THAITONE อัตลักษณ์ไทยสู่ Tropical Color

THAITONE อัตลักษณ์ไทยสู่ Tropical Color

จากภูมิปัญญาไทย เอกลักษณ์ความเป็นไทย

ThaiTone™ เป็นผลงานวิจัยที่มีการรวบรวมเรื่องของสีไทยและสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องของสีไทย สีไทยโทน เกิดจากเรื่องราวที่ถูกบันทึกลงในวรรณกรรม บทประพันธ์ วัฒนธรรม และความเชื่อในสมัยก่อน รวมถึงภูมิปัญญาช่างศิลป์ของไทยที่สรรหาสีจากธรรมชาติ นำมาสกัด คัดแยกสี และบรรจงผสมกันเพื่อให้ได้สีที่มีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งในอดีตนั้นกลุ่มสีของไทยที่ปรากฏในงานจิตรกรรมมีแม่สี ถึง 5 สี รวมเรียกหมู่สีนี้ว่า “กลุ่มสีเบญจรงค์” ประกอบไปด้วย สีดำ สีขาว สีแดง สีเหลือง และสีคราม แต่ละสีสามารถนำมาผสมให้ได้สีสันที่สวยงามได้เพิ่มขึ้นอีก 10 สี ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ตามงานศิลปะแบบไทย เช่น งานภาพจิตรกรรมฝาผนัง งานศิลป์ของช่างสิบหมู่ ปัจจุบันสีไทยโทนมีถึง 168 เฉด และยังมีชื่อเรียกที่น่าสนใจไม่น้อย โดยชื่อสีไทยส่วนใหญ่นั้นมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปรุงสกัดจากวัสดุธรรมชาติ อย่างเปลือกไม้ แร่ธาตุ พืช หรือเกิดจากการเทียบสีกับธรรมชาติ เพื่อให้คนจินตนาการและนึกภาพออก ส่วนใหญ่นำไปเทียบกับต้นไม้ไทย ดอกไม้ไทย วัตถุไทย

หากพูดถึงสีไทยแล้ว หลายคนอาจนึกถึงงานศิลปะไทยอย่างจิตรกรรมฝาผนัง หัวโขน หรือลายผ้าไทย แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงตัว “เนื้อสี” ของสีไทยอย่างจริงจัง สีไทยจึงนำมาใช้อยู่ในวงจำกัด จนอาจจะลดทอนความรู้ที่มีมายาวนานนี้ให้สูญหายไปความจริงแล้วตัวเนื้อสีของโทนสีไทยนั้นมีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์มาก ทั้งยังมีชื่อเรียกเฉพาะและมีเรื่องราวความเป็นมาเก่าแก่ ดังเช่นที่ คุณไพโรจน์ พิทยเมธี ได้พิสูจน์ให้เห็นผ่านโครงการวิจัยเรื่อง “ไทยโทน” หรือ “Thaitone” คุณไพโรจน์เป็นอาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะจิตรกรรมหัวข้อศิลปนิพนธ์เรื่องสีไทย โดยมุ่งเน้นการสืบหาหลักฐานข้อมูลเรื่องสีไทยเพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล จนกลายมาเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาใช้ในงานศิลปะไปจนถึงประยุกต์ใช้ในงานออกแบบ ซึ่งจะนำไปสู่การสืบทอดองค์ความรู้ของไทยชุดนี้ไม่ให้เลือนหายไป

สีไทยโทนคืออะไร?

ในอดีตกาลบรรดาช่างศิลป์ของไทย ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่าง ๆ ด้วยการสรรหาสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ โดยนำมาสกัด คัดแยก และผสมกันจนเกิดสีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และด้วยภูมิปัญญาอันเก่าแก่นี้ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยของอาจารย์ไพโรจน์ จากการค้นคว้าในเรื่องราวของวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ก่อให้เกิดสีต่าง ๆ ขึ้นมา พร้อมกับเรียกชื่อของสีตามวัตถุดิบนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น “สีแดงชาด” ซึ่งได้มาจากหินชาดก้อน “เขียวใบแค” ที่ได้มาจากการผสมของยางรงกับเขม่า เป็นต้น ซึ่งมีเฉดสีทั้งหมด 168 เฉด และกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์สีในชื่อยี่ห้อว่า “ไทยโทน” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนไทยที่รักในงานศิลปะได้ใช้สีเหล่านี้เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์และความเป็นไทยในผลงานของตนเอง พร้อมกับสร้างสรรค์เสน่ห์ของไทยให้มีความโดดเด่นในตัวชิ้นงานนั้นอีกด้วย

เสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร แฝงไว้ด้วยความร่วมสมัยในการสร้างสรรค์ผลงาน

จุดเด่นของสีไทยโทนนอกจากจะมีเฉดสีที่โดดเด่นแล้ว ภายในเฉดสีต่าง ๆ นั้น ยังสามารถที่จะผสมผสานให้กลายเป็นสีใหม่ ๆ ซึ่งสามารถควบคุมน้ำหนักของสีให้อ่อนหรือแก่ได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ส่วนผสมของสีไทยโทนนั้น เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้สีที่ได้มานั้นมีความแตกต่าง และสามารถนำไปต่อยอดกับไอเดียในการผลิตผลงานต่าง ๆ ได้ ที่สำคัญ สีไทยโทนเป็นสีของคนไทย ทำให้กลายเป็นความภาคภูมิใจที่เมืองไทยนั้นมีสีที่สร้างและใช้ขึ้นมาเอง

สีในไทยโทนมาจากอะไรบ้าง?

ในสมัยก่อนเหล่าช่างศิลป์จะแบ่งจำแนกหมู่สีไทยเป็น 5 หมู่หลักคือ สีดำ ขาว แดง เหลือง คราม รวมเรียกว่า “สีเบญจรงค์” ซึ่งสีแแต่ละเฉดนั้นมาจากการผสมกันของ 5 สีหลัก ทำให้กลายเป็นเฉดสีในผลิตภัณฑ์สีไทยโทนทั้งหมด 168 เฉดสี โดยจะขอยกตัวอย่างที่มาของสีจาก 168 สีให้ได้ดูกันดังนี้

  • สีแดงชาด ซึ่งได้มาจากก้อนชาด หรือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่เรียกว่าซินนาบาร์ รวมไปถึงยังได้จากพืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ต้นชาดหรคุณ” โดยนำเมล็ดหรือก้านมาโขลกละลายน้ำแล้วทำเป็นสีชาดดังกล่าว
  • สีแดงลิ้นจี่ เป็นสีที่ได้มาจากแมลงโคชินิล มีลักษณะเป็นสีแดงเข้มเหมือนแดงก่ำ สมัยก่อนสีนี้ถูกใช้ในการทาปากของชาวงิ้ว
  • สีเหลืองรง เป็นสีที่ได้มาจากยางของไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งเรียกว่า “ต้นรง” มีลักษณะสีเหลืองสดใสกว่าเหลืองดิน
  • สีเขียวใบแค เป็นสีเขียวค่อนข้างดำ เกิดจากการผสมยางรงกับเขม่าหรือหมึกจีน หรือผสมกันระหว่างสีรงกับสีคราม ซึ่งจะได้เป็นสีเขียวใบแคที่เข้มมากยิ่งขึ้น
  • สีฝุ่นขาว เป็นสีที่เกิดจากการออกไซด์ของตะกั่ว โดยใช้ความร้อนจากก๊าซคาร์บอน รมแผ่นตะกั่วให้เกิดสนิมขาว ซึ่งเนื้อสีจะละเอียดและขาวจัด

เพราะอะไร? สีไทยโทน จึงน่าใช้และดีกว่าสีอื่น

จุดเด่นและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องของการแสดงผลงานศิลปะ แต่ตัวสีไทยโทน ยังมีข้อดีอื่น ๆ ที่หากได้ลองใช้แล้ว จะรู้สึกว่าแตกต่างกว่าที่เคยใช้มา และนี่คือข้อดีที่สีไทยโทนน่าใช้กว่าสีอื่น

สีมีความเข้มข้นและสามารถใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องเติมน้ำ ด้วยความเข้มข้นของเนื้อสีในแต่ละขวด และความเหลวที่กำลังดี ตัวสีนั้นจึงมีความชัดและเต็มสี แถมตัวสีมีความข้น ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำในการผสมเข้าไป

