การใช้ตัวย่อของหน่วยที่ไม่ควรมองข้าม

การใช้ตัวย่อของหน่วยที่ไม่ควรมองข้าม

นิยมใช้ตัวย่อของหน่วยเพื่อให้สั้นลง สอดคล้องกับเนื้อที่ของฉลากซึ่งอาจมีจำกัด

โดย อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก

ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อการจำหน่ายในประเทศหรือส่งออกก็ตาม กฎระเบียบข้อบังคับอย่างหนึ่งที่ผู้ผลิตจะละเลยไม่ได้คือ กฎหมายเรื่องฉลาก (Label Law) ซึ่งครอบคลุมถึง ชื่อผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบที่สำคัญ คุณค่าทางโภชนาการ (ถ้าเป็นอาหาร) วิธีการใช้ ปริมาณบรรจุ วันที่ผลิตและหมดอายุ บริษัทและประเทศที่ผลิต เป็นต้น ปริมาณบรรจุของผลิตภัณฑ์เป็นหน่วยของน้ำหนักหรือปริมาตรขึ้นกับว่าผลิตภัณฑ์เป็นของแข็งหรือของเหลว โดยนิยมใช้ตัวย่อของหน่วยเพื่อให้สั้นลง สอดคล้องกับเนื้อที่ของฉลากซึ่งอาจมีจำกัด การใช้ตัวย่อของหน่วยเป็นสิ่งที่ดูเหมือนง่ายและไม่ยุ่งยาก เพราะผู้ประกอบการ นักออกแบบฉลาก และผู้บริโภคส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและเข้าใจกันดีอยู่แล้ว แต่เรื่องง่าย ๆ นี้มักเกิดข้อผิดพลาดเสมอ และนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ ดังตัวอย่างที่จะเล่าให้ฟังดังนี้

ณ ประเทศอังกฤษ ในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง มีชายนายหนึ่งกำลังพิจารณาอ่านฉลากของขวดซอส สักครู่หนึ่งเขาก็หยิบขวดซอสซึ่งพิมพ์ปริมาณบรรจุที่ฉลากไว้ว่า CONTENT 237 ML ไปหาผู้จัดการของร้าน แล้วถามว่า “คุณคิดว่าซอสขวดนี้จะจุได้ 237 ล้านลิตร เชียวหรือครับ?” ผู้จัดการยืนงงอยู่สักครู่แล้วก็ถึงบางอ้อ เลยรีบขอโทษในความผิดพลาดอันเนื่องจากการใช้ตัวย่อของหน่วยผิด เพราะความจริงฉลากของซอสขวดดังกล่าวต้องพิมพ์ CONTENT 237 mL ซึ่งหมายความว่าความจุของซอสในขวดเป็น 237 มิลลิลิตร

บทความนี้ผู้เขียนจะสรุปการใช้ตัวย่อของหน่วยที่ปรากฏอยู่ที่ฉลากของสินค้า โดยจะครอบคลุมตั้งแต่ระบบของหน่วย ตัวย่อของหน่วย และหลักการใช้ตัวย่อของหน่วย

ระบบของหน่วย แบ่งได้เป็น 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ ระบบเมตริกและระบบอังกฤษ ในปัจจุบันระบบเมตริกได้รับความนิยมอย่างสูงแทบทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จนถือได้ว่าเป็นหน่วยสากลระหว่างชาติ และได้รับการกำหนดไว้ใน System International d’ Unites หรือรู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า “หน่วย SI” ส่วนระบบอังกฤษนั้น ในปัจจุบันยังคงนิยมใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าได้มีการแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ระบบเมตริกตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2535 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก สินค้าที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกายังมีการใช้หน่วยระบบอังกฤษอยู่อย่างมาก และบางครั้งทำความสับสนให้กับผู้บริโภคที่มิใช่คนอเมริกันอย่างเช่นพวกเรา

หน่วยระบบอังกฤษและระบบเมตริก ที่ใช้มาก เช่น

หลักการใช้ตัวย่อของหน่วยในภาษาอังกฤษ สรุปได้ ดังนี้

1. ปริมาณบรรจุที่นิยมใช้ คือ

  • ปริมาตรเป็นลิตร (litre) ใช้ตัวย่อว่า L หรือ l ก็ได้
  • น้ำหนักเป็นกรัม (gram) ใช้ตัวย่อว่า g

2. อักษรนำหน้าหน่วย บ่งบอกถึงจำนวนเท่า เช่น

  • มิลลิ (milli) ใช้ตัวย่อว่า m หมายถึง 1/1000 เท่า
  • กิโล (kilo) ใช้ตัวย่อว่า k หมายถึง 1000 เท่า
  • เมกกะ (mega) ใช้ตัวย่อว่า M หมายถึง 1,000,000 เท่า
  • มิลลิลิตร (millilitre) ต้องใช้ตัวย่อว่า ml หรือ mL เท่ากับ 1/1000 ลิตร
  • กิโลกรัม (kilogram) ต้องใช้ตัวย่อว่า kg เท่ากับ 1000 กรัม
  • เมกกะลิตร (megalitre) ต้องใช้ตัวย่อว่า Ml หรือ ML เท่ากับ 1,000,000 ลิตร

3. ระหว่างตัวเลขและตัวย่อของหน่วย ต้องมีช่องว่างเสมอ จะเขียนติดกันเลยไม่ได้

4. ตัวย่อของหน่วยไม่มีรูปเป็นพหูพจน์ คือ ไม่มีการเติม “s” แม้ว่าปริมาณจะมากกว่า 1 ก็ตาม

5. ท้ายของตัวย่อไม่มีจุด

เป็นที่น่าสังเกตว่า นักออกแบบฉลากบรรจุภัณฑ์บางท่านยังใช้ตัวย่อที่ผิด ดังตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยต่อไปนี้

  • ใช่ตัวย่อ ML ต้องการให้หมายถึง milliliter
    ผิด เพราะ ML หมายถึง megalitre ซึ่งมีค่า 1 ล้านลิตร
  • ใช่ตัวย่อ KG ต้องการให้หมายถึง kilogram
    ผิด เพราะ K หมายถึง Kelvin ซึ่งเป็นหน่วยของอุณหภูมิ ส่วน G หมายถึง giga ซึ่งเท่ากับ 1 พันล้าน
  • ใช่ตัวย่อ G ต้องการให้หมายถึง gram
    ผิด เพราะ G หมายถึง giga ซึ่งเท่ากับ 1 พันล้าน

ตัวอย่างตัวย่อของหน่วยที่มักเขียนผิด และมักพบเห็นบ่อย

หลักการใช้ตัวย่อของหน่วยระบบเมตริกในภาษาไทย สรุปได้ดังนี้

ท้ายของตัวย่อของหน่วยต้องมีจุดเสมอ ถ้ามีพยัญชนะ 2 ตัว จะไม่มีจุดระหว่างพยัญชนะ เช่น

  • มิลลิลิตร ต้องใช้ตัวย่อว่า มล.
  • ลิตร ต้องใช้ตัวย่อว่า ล.
  • กิโลกรัม ต้องใช้ตัวย่อว่า กก.
  • กรัม ต้องใช้ตัวย่อว่า ก.
  • ลูกบาศก์เซนติเมตร ต้องใช้ตัวย่อว่า ลบ.ซม.
  • มิลลิเมตร ต้องใช้ตัวย่อว่า มม.
  • เซนติเมตร ต้องใช้ตัวย่อว่า ซม.

ตัวอย่างฉลากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตในประเทศ ที่ใช้ตัวย่อของหน่วยไม่ถูกต้อง ดังรูป

ตัวอย่างของฉลากสินค้าอุปโภคบริโภคผลิตในประเทศ ที่ใช้ตัวย่อของหน่วยถูกต้อง ดังรูป

นอกจากเรื่องตัวย่อของหน่วยแล้ว ผู้ผลิตสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทยควรทราบกฎระเบียบที่เกี่ยวกับขนาดของตัวอักษรและหน่วยบนฉลาก หากเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ต้องยึดตามข้อกำหนดตามประกาศ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรื่องฉลากอาหาร สรุปตามตารางต่อไปนี้

สินค้าทุกชนิดต้องยึดตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์เรื่อง “กำหนดชนิดของสินค้าหีบห่อ หลักเกณฑ์ และ วิธีการแสดงปริมาณของสินค้าและอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด” ดังตารางต่อไปนี้

หลักเกณฑ์ของการใช้ตัวย่อของหน่วยที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งไม่ยาก และน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักออกแบบฉลากบรรจุภัณฑ์ซึ่งควรให้ความสนใจกับการใช้ตัวย่อของหน่วยบนฉลาก แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าผิดพลาดขึ้นมา ก็คงจะน่าอายเหมือนกัน เพราะข้อความ Product of Thailand และชื่อบริษัทผลิตสินค้าที่ปรากฎอยู่บนฉลากบรรจุภัณฑ์จะฟ้องอย่างชัดเจน