การสร้างคุณค่าสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ด้วยหมึกพิมพ์รักษ์โลก

การสร้างคุณค่าสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ด้วยหมึกพิมพ์รักษ์โลก

รศ.ดร.จันทิรา โกมาสถิตย์
สาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ทุกวันนี้แนวคิดสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (sustainable) เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือ การลดคาร์บอนฟุตปรินต์หรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง การทำให้คาร์บอนสุทธิเหลือศูนย์ (carbon net-zero) เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ แต่เท่านี้อาจยังไม่พอ ปัจจุบันมีการสนับสนุนให้มีแนวคิดต่อเนื่องตามมาด้วยการทำให้เกิดคาร์บอนติดลบ (carbon negative) เพื่อสภาพอากาศที่ดีขึ้นหรือ Climate positive ต่อไป

หากมามองที่อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ กาว และสารเคลือบผิวแล้วก็จะพบว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ระเหยไว หรือสาร VOCs (Volatile organic compounds) เป็นส่วนประกอบหลัก มีหลายชนิดในอุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ กาว และสารเคลือบผิว เช่น สารเบนซีน สารโทลูอีน สารไซลีน สารเอทิลีนไกลคอล สารเอทิลอะซิเตท สารเฮกเซน สารฟอมัลดีไฮด์ ฯลฯ สารเหล่านี้ล้วนเป็นตัวทำละลายที่ใช้ในหมึกพิมพ์ กาว และสารเคลือบผิวทั้งสิ้น ไอระเหยของสารพวกนี้นอกจากเป็นสารอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต (มนุษย์ สัตว์) แล้วยังก่อก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย เนื่องจากไอระเหยของสาร VOCs และก๊าซไนโตรเจนออกไวด์เกิดปฏิกิริยาเคมีกับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วก่อก๊าซโอโซนโทรโปเฟอริก (tropospheric ozone) ขึ้น ซึ่งเป็นโอโซนระดับพื้นผิวโลก (ground-level ozone) ที่จัดเป็นก๊าซเรือนกระจกสำคัญรองจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน สารโอโซนโทรโปเฟอริกนี้จะดูดซับและกักความร้อนของแสงอาทิตย์ไว้ที่ผิวโลก ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนสูงขึ้นเรื่อยๆ จนสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายยิ่งขึ้น

ดังนั้น หากโรงงานอุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ กาว และสารเคลือบผิวสามารถลดหรือเลิกการปล่อยสาร VOCs ได้ ย่อมเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโลกอย่างแน่นอน ยิ่งกว่านั้นด้วยแนวทางต่างๆ เช่น การหมุนเวียนพลังงานและวัตถุดิบ การลดปริมาณของเสียทิ้ง การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การใช้วัตถุดิบที่ปลูกทดแทนได้ (renewable resource) ไม่ผลิตจากแหล่งวัตถุดิบที่ใช้แล้วหมดไป (non-renewable resource) เป็นต้น หากผู้ผลิตระดับต่างๆ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำในอุตสาหกรรมสามารถบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ย่อมถือว่าเป็นการเพิ่มคุณค่าแก่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างดีทางหนึ่ง ผนึกป้ายสินค้าได้ด้วยคำว่า “green” “sustainability” หรือ “ecofriendly” หากองค์กรหรือธุรกิจใดมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยยึดหลักความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้อย่างแน่นอน

สิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

หมึกพิมพ์เฟล็กโซกราฟีใช้ส่วนผสมของสารยึดที่ผลิตจากสาหร่ายกำลังเป็นที่น่าจับตามองในตลาดหมึกพิมพ์บรรจุภัณฑ์

แนวคิดเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมี 3 ประการ ได้แก่ ผลต่อสุขภาพ (health), ผลต่อสภาพอากาศ (climate change) และระบบการผลิตหมุนเวียน (circularity) ดังนั้น จึงมีการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในวงอุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ กาว รวมทั้งสารเคลือบผิว ได้แก่ การพัฒนาสูตรผสมให้ปราศจากสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ลดปริมาณไอระเหยของสาร VOCs ทำให้อากาศสะอาดบริสุทธิ์ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ลดคาร์บอนฟุตปรินต์หรือการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ และพัฒนาสูตรผสมด้วยสารชีวภาพ (Bio-based) เป็นส่วนประกอบให้มากขึ้น

การเติบโตของตลาดหมึกพิมพ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Eco-friendly inks

