บรรจุภัณฑ์จากสาหร่ายทะเล (Seaweed-based Packaging)
การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนพลาสติกทั่วไป
การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากสาหร่ายทะเลเพื่อทดแทนพลาสติกทั่วไปมีความเป็นไปได้ ค่อนข้างมาก เนื่องจากสาหร่ายทะเลสามารถเติบโตได้ทั้งในน้ำทะเลและน้ำจืด มีความคงตัวเฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี และไม่ต้องอาศัยตัวกลางในการเจริญเติบโต นอกจากนี้สาหร่ายทะเลยังเต็มไปด้วยวิตามิน เส้นใย และแร่ธาตุมากมาย ทำให้สามารถผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่รับประทานได้ สาหร่ายทะเลเป็นแหล่งของพอลิแซ็กคาไรด์ธรรมชาติ เช่น อัลจิเนต คาราจีแนน อัลแวน ฟูคอยแดน และลามินาริน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสามารถในการขึ้นรูปเป็นฟิล์มของสาหร่ายทะเล การ เจริญเติบโตและการนำสาหร่ายทะเลมาใช้ประโยชน์ช่วยทำให้กระบวนการจัดการของเสียง่ายขึ้น เนื่องจากสาหร่ายทะเล สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและบรรจุภัณฑ์สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การลดการใช้พลาสติกด้วยสาหร่ายทะเลจะ ส่งผลโดยตรงต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ จากการศึกษามีรายงานว่า ต้องใช้พื้นที่หนึ่งเฮกตาร์ในมหาสมุทรเพื่อผลิตสาหร่ายทะเลแห้งจำนวน 40 ตัน ในระหว่างกระบวนการผลิตนี้จะสามารถดูดซับ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 20.7 ตัน อย่างไรก็ตามการผลิตสาหร่ายยังมีต้นทุนสูง การผลิตบรรจุภัณฑ์จากสาหร่ายทะเลยังไม่สามารถอาศัยกระบวนการ ผลิตแบบอัตโนมัติและกระบวนการผลิตยังอยู่ในระดับนำร่องจึงยากต่อการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดย Chelsea Briganti และ Leigh Ann Tucker จากบริษัท Loliware ได้ร่วมกันออกแบบถ้วยรับประทานได้ที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์สาหร่าย-วุ้น (เจลสาหร่าย) และเพิ่มความน่ารับประทานด้วยการเพิ่มรสชาติ เช่น ส้มโอ วานิลลา เชอร์รี่ เป็นต้น บริษัท Loliware ได้พัฒนาเทคโนโลยีวัสดุสาหร่ายชั้นนำของโลกที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้บริษัทยังได้ออกแบบหลอดที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและรับประทานได้จากสาหร่ายทะเล โดยอาศัยกระบวนการผลิตที่ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในกระบวนการผลิตเริ่มต้นจากการให้ความร้อนแก่ส่วนผสมเพื่อให้ไฮโดรคอลลอยด์ มีความหนืดเพิ่มขึ้นและกลายเป็นเจล และน้ำตาลเกิดการละลาย จากนั้นส่วนผสมที่ร้อนถูกเทลงแม่พิมพ์เพื่อให้เจลสาหร่ายขึ้นรูปเป็นถ้วย นอกจากนี้สาหร่าย ทะเลยังสามารถผลิตเป็นฟิล์มรับประทานได้ (edible film) พลาสติกชีวภาพ (bio-based polymers) ที่ผลิตจากทรัพยากรทางชีวภาพเป็นหลัก เช่น พอลิแซ็กคาไรด์/โปรตีน และพอลิเอสเตอร์ที่สกัดจากพืชและสิ่งมีชีวิตในทะเล พอลิเมอร์ชีวภาพเหล่านี้ย่อยสลายได้ง่ายและไม่เป็นพิษ สาหร่ายทะเลมี องค์ประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใย และพอลิแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นได้
จากสมบัติของสาหร่ายทะเลและความสามารถในการย่อยสลายได้ทางชีวภาพทำให้บรรจุภัณฑ์จากสาหร่ายมีข้อ ได้เปรียบในด้านความยั่งยืน เมื่อเปรียบเทียบกับบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกทั่วไป ข้อได้เปรียบที่สำคัญของวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากสาหร่ายคือ สามารถนำมารับประทานได้โดยไม่ต้องใช้สารเจือปนหรือสารกันบูด สมบัติของฟิล์มที่รับประทานได้จากวัตถุดิบทางธรรมชาติ สามารถทำการเติมแต่งด้วยสารอะโรมาติก สารเพิ่มรสชาติ สารโภชนาการ สารต้านอนุมูลอิสระ หรือสารต้านจุลชีพ วิธีการทั่วไปในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากสาหร่ายทะเล ได้แก่ การใช้สารเคมีและความร้อนเพื่อสกัดพอลิแซ็กคาไรด์จาก สาหร่ายทะเล โดยเทคโนโลยีล่าสุดได้มีการใช้กระบวนการหมักที่ไม่เป็นอันตราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดพอลิแซ็กคาไรด์โดยไม่ต้องใช้สารเคมีที่รุนแรง ยีสต์ที่เหลือหลังจากกระบวนการหมักจะถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็น animal residue ซึ่งสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยไม่มีการสูญเสียใด ๆ