น้ำหนักของสีมีความแน่นภายในขวดมีลูกเหล็กทำให้ไม่ตกตะกอนทำให้กระจายมวลและทำให้สีเข้มข้นเสมอกัน จุดเด่นสำคัญที่แตกต่างกว่าสีอื่น ๆ คือการใส่ลูกเหล็กเข้าไปในขวด เพื่อทำให้ตัวสีนั้น ไม่แห้งเร็ว และกระจายมวลสีให้มีความเข้มข้นเสมอกัน ทำให้การลงสีแต่ละครั้งมีความแม่นยำ และทำให้งานดูพิถีพิถันมากขึ้น

เมื่อผสมสองสีเข้าด้วยกัน ทำให้ได้เฉดสีใหม่ที่มีความเข้มข้นและมีน้ำหนักของมวลสีที่เหมือนกับสีที่ผสม นอกจากสีของไทยโทนนั้น จะมีเฉดสีให้ได้เลือกใช้ และสามารถผสมได้เป็นร้อย ๆ สี แล้ว คุณภาพในการผสมสีทั้งสองสีเข้าด้วยกัน มีมวลสีที่กระจายเสมอกัน ให้ความเข้มข้นเท่าเทียมกับตัวสีหลักที่จะผสม และยังสามารถปรับค่าสีที่จะผสมในอัตราส่วนที่เราต้องการได้อย่างอิสระ ทำให้ได้เฉดสีที่พึงพอใจ และทำให้ผลงานศิลปะของคุณสวยยิ่งขึ้น

เนื้อสีไม่หนืด เหลวข้นระบายง่าย ทำให้สามารถสร้างผลงานได้อย่างไม่มีสะดุด สีปกติทั่วไปที่ใช้กันนั้น มักจะมีความเข้มข้นสูง ทำให้การหยดสีนั้น ไม่สามารถระบายได้ทันที เพราะมีความหนืด แต่สำหรับไทยโทนนั้น แม้ว่าเนื้อสีจะมีความเข้มข้นมากแค่ไหน เมื่อหยดสีไปแล้ว มันจะไม่หนืด สามารถใช้พู่กันวาดได้อย่างลื่นไหล เพราะทุกขวดนั้น มีความเข้มข้นและน้ำหนักที่เท่ากัน จะเขย่าก่อนใช้ หรือหยดลงไปทั้ง ๆ ที่ไม่เขย่า ตัวสีก็ยังข้น และเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างดี ทำให้คุณสนุกกับการสร้างงานศิลป์ได้เต็มที่

ชื่อเฉดสีต่าง ๆ เป็นชื่อสีไทย ด้วยความที่ไทยโทน คือ สีไทยแท้ ที่มีหลากหลายเฉดสี โดยทั่วไป สีที่เราใช้มักจะมีชื่อเฉดสีเป็นภาษาอังกฤษ ไทยโทนเลยสร้างอัตลักษณ์และผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างชัดเจน ด้วยการเรียกชื่อเฉดสีต่าง ๆ เป็นชื่อไทยตามเฉดสีและแหล่งที่มาของวัตถุดิบสีนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น สีแดงชาด สีเหลืองรง หรือเขียวใบแค เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความภาคภูมิใจในความเป็นไทยผ่านสีไทยโทนนี้ได้อย่างง่ายดาย

สำหรับชื่อ “ไทยโทน” Thaitone มีที่มาจากยี่ห้อสี Pantone เนื่องจากเขาอยากให้ Thaitone เป็นเหมือนกับค่ายสีแบบ Pantone ในการ “จับกลุ่มสีไทย” และสร้างเป็นเครื่องหมายการค้า เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยมีเป้าหมายหลักคือ การให้คนไทยได้ใช้ “สีไทย” ซึ่งเป็น “สีของชาติ” นั่นเอง

ที่มา:
https://www.facebook.com/thaitonecolor
https://www.bagindesign.com/thaitone-tropical-color/
https://www.baanlaesuan.com/9213/design/lifestyle/thaitone
https://funsecondlife.com/blog/why-thaitone-is-better
https://funsecondlife.com/blog/laern-about-thai-tone