นวัตกรรมหมึกพิมพ์ที่ออกจำหน่ายชูโรงด้านหมึกเพื่อสิ่งแวดล้อมมักเป็น 1. หมึกที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้ง่าย หรือหมึกพิมพ์ชีวภาพ 2. หมึกพิมพ์ที่ใช้ส่วนผสมเป็นน้ำมันถั่วเหลืองทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม และ 3. การพัฒนาสูตรหมึกพิมพ์ฐานน้ำที่ปราศจากไอระเหยของสาร VOCs เป็นส่วนผสมขึ้นมาแทน หมึกพิมพ์และระบบการพิมพ์ที่ใช้หมึกพิมพ์เหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนให้บรรจุภัณฑ์ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง แม้ว่าหมึกพิมพ์จะเป็นส่วนเล็กน้อยที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ ผิดกับปริมาณวัสดุของบรรจุภัณฑ์อย่าง กระดาษ พลาสติก ฯลฯ แต่หมึกที่ใช้พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์กลับเป็นประเด็นใหญ่สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “Green packaging” เพราะยังไงก็ตามต้องใช้หมึกพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ หมึกนั้นจะติดแน่นผนึกบนวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ถูกนำไปฝังกลบในบ่อขยะ หรือนำไปหลอมหมุนเวียนรีไซเคิล อีกประการหากคำนึงการใช้หมึกพิมพ์ฐานตัวทำละลาย กาวและสารเคลือบผิวที่ประกอบด้วยสาร VOCs ปริมาณมากที่ไอระเหยปล่อยออกมาในกระบวนการพิมพ์และขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ การผนึกติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนเล็กน้อยก็ไม่คุ้มเลยทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เสียหาย ดังนั้น หากไม่มีการใช้สาร VOCs ในส่วนผสม ย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน จึงมีคำกล่าวว่า หมึกพิมพ์จะเป็นสีอะไรก็ตาม ควรเป็นหมึกที่ปลอดภัย “Green ink”

ปัจจุบันมีข้อกำหนดระดับรัฐและองค์กรต่างๆ สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์หมึกพิมพ์และสารยึดติดที่ปลอดภัย มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • หมึกพิมพ์ผลิตจากวัตถุดิบที่ไม่มีพิษหรืออันตราย
  • ไม่มีกากของเสียที่เป็นพิษ
  • ย่อยสลายง่ายตามธรรมชาติ หมายถึง ย่อยสลายทางชีวภาพได้ และนำไปหมุนเวียน กำจัดหมึกพิมพ์ออกได้ง่าย
  • ปราศจากการใช้สาร VOCs เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
  • ปรับปรุงสารยึด เรซิน และกากของเสียให้ย่อยสลายง่ายทางชีวภาพคือด้วยจุลินทรีย์
  • ปรับปรุงสารยึด เรซิน และกากของเสียให้สามารถฝังกลบในดินได้
  • ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากของเสียพวกสารยึดเรซิน
  • ปราศจากสารพิษไดออกซินปล่อยออกมาจากการเผาทำลาย
  • ใช้ผงสีที่ปราศจากสารฮาโลเจน เช่น คลอรีน
  • ไม่ควรใช้ผงสีขนาดอนุภาคระดับนาโนเมตรเป็นส่วนประกอบ
  • ปราศจากผงสีธรรมชาติที่เป็นพิษ หรือที่ประกอบด้วยสารมีพิษ
  • ไม่มีสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ เช่น เรซินฟีนอล พวกสาร BPA/PF สารคะตะลิสต์ชนิดดีบุก
  • ใช้ตัวทำละลายทางชีวภาพ (Bio-solvent) คือ เป็นตัวทำละลายที่ผลิตด้วยกระบวนการทางชีวภาพ เช่น สารประกอบเอสเทอร์ของกรดไขมันของน้ำมันสกัดจากเมล็ดพืช
  • ปราศจากส่วนประกอบที่เป็นสารตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO-free) และไขมันสัตว์
  • ใช้สารเติมแต่งชนิดชีวภาพ (ไบโอ) คือ เป็นสารจากธรรมชาติ ไม่เป็นสารสังเคราะห์ทางเคมี
  • ค่าปริมาณสารชีวภาพชนิดทดแทนได้เร็ว หรือ Bio Renewable Content (BRC) ควรมีค่ามากกว่า ร้อยละ 60
  • ควรจัดได้ว่ามีสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม