Toxic Person ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ ???

Toxic Person ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ ???

บุคคลที่มีลักษณะพฤติกรรมต่อต้านผู้อื่น ชอบบงการ ตัดสินตีตรา หรือควบคุมเอาแต่ใจ ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ต่อทีม ต่อแรงจูงใจในการทำงาน

รวมรวมโดย ธีรพงศ์ ประดิษฐ์กุล

Toxic Person คือ บุคคลที่มีลักษณะพฤติกรรมต่อต้านผู้อื่น ชอบบงการ ตัดสินตีตรา หรือควบคุมเอาแต่ใจ บุคคลดังกล่าวนี้มักเป็นสาเหตุของความรู้สึกและอารมณ์ด้านลบเมื่อเราไปอยู่ใกล้ เช่น วิตกกังวล ไร้ค่า และไม่มีความสุข… ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในแง่ขององค์กร หากเราต้องทำงานร่วมกับคนที่มีลักษณะเป็น Toxic Person ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ต่อทีม ต่อแรงจูงใจในการทำงาน หรือแม้กระทั้งต่อความรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กร (Engagement) ของบุคคลผู้ประสบปัญหานี้อยู่ไม่มากก็น้อย

ขีดเส้นให้ชัดเจนว่าพฤติกรรมแบบไหนถือเป็น Toxic หรือไม่เป็น Toxic

คำว่า “ขีดเส้น” นั่น หากมองในด้าน Hard side ก็คือ “กฎระเบียบ” ในด้านนี้จะมุ่งไปที่ความชัดเจนในข้อประพฤติปฏิบัติต่าง ๆ ที่มนุษย์ควรพึงกระทำต่อกัน และถือเป็นสิ่งผิดขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าองค์กรที่ไหนก็คงจะไม่ยอมรับ เช่น การมีพฤติกรรมรุนแรง การไม่ให้เกียรติผู้อื่น การดูถูกเหยียดหยาม หรือการคุกคามทางเพศ เป็นต้น ในอีกด้านคือ Soft side คือ “การมีวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน” หากบุคคลผู้นั้นมีพฤติกรรมหรือวิธีปฏิบัติอะไรที่ขัดแย้งต่อวัฒนธรรมองค์กร เราก็จะรับรู้ได้ทันทีว่าพฤติกรรมแบบนี้ถือเป็นมลพิษที่ส่งผลเสียต่อผู้อื่น แต่ปัญหาอันดับหนึ่งที่พบในองค์กรทั้งหลายคือ “ไม่เคยมีการกำหนดวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน” ปัญหาที่ตามมาคือ เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าพฤติกรรมแบบไหนคือ พฤติกรรมที่เป็นขั้วตรงข้ามและเป็นสิ่งที่องค์กรไม่ต้องการ… คนที่เป็น Toxic Person ในองค์กรหนึ่ง เขาอาจไม่ได้เป็น Toxic Person เมื่อเข้าไปไหนอีกองค์กรหนึ่งก็เป็นได้ หรือองค์กรหนึ่งให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่พนักงานกลับมีพฤติกรรมพูดโอ้อวดหรือรู้ไปเสียทุกเรื่อง เป็นต้น

แทรกซึมวัฒนธรรมองค์กรเข้าไปในทุกอณูขององค์กร

เมื่อองค์กรมีชุดวัฒนธรรมที่ชัดเจน ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญมากที่จำเป็นต้องแทรกซึมวัฒนธรรมองค์กรนั้น ๆ เข้าไปในทุกอณูขององค์กร ไล่ตั้งแต่ขั้นตอนกระบวนการสรรหาคนเข้าองค์กร การ Onboarding พนักงาน จนรวมไปถึงการประเมินผลงานต่าง ๆ ในองค์กร วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ Toxic Person แทรกตัวเข้ามาในองค์กรได้ เพราะเรามีความชัดเจนในชุดพฤติกรรมที่ขัดกับวัฒนธรรมองค์กรเป็นสารตั้งต้นไว้แล้ว บุคคลผู้ที่มีพฤติกรรมที่เป็นพิษที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับวัฒนธรรมขององค์กร อาจใช้เทคนิควิธีเช่น กระบวนการโค้ชชิ่ง ที่ชี้ให้เขาเห็นพฤติกรรมของตนเองที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น (เพราะเจ้าตัวบางทีไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมของตนเองส่งผลลบอย่างไร)

ไม่ประนีประนอมกับคนที่มีพฤติกรรมที่เป็นพิษ (Toxic behavior)

ปัญหาที่มักพบในองค์กรคือ “การเลือกปฏิบัติ” โดยเฉพาะเมื่อพฤติกรรมที่เป็นพิษเกิดกับพนักงานที่เป็นคนเก่งขององค์กร หรือเป็น Talent ที่โดดเด่น องค์กรมักจะไม่กล้าลงไปแตะต้อง เพราะกลัวคนเก่งเหล่านั้นน้อยอกน้อยใจ จนถึงขั้นตัดสินใจลาออกจากองค์กร และทำให้องค์กรเสียผลประโยชน์ แต่ในทางตรงกันข้ามองค์กรกลับกล้าจัดการกับพนักงานที่มีผลงานที่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วไปของพนักงานในองค์กร ดังนั้น หากองค์กรปล่อยเลยตามเลยกับเรื่องเหล่านี้ แน่นอนในวันใดวันหนึ่งคนที่มีพฤติกรรมที่เป็นพิษ (Toxic behavior) อาจสร้างผลกระทบที่ลุกลามได้มากกว่า ฉะนั้น ทีมผู้บริหารต้องจริงจังกับเรื่องนี้ และ Take Action ไม่ประนีประนอมต่อ

มีระบบในการฟีดแบ็กที่ชัดเจน

หลายองค์กรมีแนวทางฟีดแบ็กของตนเองที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น IKEA มีระบบการฟีดแบ็ก 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

  1. ใช้การประเมินแบบ 360 องศา: IKEA ใช้การประเมินรายปีแบบ 360 องศา และระหว่างปียังมีการพูดคุยกับผู้จัดการ และเพื่อนร่วมงาน 3 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเชิงพัฒนา
  2. จัด Team Feedback Session ทุกไตรมาส: IKEA จัด Team Feedback Session ผ่านกิจกรรมที่ชื่อ “We Talk” เพื่อทบทวนว่าอะไรที่ดี และอะไรที่ไม่ดีและสามารถพัฒนาได้อีก
  3. ขอ Feedback จากพนักงานอยู่เสมอ: IKEA ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของพนักงาน และจัดให้มีระบบการรับความคิดเห็นจากพนักงานที่เรียกว่า “Voice” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “Ishare”

มีช่องทางในการรายงานพฤติกรรมลบ ๆ ที่พบเห็น

จุดสำคัญในขั้นตอนนี้คือ การทำให้กระบวนการในการรับข้อร้องเรียนต่าง ๆ เหล่านี้โปร่งใส การมีระบบการจัดการข้อมูลที่ดี และต้องมีการรักษาความลับความเป็นส่วนตัวของผู้ที่ทำการแจ้งข้อมูลเหล่านี้เข้ามาด้วย บางองค์กรใช้ในลักษณะเมลล์ที่ส่งตรงมาถึงระดับ CEO เลย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจัง และลดความไม่สบายใจของผู้ส่งหากต้องผ่านบุคคลอื่น ๆ หรือในกรณีที่องค์กรเรามีวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจนแล้ว การทำ Culture Survey ก็จะช่วยให้เราเห็นภาพปัญหาได้ชัดเจนขึ้นและลงไปเจาะไปแก้ไขที่ตัวปัญหาได้ทันท่วงทีเลย

ทำไมคน Toxic ถึงทำแบบนั้น

นักจิตวิทยาด้านระบบประสาทกล่าวว่าไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าการกระทำเช่นนั้นมีผลเกี่ยวเนื่องมาจากความหวาดกลัวและความไม่มั่นคงด้านจิตใจจึงอยากที่จะควบคุมสถานการณ์และควบคุมผู้อื่นให้เป็นไปตามที่ตนคิด ซึ่งทำให้เกิดเป็นลักษณะทางจิต สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้ ถึงแม้คนพวกนี้จะมีบุคคลิกภาพที่น่าหลงใหลดึงดูด มีความมั่นใจในตัวเองแต่แท้จริงแล้วเป็นพวกชอบควบคุมผู้อื่น เอาแต่ใจ และสั่งให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล Freeman กล่าวว่าสิ่งที่จะช่วยให้เราพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของคน Toxic ได้คือ การควบคุมสติของตัวเอง หรือ ความสงบในจิตใจ เพราะคนพวกนี้ขาดทักษะนี้ หรือที่เรียกว่า emotional regulation ควบคุมอารมณ์ตัวเอง จึงทำให้ไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์และมักจะระเบิดใส่ผู้อื่นเมื่อมีเหตุที่ทำให้ไม่พอใจเกิดขึ้น ดังนั้นการที่เราจะสามารถพ้นภัยจากคนพวกนี้ได้เราต้องใช้ emotional regulation ให้เป็นประโยชน์

วิธีในการป้องกันตัวเองหากต้องเผชิญหน้ากับคน Toxic

  1. จำกัดการติดต่อ
    พยายามอย่าจัดโต๊ะทำงานให้นั่งใกล้คน Toxic และหากต้องร่วมทีมกับมนุษย์ Toxic ควรให้เจ้านายรับรู้และขอทำงานจากบ้านให้มากกว่ามาเจอกัน และลดวันการประชุมกลุ่มลง แต่หากเจ้านายเป็นพวก Toxic ซะเองให้จำกัดการใช้เวลาร่วมกันหรือให้คนอื่นช่วยเข้าฟังเจ้านายแทนบ้างและควรมองหางานใหม่ หรือขอย้ายไปอยู่ทีมอื่น และถ้าคุณเป็นฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ก็ควรเรียนรู้เกี่ยวกับสัญญาณอันตรายของคนลักษณะ Toxic และใช้การทดสอบเรื่องสถานการณ์ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นเข้ามาคัดกรองตั้งแต่เริ่มต้น หากคู่ชีวิตของเราเป็นมนุษย์ Toxic และต้องเลี้ยงลูกร่วมกัน ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยาให้ช่วยปรับแนวคิดที่เป็นลบและพฤติกรรมที่ส่งผลเสียด้านสุขภาพจิตของคนในครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง
  2. วางขอบเขตให้ชัดเจน
    หากต้องเผชิญหน้ากับคน Toxic ที่พยายามโยนความผิดให้เราหรือกำลังต่อว่าด่าทอเราให้เราตั้งสติ สงบอารมณ์ และให้บอกไปว่าเราพร้อมที่จะคุยเพื่อเคลียร์ปัญหาหากเขาสงบสติอารมณ์ให้ได้ก่อนแล้วค่อยกลับมาคุยกัน และควรเดินออกห่างในเวลานี้ และควรหากิจกรรมอย่างอื่นที่ช่วยเติมพลังให้ความมั่นใจของตัวเองทำเพื่อผ่อนคลาย
  3. ไม่ต้องพยายามอธิบาย
    หลีกเลี่ยงการอธิบายเนื่องจากคน Toxic มักจะปฎิเสธที่จะฟังคำอธิบายมุมมองของคนอื่น และพยายามที่จะทำให้เราอารมณ์เสียดังนั้นให้ตอบไปว่ายังไม่สามารถที่จะอธิบายอะไรได้ในตอนนี้เพราะกำลังยุ่งอยู่ และหยุดที่จะอธิบายใด ๆ เพิ่มเติมถึงแม้จะถูกตื้อเท่าไรก็ตาม
  4. สร้างความเชื่อมั่นให้ตัวเอง
    เราควรสังเกตลักษณะของพวกคน Toxic และพยายามที่จะเลี่ยงก่อนที่จะถูกโจมตี รับรู้พฤติกรรมของพวก Toxic และอย่าไปสนับสนุนพฤติกรรม Toxic ของพวกเขา เช่นอย่าให้คน Toxic สามารถสร้างเรื่องเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องดราม่าใหญ่โตใช้ความรุนแรงหรือคำพูดการกระทำ ทำร้ายจิตใจเราโดยเกินกว่าเหตุโดย ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นได้

วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ(Toxic Organization Culture)

คือ ภาวะที่สภาพแวดล้อมภายในองค์กรกลายเป็นสิ่งบั่นทอนขวัญกำลังใจ ขวางกั้นการพัฒนาตัวเองของบุคลากร ไปจนถึงกระตุ้นให้ความสัมพันธ์ของคนภายในองค์กรย่ำแย่ เป็นผลให้องค์กรไม่เติบโต แข่งขันกับเจ้าอื่นไม่ได้ และไม่สามารถรักษาบุคลากรเก่ง ๆ เอาไว้ได้เลยวัฒนธรรมที่เป็นพิษนั้นเป็นเหมือนมะเร็ง ในระยะเริ่มต้นอาจไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ถ้าเริ่มรู้สึกได้ชัด ๆ เมื่อไรมักจะเป็นตอนที่ระยะโคม่าแล้ว ถึงตอนนั้นอาจสายเกินเยียวยา วันนี้ Power SME Thai เลยจะมาแนะนำวิธีสังเกต Toxic Organization Culture ขั้นเริ่มต้น เอาไว้สำรวจดูว่าในองค์กรของเรามีอาการแบบนี้หรือไม่

  1. ออฟฟิศไม่มีรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะ
    มีแต่คนหน้าเครียด ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่พูดคุยหยอกล้อ พนักงานต่างคนต่างอยู่ พอคุยกันไม่เท่าไรก็มีอันต้องขัดแย้ง มองไปแล้วเหมือนไม่มีใครมีความสุขเลย
  2. ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือบริหารคน
    ผู้บริหารกำกับดูแลลูกน้องด้วยการข่มขู่ เช่น หักเงินเดือน หักวันลา สั่งพักงาน ไปจนถึงขู่จะไล่ออกหากทำงานได้ไม่ดี แต่กลับไม่ได้ใส่ใจกับการให้รางวัลกับคนทำดี
  3. ขาดการสื่อสารกันภายในองค์กร
    ลูกน้องไม่รู้ว่าหัวหน้ามีแผนธุรกิจยังไง หัวหน้าไม่รู้ว่าลูกน้องต้องการอะไร พนักงานไม่รู้ว่าใครทำหน้าที่อะไรบ้าง เมื่อเข้าใจไม่ตรงกันก็ยากจะผลักดันบริษัทให้เดินหน้า
  4. Turnover สูง พนักงานขยันลาออก
    ถ้าองค์กรไหนเต็มไปด้วยคนที่เข้ามาแล้วก็ลาออกไปในเวลาสั้น ๆ แบบนี้แปลว่ามีปัญหาอะไรสักอย่างแน่นอน ที่ทำให้คนเหล่านั้นไม่สามารถทนอยู่ได้ บริษัทควรใส่ใจพูดคุยกับคนที่ลาออกให้มาก บางทีอาจพบว่าสาเหตุอาจจะเป็นเรื่องเดียวกันหมดก็เป็นได้
  5. ผู้บริหารแทบไม่รู้จักลูกน้อง
    บางองค์กรมีการแบ่งแยกชนชั้นที่ตัดขาดและชัดเจน ขนาดที่ผู้บริหารแทบไม่เคยเห็นหน้าค่าตาลูกน้องในบังคับบัญชาเลย ทั้งที่คนที่ใกล้ชิดลูกค้ามากที่สุดก็คือพนักงานระดับปฏิบัติการ ความห่างเหินจะทำให้จุดบอดในการบริหาร รวมถึงเป็นบรรยากาศการทำงานที่ไม่ค่อยจะโดนใจคนรุ่นใหม่เท่าไร
  6. ลูกน้องไม่เชื่อใจหัวหน้า และไม่เชื่อใจกันเอง
    ต่อเนื่องจากข้อข้างบน เมื่อหัวหน้าไม่ใส่ใจลูกน้อง ลูกน้องก็จะไม่เกิดความเชื่อมั่น แถมในบางองค์กรลูกน้องก็ไม่เชื่อใจกันเอง จ้องจับผิดและขัดแย้งกันเป็นประจำ มาทรงนี้รับรองว่าอยู่ยาก คนที่เก่ง ๆ ก็จะพากันหนีไปหมด
  7. พนักงานไม่พูดถึงองค์กรด้วยความภาคภูมิใจ
    คนที่ใกล้ชิดกับองค์กรมากที่สุดคือ พนักงาน ถึงกับมีคำกล่าวว่า “พนักงานก็คือลูกค้าที่รู้ดีที่สุด” ถ้าตัวพนักงานเองยังไม่มองบริษัทในทางที่ดี แปลว่ามีปัญหาบางอย่างที่ฝังลึกอยู่ภายใน จะขายสินค้าให้ลูกค้าก็ยาก เพราะแม้แต่ตัวคนขายเองยังไม่ค่อยภูมิใจด้วยซ้ำ
  8. ไม่มีใครรู้ว่าจุดแข็งขององค์กรคืออะไร
    ถ้าพนักงานเองยังตอบไม่ได้ว่าองค์นี้มีดีตรงไหน ส่งสัญญาณว่าวัฒนธรรมเข้าขั้นวิกฤตแล้ว นานวันเข้าพนักงานจะรู้สึกว่างานตัวเองไม่มีค่าอะไร แค่รับเงินเดือนไปวัน ๆ
  9. พนักงานรู้สึกว่าความเห็นตัวเองไม่มีค่า
    คนภายในองค์กรรู้สึกว่าความเห็นตัวเองถูกเมิน ไม่อยากเสนอไอเดีย เพราะพูดไปก็ไม่มีใครได้ยิน แถมอาจถูกมองเป็นคนก้าวก่าย
  10. ไม่สามารถทำผลงานตามเป้าได้
    อันนี้ชัดเจนมากครับ ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวไปทั้งหมด ส่งผลออกมาเป็นข้อนี้นี่เอง อันที่จริงการที่ทำงานได้ไม่เข้าเป้าก็มีสาเหตุเป็นไปได้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นเกิดจากวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษก็ได้ ทางที่ดีอย่าปล่อยให้ลุกลามมาถึงข้อนี้เลยครับ

จะทำยังไง ให้ตัวเราเลิกนิสัยไม่ดี

หลายครั้งที่เราพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็น ‘พิษ’ จนลืมไปว่าสิ่งสำคัญก็คือ การต้องขจัดความเป็นพิษออกไปจากตัวเราด้วยเหมือนกัน และแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็นคนที่เป็นพิษ หรือ Toxic Person กันอยู่แล้ว แต่บางคนอาจจะยังสงสัยว่าพฤติกรรมที่เป็นพิษมันมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เรามาดูตัวอย่างของการแสดงออกของคนลักษณะเช่นนี้กัน ส่วนมากแล้วคนประเภทนี้จะชอบคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง คนรอบข้างจึงต้องให้ความสนใจอยู่เสมอ เพราะคนเหล่านี้มักสนใจแต่ตัวเอง นอกจากนี้ยังพยายามควบคุมอีกฝ่ายด้วยคำพูด และมักสร้างเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง รวมถึงการทำร้ายจิตใจคนรอบข้างได้เช่นกัน เมื่อได้สังเกตพฤติกรรมเหล่านี้แล้วรู้สึกว่าเรากำลังเป็นคนแบบนี้อยู่ ไม่ต้องกังวลไป ตราบใดที่รู้ตัวเอง เราก็สามารถเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นได้ เพราะเมื่อเราจัดการกับความคิดของตัวเองได้แล้ว เราก็จะมีพฤติกรรมที่ดีมากยิ่งขึ้น แล้วจะหยุดพฤติกรรมเป็นพิษในตัวเราอย่างไรได้บ้าง?

  1. จริงใจกับผู้อื่น
    บางครั้งสิ่งที่เราอยากแสดงออกมาต่อผู้อื่นอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าพอใจนัก แต่การพูดหรือแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา จะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจเรา และเราก็จะไม่อึดอัดใจต่อตัวเองด้วย
  2. ไม่เปรียบเทียบ
    การที่เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น หรือคิดว่าชีวิต คือ การแข่งขันมากเกินไป จะทำให้เราไม่มีความสุข และอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ที่มีอยู่ได้เช่นกัน
  3. รู้จักปล่อยวาง
    หยุดกดดันตัวเองและหัดปล่อยวางกับชีวิตให้มากขึ้น สามารถช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นพิษเหล่านี้ได้ เราควรภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น ไปพร้อม ๆ กับการไม่ทำร้ายคนรอบข้าง
  4. ใส่ใจตัวเอง
    การที่เรามีพฤติกรรมที่เป็นพิษอาจเป็นเพราะเราใส่ใจและสนใจผู้อื่นมากเกินไป จนลืมที่จะดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเอง การออกกำลังกายหรือออกไปสนุกกับเพื่อนบ้าง อาจทำให้เราผ่อนคลายและลดความตึงเครียดได้มากขึ้น
  5. รักษาสุขภาพจิต
    หากสิ่งที่เราเผชิญอยู่ ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเราเพียงคนเดียว จงอย่าลืมว่ายังมีคนที่คอยอยู่ข้างเราเสมอ และที่สำคัญการไปพบผู้เชี่ยวชาญก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย

มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น แต่จงรู้ไว้ว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ ต่างมีทั้งดีและร้ายเป็นส่วนผสมอยู่ในตัวเอง ในเมื่อวันนี้เรารู้แล้วว่าเราไม่ได้ดีไปซะหมด อย่างน้อยเราก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ วันหนึ่งทุกอย่างจะดีขึ้น เมื่อร่างกายพร้อม จิตใจพร้อม ก็ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ เมื่อถึงวันที่เรารู้สึกว่าตัวเองพัฒนาขึ้น เราจะขอบคุณตัวเองในวันนั้นที่เราไม่หยุดพยายาม

ขอขอบคุณบทความดีดี ที่ผมได้รวบรวมมาเป็นบทความที่มีประโยชน์และเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้ กับผู้ที่สนใจครับ


ที่มา: www.brightsidepeople.com/, www.bettermindthailand.com/, www.powersmethai.com/, www.brandthink.me/