม่ต้องพึ่งพาแม่พิมพ์ Mold หรือ บล็อกสกรีน

• Electronics for Imaging (efi)

efi เป็นผู้ผลิตเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทประเภท Large Format ที่มีเทคโนโลยีการพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ลงบนวัสดุต่าง ๆ งานกราฟิก งานโฆษณา ด้วยความเร็วสูง ส่งผลให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ลงบนกล่องลูกฟูก โดยการนำกระดาษลูกฟูก (ต้นน้ำ) ประกบเข้าหน่วยพิมพ์พร้อมทั้งทำการไดคัทแล้วประกอบออกมาเป็นกล่องสำเร็จรูป โดยแต่ละกล่องที่ผลิตออกมามีรูปแบบแตกต่างไม่ซ้ำกันทั้งในเรื่องของขนาด (size) และการออกแบบ (design)

• HEIDELBERG

มีการนำเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ทที่เป็น Commercial Print ซึ่งสามารถพิมพ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ส่งงานให้กับลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนและใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ไฮเดลเบิร์กได้มีการนำระบบ Robotic แขนกลที่มีความเป็น Automation เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการ เพื่อที่จะช่วยลดในเรื่องของค่าจ้างแรงงานในอนาคต เนื่องจากทางยุโรปมีอัตราค่าจ้างแรงงานค่อนข้างสูง

• KURZ

เคิร์ซได้นำเครื่องจักรที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับงานหลังการพิมพ์มาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นการปั๊มฟอยล์ การทำสปอตยูวี ด้วยระบบดิจิทัล อีกทั้งยังมีตัวซอร์ฟแวร์ที่ช่วยจำลองการปั๊มนูน ปั๊มจม หรือการใส่ฟอยล์เงินฟอยล์ทองบนบรรจุภัณฑ์ให้เหมือนกับงานจริงบนหน้าจอ เพื่อให้ลูกค้าได้ตัดสินใจก่อนคัดเลือกว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้เทคนิคใด

• HP

งาน DRUPA ในครั้งนี้ ทาง HP ได้ใช้ฮอลล์ถึง 1 ฮอลล์เต็มในการจัดแสดงเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลในส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Commercial Printing หรือเทคโนโลยีการพิมพ์บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว ที่มีความสวยงาม รวดเร็ว และมีความเป็น Automation มากขึ้น รวมไปถึง Intelligent Production Solution ซึ่งเป็นระบบ Robotic ที่หลังจากเครื่องพิมพ์ทำการพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมี Robot เข้าไปรับตัวงานนำไปวางตามตำแหน่งที่ระบุไว้ ทำให้สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องพึ่งพาแรงงานคน

นอกจากนี้ HP ยังให้ความสำคัญเรื่องของ Sustainability ซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์ของทั่วโลก อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มีการใช้ทั้งกระดาษ พลาสติก แก้ว หรือโลหะ ที่เป็นวัสดุสำหรับงานพิมพ์ในปริมาณสูง และในขณะเดียวกันเมื่อใช้เสร็จแล้วก็จะกลายเป็นขยะที่มีขั้นตอนในการกำจัดที่ยุ่งยาก เทรนด์ของโลกจึงพยายามที่จะลดขยะ หรือลดปัญหาของ Waste Management มุ่งเน้นไปในเรื่องของ Sustainability โดยการ Reduce Reuse และ Recycle วัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบการจัดการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานเรื่อง Carbon Footprint, Carbon Credit และ CBAM โดย HP ได้ทำการปลูกต้นไม้ 1.5 ล้านต้นในปี 2023 หรือการใช้หมึกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

บทสรุปของงาน DRUPA 2024

ในงาน DRUAPA ครั้งนี้ ระบบการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (D Digital Transformation) โดยจะเห็นได้ว่าเครื่องพิมพ์ที่แสดงในงานจะเป็นระบบดิจิทัลที่มีความสามารถในการพิมพ์ที่สวยงาม รวดเร็ว มีความหลากหลายทางวัสดุมากขึ้น สามารถพิมพ์กับงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

อุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน (R Responsibility, Sustainability) โดยเฉพาะขยะที่เกิดจากการใช้สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ โดยจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีของหลาย ๆ แบรนด์ที่มาร่วมออกงานจะสนับสนุนและใส่ใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด (U Utilization) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุในการนำมาผลิตสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ให้ความสำคัญลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงขึ้น เครื่องจักรมีเทคโนโลยีเผื่อเสียของวัสดุในการพิมพ์น้อยลง มีความสามารถเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละเครื่องให้เป็น Eco System เดียวกัน

อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (P Printing & Packaging) ยังไม่ตายไปจากโลกนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เป็น Supporting Industry อุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับว่าสัดส่วนของการตลาดจะไปเติบโตตรงส่วนไหน และจะเห็นว่าตลาดฉลาก และบรรจุภัณฑ์จะเติบโตมากกว่าสิ่งพิมพ์รูปแบบอื่น

งาน DRUPA ในครั้งนี้จะเห็นว่าแต่ละแบรนด์จะแสดงความเป็น Automation มากขึ้น รวมถึงนำระบบ AI เข้ามาใช้ในการดีไซน์ และ ChatGPT ที่เข้ามาช่วยการเขียนคอนเทนต์
ในระบบการพิมพ์ก็มีการนำหุ่นยนต์หรือ Robotic แขนกลเข้ามาช่วยในการทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แต่ใช้แรงงานลดลง และมีประสิทธิภาพในการผลิตที่มากขึ้น

สำหรับผู้ที่พลาดการเข้าชมงาน DRUPA ในครั้งนี้ สามารถเข้าชมเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์งาน PACK PRINT INTERNATIONAL 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 กันยายน 2567 ณ ไบเทคบางนา โดย PPI ถือเป็นงานแสดงการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค