Digital Footprint อดีตที่ไม่เคยลบหาย และธุรกิจที่ไม่คาดคิด
Digital Footprint คือ ร่องรอย หรือรอยเท้าของเราบนโลกดิจิตอล
เรียบเรียงโดย ธีรพงศ์ ประดิษฐ์กุล
หลายคนน่าจะเคยได้บินคำว่า Digital Footprint และอาจจะสับสนกับคำที่เราใช้มานานคือ Carbon Footprint จริงแล้วเป็นคนละเรื่องกันเลย ในวารสารฉบับนี้ผลจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ Digital Footprint เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบและคลายข้อสงสัยกัน
คำว่า Digital Footprint นั้น แปลให้เข้าใจง่ายคือ ร่องรอย หรือรอยเท้าของเราบนโลกดิจิตอล นั้นเอง
ท่านเคยอยากลบการสืบค้นจากผู้คนที่เรารู้จักและไม่รู้จัก เพื่อปกปิดสิ่งต่าง ๆที่เราสนใจคนหา ไม่ว่าเรื่องดี เรื่องไม่ดี หรือเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ท่านทราบไหมครับว่าเรื่องการค้นหา ใน Search Engine ไม่สามารถลบหายไปได้ เรื่องนี้จะระบุตัวตนของเราไปในอนาคตอย่างหลีกไม่ได้ อธิบายให้ง่ายขึ้นอีกนิดก็คือ พฤติกรรมต่าง ๆที่เราเคยเข้าไปทำไปค้นหาในโลกดิจิตอลนั้นเอง ไม่ว่าจะในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ Google Tiktok หรือในทุกเว็ปในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นเอง
Digital Footprint คืออะไร ทำไมคนรุ่นใหม่ต้องคิดให้ดีก่อนโพสต์โซเชียล
ดิจิทัลฟุตพริ้นท์ คือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัล ที่กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือวัดความประพฤติของบุคคลที่กระทำบนโลกอินเทอร์เน็ต และผู้ใหญ่หลายคนถึงกับเตือนว่า “สิ่งที่เคยกระทำในอดีตจะส่งผลถึงปัจจุบัน” ดังนั้น คิดก่อนโพสต์ Digital Footprint (ดิจิทัลฟุตพริ้นท์) หรือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัล ที่จะเก็บประวัติทางพฤติกรรมของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือการกรอกข้อมูลใส่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น การคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ การกดไลก์เพจ การแชร์หรือแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถค้นหาได้ง่าย ๆ เพียงแค่กรอกข้อมูลส่วนตัวบางอย่างก็ค้นเจอบนโลกดิจิทัลแล้ว นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องกังวลก็คือ ไม่ว่าจะเป็น เด็กนักเรียน วัยทำงานหรือเจ้าของกิจการก็ต้องรอบคอบเรื่องการโพสต์ข้อความใด ๆ ก็ตามบนโซเชียลมีเดีย
มีข้อมูลจาก CareerBuilder ระบุว่า เรื่องดิจิทัลฟุตพริ้นท์เป็นหนึ่งในเหตุผลที่องค์กรจะตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกพนักงานใหม่ในการเข้าทำงาน หากพนักงานคนนั้นมีพฤติกรรมการโพสต์ภาพ วิดีโอหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด เหยียดเพศ บูลลี่หรือแสดงความคิดเห็นด้านการเมืองแบบรุนแรง เหยียดศาสนา เป็นต้น เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีองค์กรกว่า 41.19% ให้ความเห็นพ้องตรงกับผลวิจัยว่า นำการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มาใช้ประกอบในการพิจารณาคุณสมบัติในการรับเข้าทำงาน เนื่องจากบุคคลนั้น อาจแสดงถึงความคิดเห็นต่อต้านการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีความเห็นต่าง รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะแสดงความเห็นที่รุนแรงต่อองค์กร
การแบ่งรอยเท้าดิจิทัล จะมี 2 รูปแบบ
- Active Digital Footprint คือ ประวัติที่เกิดจากความตั้งใจเปิดเผย เช่น การส่งอีเมล เขียนบล็อก โพสต์ข้อความ รูปแบบ วิดีโอ บนโซเชียลมีเดีย
- Passive Digital Footprint คือ ประวัติที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เช่น IP Address รหัสเข้าคอมพิวเตอร์ ล็อกอินในการเข้าโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ประวัติการค้นหาข้อมูล
ดังนั้น ยิ่งเราท่องโลกออนไลน์มากเท่าไหร่ แสดงความคิดเห็น จ่ายเงินซื้อของ หรือค้นหาข้อมูลด้วยโปรแกรมแล้วกดยอมรับ Cookie ทุกเว็บที่เข้าใช้งาน (หรือไม่ยอมรับก็ตาม) ระบบออนไลน์จะบันทึกไว้ทั้งหมด (นั่นถึงเป็นเหตุผลให้ต้องมีกฎหมาย PDPA เข้ามาควบคุมอิสระในการท่องอินเทอร์เน็ตและไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล) นอกจากนี้ Forbes ยังเคยให้เหตุผลเกี่ยวกับดิจิทัลฟรุตพริ้นต์ในการรับเลือกพนักงานสำหรับเข้าทำงานไว้ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น
- โลกออนไลน์บอกถึงความเหมาะสมของบุคคลต่อบริษัท
- แสดงให้เห็นตัวตนอีกด้านของพนักงาน
- การแสดงตัวตนทำให้มองเห็นวิสัยทัศน์ของคนแบบ 360 องศา
- ประเมินบุคลิกภาพเบื้องต้น
- สร้างความชัดเจนในตัวบุคคลมากกว่าคำตอบที่เตรียมมา
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มคนเจน X, Y, Z ก็ต้องคิดให้ดีก่อนโพสต์ทุกครั้ง เพราะการใช้โซเชียลแบบไม่ยั้งคิด อาจจะเป็นดาบสองคม ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้า และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของทั้งบุคคลและองค์กรก็เป็นได้ เราในฐานะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งการใช้ติดต่อสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน เช่นข้อมูลบัตรเครดิต ระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง การใช้งาน WIFI ฟรีในที่สาธารณะ เราสามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวเราได้อย่างไร สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (2561) ได้แนะนำผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ว่าควรให้ความสำคัญต่อร่องรอยดิจิทัล ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
- เพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้ใช้งาน ร่องรอยดิจิทัล สามารถสะท้อนทั้งแง่บวกและแง่ลบของผู้ใช้งาน ร่องรอยดิจิทัล ที่ไม่ดีคือ เรื่องราวของเราบนอินเทอร์เน็ตที่เราไม่อยากให้ใครได้มาพบการมีร่องรอยดิจิทัล ในแง่ลบอาจส่งผลต่อการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าทำงานในบริษัทได้ ผู้ใช้ควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าต้องปกป้องชื่อเสียงตนเอง สิ่งที่โพสต์หรือแชร์ลงไปในโลกออนไลน์มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ อาจส่งผลกระทบต่อการสมัครงาน หรือการศึกษาของผู้ใช้งานได้
- เพื่อช่วยตัดสินใจว่าควรจะจัดการข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานอย่างไร การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของ ผู้ใช้งานสามารถจำกัดขอบเขตได้ว่าใครควรจะได้เห็นบ้าง หรือใครควรจะไม่ได้เห็น เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพหรือด้านการเงิน แอปพลิเคชันบางตัวที่ติดตั้งบนโทรศัพท์ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้เช่น ภาพถ่าย เบอร์โทรศัพท์ รายชื่อผู้ติดต่อ ผู้ใช้งานควรระมัดระวังหากข้อมูลส่วนตัวนี้รั่วไหลไปยังบุคคลที่สาม การจำกัดข้อมูลส่วนตัวที่จะเปิดเผย เช่น ประวัติการทำงาน ตำแหน่ง เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน เพื่อช่วยป้องกันการสวมรอยบัญชีสังคมออนไลน์จากผู้ไม่หวังดีได้
- เพื่อปกป้องการสูญเสียทรัพย์สิน การขโมยข้อมูลทางดิจิทัล เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงและทำให้เหยื่อสูญเสียเงินเป็นอันมาก การโพสต์ภาพของมีค่าลงสื่อสังคมออนไลน์ ก็อาจเป็นการอันตรายต่อความปลอดภัยของทรัพย์สินได้ ปกป้องการสูญเสียทรัพย์สิน ด้วยการไม่โพสต์โชว์ของมีค่า เช่น บ้าน รถ เงินทอง โฉนดที่ดินต่าง ๆ เพราะอาจมีมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางสื่อออนไลน์ได้ในที่สุด
- เพื่อรักษาอิสรภาพและความเป็นส่วนตัว ผู้ใช้งานอาจได้รับข้อความสแปมหรือการส่งอีเมลที่มี ข้อความโฆษณาไปให้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้รับที่อาจสร้างความรำคาญจากผู้ขายสินค้าและบริการหากแชร์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์
ในประเด็นความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นก็เช่นกัน การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็ก หรือการโพสต์ภาพของเด็กในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการแชร์ตำแหน่งของที่ตั้ง อาจทำให้เด็กอาจไม่ปลอดภัยจากผู้แสวงหาประโยชน์ได้การเผยแพร่ภาพผู้ป่วยขณะรักษา การถ่ายภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาล ภาพการเยี่ยมบ้านของครูประจำชั้น ภาพและข้อมูลดังกล่าวอาจจะไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ถูกถ่ายนอกจากนั้นการ โพสต์ภาพหรือคลิปที่มีผลต่อความรู้สึกและสภาพจิตใจของเด็กอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิเด็กได้ การรักษาอิสรภาพและความเป็นส่วนตัว ไม่ควรแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง หรือกดรับข้อมูลจากการส่งอีเมล แหล่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เห็นแต่ข้อมูลโฆษณาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ นอกจากจะเกิดความรำคาญยังทำให้ตนเองเห็นของยั่วยวนจิตใจตลอดเวลา และเพื่อเป็นการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น และการเคารพในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุคคลในสังคม
การใช้สื่อสังคมออนไลน์และการใช้อินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ต้องระมัดระวังและรอบคอบมากยิ่งขึ้น ในการจัดการ ควบคุม กำกับตน รู้ผิดรู้ถูก และรู้เท่าทัน ในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต จะโพสต์หรือแชร์ข้อมูลอะไร จะต้องคิดให้รอบคอบ คำนึงถึง การรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง จัดการข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ปกป้องการสูญเสียทรัพย์สิน รักษาความเป็นส่วนตัว พร้อมที่จะรับผิดชอบ หากข้อมูลหรือภาพนั้นไปละเมิดหรือทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย เพื่อเป็นการจัดการร่องรอยทางดิจิทัลของบุคคลในยุคดิจิทัลได้อย่างชาญฉลาด
Business’s Digital Footprint
เนื่องจากทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถถูกค้นหาเจอได้ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจเป็นอย่างมากว่า ชื่อเสียงบนโลกออนไลน์นี้เป็นอย่างไร ได้มีการบริหารจัดการประวัติดิจิทัลนี้ได้เหมาะสมหรือไม่ เพราะเหรียญมี 2 ด้านเสมอ เรื่องที่เราอยากให้รู้อาจกลับค้นไม่เจอ ส่วนเรื่องที่คนทั่วไปหาเจอ เราอาจจะไม่ได้รู้สึกตั้งใจอยากจะเผยแพร่ขนาดนั้น เรามาดูกันว่า มีเรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับ Digital Footprint ที่ธุรกิจต้องสามารถนำมาใช้เพิ่ม Digital Footprint และต้องระวังให้ดี
Brand and Product Presence : ระวังคนอื่นทำการตลาดบนธุรกิจเรา
เรื่องพลาดหลัก ๆที่หลายธุรกิจไม่คิดก็คือ ธุรกิจคุณอาจจะไม่ได้เน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ลองนึกภาพตามดูว่าธุรกิจคุณเปิดมามีชื่อเสียงกว่า 30 หรือ 50 ปี ทุกคนรู้จักคุณหมดถ้าอยู่ในวงการ แล้วมาวันหนึ่ง มีธุรกิจหน้าใหม่พึ่งเปิดทำธุรกิจแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่าไม่ว่าลูกค้าคุณจะ Search หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับคุณอย่างไรก็หาไม่เจอ หรือ เจอน้อยมาก แต่เจอคู่แข่งรายใหม่อยู่ทุกที่ มีทั้งเวปไซต์ มีโซเชียลมีเดีย มีรีวิวการบริการจากลูกค้ามากมาย และมีคนพูดถึงในอินเตอร์เน็ตในหลาย ๆที่ การันตีได้เลยว่า ถ้าธุรกิจคุณไม่ใช่ธุรกิจกึ่งผูกขาด ที่สามารถทำได้อยู่เพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น ไม่นานยอดขายคุณสะเทือนแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ ลองมาดูเทคนิคต่าง ๆที่คนทำธุรกิจที่ไม่สนใจเรื่อง Digital Footprint อาจจะต้องโดนอย่างเจ็บปวดกันแน่ ๆ ว่ามีอะไรบ้าง
ตัวอย่างที่ 1 : การซื้อ Google Ads Keyword โดยคู่แข่ง
ถ้าธุรกิจ หรือ แบรนด์ของคุณมีคำเฉพาะที่เป็นจุดเด่นของแบรนด์ เช่น ชื่อแบรนด์ หรือชื่อสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์และกำลังเป็นที่นิยม อาจมีคู่แข่ง หรือ ธุรกิจที่ขายสินค้าใกล้เคียงมาประมูลซื้อ keyword ของคุณผ่าน Google Ads ทำให้เมื่อค้นหาคำดังกล่าวก็จะปรากฏโฆษณาของ แบรนด์นั้น ๆ ขึ้นมาก่อนแบรนด์ของคุณ ในเหตุการณ์นี้คุณอาจเสียลูกค้าไปให้คู่แข่งอย่างมหาศาล ถ้าคุณไม่มีการดูแล Digital Footprint ของคุณตรงนี้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงกับฟาสต์ฟู้ดชื่อดังระดับโลกที่ขายไก่ทอด แต่ไม่ได้ทำการดูแล Digital Footprint ของตัวเองในช่วงนั้นทำให้คู่แข่งที่ขายเบอร์เกอร์รายใหญ่มาซื้อ Keyword ไก่ทอดไป มาทำโฆษณาอยู่บนธุรกิจได้อย่างซึ่ง ๆ หน้า
ตัวอย่างที่ 2 : ประชาสัมพันธ์ใน Youtube Channel
การทำให้คู่แข่งสามารถมาซื้อโฆษณา Youtube ของช่องคุณได้ และโฆษณาสินค้า/บริการของเขา ยกตัวอย่างเช่น คุณทำสำนักงานบัญชี และได้ทำคลิปสอนเรื่องบัญชีลง Youtube เพื่อที่จะได้หากลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น สิ่งที่คุณห้ามลืมเด็ดขาด คือ การตั้งระบบโฆษณาว่าไม่ให้ช่องอื่น ๆ มาโฆษณาบนช่องคุณได้ (ถึงแม้คุณจะได้ค่าตอบแทนจาก Youtube ก็ตาม) เพราะนี้คืออีกจุดรั่วไหลของลูกค้าในอนาคต แต่ในทางกลับกันคุณควรจะซื้อโฆษณา บน Youtube Channel คนอื่นที่อาจมีฐานลูกค้าเดียวกับของคุณเสมอ เพราะคุณคือ คนที่ควรสร้าง Digital Footprint นี้ตลอดเวลาเมื่อคู่แข่ง และคนอื่นไม่ได้ทำมัน
ตัวอย่างที่ 3 : การใช้ Authority Figure
อีกหนึ่งวิธีในการเพิ่ม Digital Footprint ของคุณ คือ การนำแบรนด์ให้เข้าไปอยู่บนเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นการลงโฆษณารีวิว หรือการซื้อพื้นที่โฆษณา แม้แต่การ Sponsor เว็บไซต์นั้น ๆ หรือ แม้แต่การทำกิจกรรมร่วมกับ influencer blogger youtuber ก็ทำได้ โดยเข้าไปทำ content ร่วมกับเพจเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำคลิปสัมภาษณ์ การทำ content ร่วมกันก็ตาม เพราะว่าเป็นการสร้าง Digital Footprint ในแหล่งฐานผู้ติดตามใหม่ ๆ จากผู้ติดตามเดิมของคนอื่น ๆ
ตัวอย่างที่ 4 : การใช้ประโยชน์จาก Marketplace
ในยุคสมัยนี้พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปจับจ่ายใช้สอยบน Marketplace มากขึ้น เช่น Lazada และ Shopee เป็นต้น เพราะสามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการได้อย่างง่าย สิ่งที่เจ้าของสินค้าหลายคนมักคาดไม่ถึงว่าผู้บริโภคของคุณนั้น อาจกำลังตามหาสินค้าแบบคุณบนแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่ แต่คุณไม่ได้ลงไปขายในช่องทางนั้น ๆ ทำให้เกิดรูโหว่ให้คู่แข่งที่ขายสินค้าใกล้เคียงได้ตลาดตรงนี้ไป คุณอาจมองว่าการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองนั้นไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชันให้ใครเพิ่ม แต่อย่าประมาทไป เพราะเดี๋ยวนี้ Marketplace เหล่านี้ทำ Digital Footprint ไว้ดีมาก เวลาคนค้นหาสินค้าต่าง ๆ บน Google ก็มักจะขึ้นมาเป็นรายการแรก ๆ ให้เห็นกันเลย ฉะนั้นจงอยู่ให้ครบทุกที่ที่ลูกค้าอยู่เพื่อไม่เสียโอกาสให้กับแบรนด์อื่นมาชิ่งไป
บริหารจัดการ Digital Footprint เชิงกลยุทธ์
การทำ Digital Footprint สามารถแบ่งออกไปเป็น 2 กลยุทธ์หลัก ๆ ซึ่งก็คือ การทำแบบ Active และ Passive กลยุทธ์แบบ Active คือ การทำอย่างตั้งใจเพื่อเพิ่มพูน Digital Footprint เช่น การออกสื่อเพิ่ม Brand and Product Presence การทำ traffic hack โดยนำแบรนด์ไปอยู่ในพื้นที่ของ Authority ซึ่งกลยุทธ์นี้ควรทำต่อไปอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มปริมาณ และโอกาสการเข้าถึง กลยุทธ์แบบ Passive คือ การทำ Footprint แบบ Reverse Engineer ระบบ ิธีนี้ก็คือ เมื่อเราเข้าใจว่าระบบชอบบันทึก หรือ อ่านข้อมูล จดจำเราในลักษณะใด เราก็สามารถทำพฤติกรรมนั้น ๆ ซ้ำ ๆ แบบตั้งใจโดยทำเป็นธรรมชาติ เช่น การใส่ลิงก์เว็บไซต์ไว้ในลายเซ็นของอีเมล์เสมอ การตอบกระทู้เด็ด หรือ แม้กระทั้งไม่ว่าจะไปที่ไหน ๆ ไปเป็น guest speaker ไปประชุมก็ให้มี logo บริษัท หรือ แม้แต่ QRCode ที่สแกนได้ แน่นอน Digital Footprint มีสองด้านเสมอ ด้านแรกคือ ด้านดี ๆ ที่เราอยากให้ผู้บริโภคเห็น และด้านที่เราอยากจะซ่อนให้มิดชิด ในการบริหารจัดการเหรียญด้านที่สองนี้ เราแนะนำว่าควรรีบจัดการให้เหมาะสมอย่างรวดเร็วที่สุด เช่น ถ้าเราเคยมีกระทู้ต่อว่าอดีตพนักงานที่ให้บริการไม่ดีกับลูกค้าในธุรกิจร้านอาหารของเรา จะจัดการอย่างไรดี เพราะขึ้นอับดับ 1 เลยใน google ถ้าคน Search หาข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารเรา ถ้ามีคนรีวิวไม่ดี แต่เป็นความจริงที่เกิดข้อผิดพลาดนั้น เราต้องรับมือ แก้ไข หรือ ชี้แจ้งออกไปอย่างไรให้ดูมืออาชีพ และมีความน่าเชื่อถือ ไม่ดูเป็นการสร้างภาพ หรือ ปิดบัง ข้อควรระวัง คือ อย่าพลาดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าคิดว่าเรื่องต่าง ๆ บนโลกออนไลน์เป็นเรื่อง “แค่นี้เอง” เพราะทุก ๆ การกระทำบนโลกออนไลน์สามารถถูกค้นหาได้ทั้งหมด Digital Footprint ที่คุณตั้งใจสิ่ทำให้เกิด ก็ทำไป อะไรที่ไม่ดีไม่ควรก็ให้รีบเอาออกซะก่อนที่รอยเท้านี้จะฝังลึกจนอยากที่จะจัดการ
ไม่ปล่อยให้อดีตไล่ล่า จัดการปัจจุบันให้ดี เตรียมตัวให้พร้อมกับอนาคต
Digital Footprint ก็เปรียบเสมือนชื่อเสียงของแบรนด์ที่ต้องหมั่นดูแลรักษาให้ดีอยู่เสมอ หลักการเชิงกลยุทธ์ที่ Extranice ทำมาตลอด คือ การค้นหาปัญหาเก่า ๆ ให้เจอ และหาวิธีแก้ไข (ภาษาวัยรุ่นอาจจะเรียกว่า “ขุด”) รวมไปถึงตรวจสอบปัญหาที่มี ณ ปัจจุบันว่าอะไรบ้างที่ต้องรีบจัดการให้ไวก่อนที่จะโดนฝังลึก และแก้ปัญหาได้โดยยาก มองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้าง Digital Footprint เพิ่มอยู่เสมอให้กับอนาคต และที่สำคัญต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ประเมินความเสี่ยงกับสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นคุณต้องจัดเตรียมความพร้อม และขั้นตอนรับมือกับเมื่อมีเรื่องที่ไม่ต้องการเกิดขึ้น