กิจกรรมวันการพิมพ์ไทย ประจำปี 2567
วันที่ 3 มิถุนายน 2567 เวลา 08.30-10.30 น. ณ สุสานโปรแตสแตนท์ (ถนนเจริญกรุง)
มูลนิธิเงินทุนงานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์, สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์, สถาบันการศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ จัดกิจกรรมวันการพิมพ์ไทย ประจำปี 2567 วันที่ 3 มิถุนายน 2567 ระหว่างเวลา 08.30-10.30 น.
โดยจัดพิธีวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของหมอบรัดเลย์ ณ สุสานโปรแตสแตนท์ (ถ.เจริญกรุง) ซึ่งมีคุณประเสริฐ หล่อยืนยง – นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ วาระปี 2566-2567 เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
หลังจากนั้นเวลา 09.45 น. เป็นพิธีทำบุญทักษิณานุปทานแด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้เป็นเสมือน “บิดาแห่งการพิมพ์ไทย” และบำเพ็ญกุศลแด่ผู้มีคุณประโยชน์ต่อวงการพิมพ์ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว ณ วัดราชสิงขร พระอารามหลวง
วันการพิมพ์ไทย
“วันการพิมพ์ไทย” ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย ที่ได้เกิดจากความร่วมมือ ร่วมใจ และมีความเห็นพ้องต้องกันของผู้เกี่ยวข้องในการประกอบอาชีพการพิมพ์ ซึ่งได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2531 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์ และแสดงออกถึงความก้าวหน้าและความสำคัญของอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่มีบทบาทในอันที่จะส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
“วันการพิมพ์ไทย” ได้ถือกำเนิดขึ้นเพราะมีความเห็นพ้องกันว่าอาชีพการพิมพ์เริ่มเข้าสู่ยุคของอุตสาหกรรมแล้ว น่าจะมีวันใดวันหนึ่งกำหนดให้เป็นวันแสดงออกถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมการพิมพ์ทั้งด้านวิชาการ ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี ตลอดจนร่วมกันพบปะสังสรรค์เพื่อพัฒนาอาชีพของตนเองให้ก้าวหน้าเช่นอาชีพอื่นหรืออุตสาหกรรมอื่นที่เขามีวันรวมใจผู้คนในอาชีพเดียวกัน จึงได้ระดมความคิดกันว่าควรหาวันที่มีความหมายต่อวงการพิมพ์อย่างแท้จริง และจากการได้ค้นพบหลักฐานปรากฏในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 12 มีข้อความช่วงหนึ่งว่า “วันที่ 3 มิถุนายน 2379 (ค.ศ.1836) วันนี้รอบินสันได้ส่งหนังสือแผ่นหนึ่งเป็นอักษรไทยมาให้หมอบรัดเลย์แยกถ้อยคำ นับว่าหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือไทยฉบับแรกที่พิมพ์ในเมืองไทย” แม้ว่าจะมีสิ่งพิมพ์เกิดขึ้นในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาก่อนแต่เป็นอักษรโรมันอ่านเป็นสำเนียงไทยเท่านั้น รวมถึงการก่อตั้งโรงพิมพ์มหามงกุฎในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าจัดตั้งเมื่อวันใด เดือนใด ผู้ประกอบการด้านการพิมพ์ต่างเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ยึดถือเอาวันที่ 3 มิถุนายนของทุกปี เป็น“วันการพิมพ์ไทย”
นั่นคือความเป็นมาของ “วันการพิมพ์ไทย” ที่คนรุ่นหลังพึงได้รับทราบและถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์และพัฒนาการของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย ซึ่ง “วันการพิมพ์ไทย” คงมิได้จัดเพื่ออยู่ในวงจำกัดของผู้ประกอบการเท่านั้น พึงต้องแสดงศักยภาพและการให้ความรู้ทั้งทางด้านวิชาการและกิจกรรมแก่สังคมในภาพรวม เพื่อให้สังคมตระหนักถึง “การพิมพ์” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน