Gen Z ชอบอ่านหนังสือเล่มมากกว่าอีบุ๊ก ธุรกิจร้านหนังสือฟื้น?

Gen Z ชอบอ่านหนังสือเล่มมากกว่าอีบุ๊ก ธุรกิจร้านหนังสือฟื้น?

พลังและตลาดสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจหนังสือเล่ม และร้านหนังสืออิสระ ยังมีความหวังจะไปต่อได้

ตอนนี้ในต่างประเทศกำลังพูดกันถึงเทรนด์ที่ Gen Z นิยมอ่านหนังสือเป็นเล่มมากขึ้นกว่าการอ่านแบบดิจิทัล

กระแสนี้ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผู้อ่านจำนวนหนึ่งไม่ได้พอใจนักกับการควบคุมตลาดหนังสือของ Amazon ที่มีอำนาจเหนืออุตสาหกรรมหนังสือ

ในสหรัฐอเมริกา Amazon ควบคุมตลาดหนังสือสิ่งพิมพ์มากกว่าครึ่งหนึ่ง และนั่นก็เป็นเหตุผลที่อาจกำลังผลักดันให้บางคนไปซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือโลคอลมากขึ้น โดยเฉพาะ Gen Z ที่พยายามหลีกเลี่ยงทุกครั้งที่เป็นไปได้ และหันเข้าหาร้านหนังสืออิสระเล็ก ๆ แทน

กระแสกลับมาอ่านหนังสือแบบเล่ม ยังทำให้เชนร้านหนังสือเก่าแก่อย่าง Barnes & Noble ก็กลับมาขยายธุรกิจได้อีกครั้งเช่นกัน เพราะปีที่แล้ว Barnes & Noble ขยายสาขาเพิ่มถึง 30 แห่งถือเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ และในปีนี้วางแผนที่จะเปิดสาขาอีก 50 แห่ง

หนึ่งในกลยุทธ์หลักของร้านหนังสือเก่าแก่แห่งนี้ คือ ให้ทุกร้านสามารถเลือกตัดสินใจบริหารจัดการร้านได้ด้วยตัวเองตามความเหมาะสมกับลูกค้าในพื้นที่นั้น ๆ ดีกว่าที่จะยึดตามรูปแบบเดียวกันทั้งแบรนด์เพื่อให้เหมือนกันทุกร้าน ซึ่งก็ตรงจริตกับนักอ่านที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน

ส่วน เดอะการ์เดี้ยน รายงานว่า ในสหราชอาณาจักรยอดขายหนังสือแบบเล่มพุ่งสูงขึ้นและคนรุ่นใหม่เริ่มนิยมมีชมรมหนังสือของตัวเอง ปีที่แล้วยอดขายหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น ขายได้มากถึง 669 ล้านเล่ม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่เคยบันทึกไว้

การวิจัยจาก Nielson BookData เน้นย้ำว่าตลาดผู้ซื้อส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นกลุ่ม Gen Z และหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มเป็นวิธีการอ่านที่ได้รับความนิยมมากที่สุด สำหรับผู้ซื้อหนังสือในสหราชอาณาจักรที่มีอายุระหว่าง 13-24 ปี คิดเป็น 80% ของการซื้อ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มียอดขายเพียง 14% ในกลุ่มอายุเดียวกัน

รวมทั้งมีรายงานว่า สถิติการเข้าห้องสมุด มีผู้ใช้งานกลุ่ม Gen Z เพิ่มขึ้นด้วย โดยคนกลุ่มนี้นิยมมาอ่านหนังสือในที่เงียบสงบมากกว่าร้านกาแฟ

Pew Research พบว่า Gen Z คนที่เกิดระหว่างปี 1997-2015 ชอบอ่านหนังสือที่พิมพ์ออกมามากกว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหักล้างข้อสันนิษฐานทั่วไปที่ว่าคนรุ่นนี้ให้ความสำคัญกับดิจิทัลเป็นหลัก

ตามรายงาน ผู้ตอบแบบสอบถามชาวอเมริกันเกือบ 70% ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปีกล่าวว่าพวกเขาอ่านหนังสือที่ตีพิมพ์ ในขณะที่เพียง 42% กล่าวว่าพวกเขาอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

เหตุผลที่ทำให้ Gen Z กลายมาเป็นกลุ่มหลักที่จะมาขับเคลื่อนตลาดหนังสือฉบับพิมพ์ พวกเขาบอกว่าเพราะการอ่านหนังสือฉบับพิมพ์ให้ความรู้สึกเป็นเรื่องส่วนตัวและใช้งานได้จริงมากกว่า อีกทั้งยังหยิบและวางได้ง่ายอีกด้วย ส่วนเหตุผลอื่น ๆ อาทิ อ่านง่ายขึ้น อ่านแบบเล่มทำให้ผู้อ่านมีสมาธิมากกว่า และได้ฟีลปิดตัวลงจากโลกภายนอก ไม่รู้สึกปวดตาด้วย

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Books on the Bedside ซึ่งเป็นบัญชีติ๊กต่อกยอดนิยมด้านการอ่านของ Gen Z วิเคราะห์ว่าขอบเขตการอ่านหนังสือของ Gen Z กว้างขวางและหลากหลายมากอย่างไม่น่าเชื่อ คน Gen Z นิยมอ่านนิยายวรรณกรรม บันทึกความทรงจำ นิยายแปล โดยเฉพาะวรรณกรรมคลาสสิก

นอกจากนี้คน Gen Z เริ่มให้ความสนใจเรื่องการมีชมรมหนังสือ หรือ ทำ Book Club ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนและเข้าสังคมของพวกเขาด้วย

ในสหรัฐอเมริกามีรายงานว่ากิจกรรมที่เกี่ยวกับชมรมหนังสือมีมากขึ้น 24% โดยวัดจากการที่มีคน Gen Z เข้าร่วมผ่านการซื้อตั๋วกิจกรรมบนแพลทฟอร์มขายตั๋วดิจิทัล ที่มีกิจกรรมของชมรมหนังสือเพิ่มขึ้นมาในระบบจำหน่ายตั๋ว 10%

โดยงานชมรมหนังสือแบบใหม่ผู้จัดงานและสมาชิกจะรวมตัวกันในสถานที่สาธารณะเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือตามอีเวนต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์งานจับคู่ออกเดท งานโรงเบียร์ ฯลฯ

นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังช่วยดึงคนอ่านรุ่นใหม่ไปรู้จักหนังสือใหม่ ๆ จากชุมชนนักอ่านโดยเฉพาะใน BookTok ซึ่งเป็นส่วนย่อยของติ๊กต่อกที่เป็นแหล่งรวมชุมชนนักอ่านอายุน้อยในโซเชียลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของติ๊กต่อก

วัฒนธรรม BookTok และ Bookstagram เป็นที่นิยมและชื่นชอบในหมู่คนรุ่นใหม่ ทำให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกหลังอ่านหนังสือจบ และได้รู้จักหนังสือต่าง ๆ มากขึ้น กระแสนี้ได้ส่งผลต่อการเพิ่มยอดขายที่ร้านหนังสือจริง ๆ

แม้แต่ศิลปินดังอย่าง Dua Lipa ก็มีชมรมหนังสือของเธอด้วย ซึ่งหนังสือที่เธอแนะนำในเดือนกุมภาพันธ์ คือ ‘A Thousand Splendid Suns’ นวนิยายของนักเขียนชาวอัฟกัน-อเมริกัน คาเลด ฮอสเซนี

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของชมรมหนังสือสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจที่เกิดขึ้นใหม่ในกิจกรรมและประสบการณ์แบบได้พบปะเจอตัวจริง ๆ ของกลุ่ม Gen Z หลังยุคโควิด และเป็นการออกมาใช้ชีวิตเพื่อพักจากความเหนื่อยล้าจากโลกออนไลน์และดิจิทัล

เราจะเริ่มเห็นชมรมหนังสือมีนัดพบกันที่ร้านอาหารต่าง ๆ หรือนัดแนะกันไปลองสถานที่ใหม่ ๆ เพื่อเชื่อมต่อกันระหว่างพวกเขากับหนังสือ โดยคอมมิวนิตี้ของพวกเขาเกิดขึ้นจากในโซเชียลฯ อย่างติ๊กต่อก และอินสตาแกรม

จะเห็นว่าคน Gen Z จะเป็นพลังและตลาดสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจหนังสือเล่ม และร้านหนังสืออิสระ ยังมีความหวังจะไปต่อได้


ที่มา: https://workpointtoday.com/gen-z-reads-physical-books-more-e-books-digital/