บรรจุภัณฑ์ขนส่ง ปราการแรกในการปกป้องสินค้าสู่ปลายทาง

บรรจุภัณฑ์ขนส่ง ปราการแรกในการปกป้องสินค้าสู่ปลายทาง

ช่วยให้สินค้าที่ผลิตถึงมือผู้บริโภคในสภาพที่สมบูรณ์และช่วยให้การส่งออกมีประสิทธิภาพ

โดย อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก

การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ หากสินค้าขนส่งถึงปลายทางและถึงมือผู้บริโภคในสภาพที่เสียหายหรือใช้งานไม่ได้จะทำให้ลูกค้าไม่ยอมรับและมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อะไรที่ที่ช่วยให้สินค้าที่ผลิตถึงมือผู้บริโภคในสภาพที่สมบูรณ์และช่วยให้การส่งออกมีประสิทธิภาพ? คำตอบคือ บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง ซึ่งเรียกสั้นๆว่า บรรจุภัณฑ์ขนส่ง

ในประเทศกำลังพัฒนามักไม่เห็นความสำคัญของบรรจุภัณฑ์เท่าใดนัก จึงทำให้สินค้าสูญเสียมหาศาล จากการศึกษาหาปริมาณความสูญเสียที่เกิดขึ้นในระบบการขนส่งพบว่าสาเหตุมาจากหลายประการ (ดังรูป) “อุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง” 17% ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สาเหตุที่เหลือรวม 83% สามารถป้องกันได้หรือทำให้ลดลงได้ ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนส่งอย่างเหมาะสม และใช้วิธีการลำเลียงขนส่งอย่างถูกวิธี

ก่อนอื่นมาดูกันว่าสินค้าต้องผจญภัยอันตรายอะไรบ้างในระหว่างการลำเลียงขนส่งกว่าจะถึงปลายทาง

ภัยอย่างแรก ภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว รวมทั้งอุบัติเหตุ เช่น ไฟไหม้ รถชน เรืออับปาง เป็นต้น ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังนั้นสินค้าที่มีมูลค่าสูงๆ เช่น ธนบัตร อาหารที่มีราคาสูง เวชภัณฑ์ เป็นต้น จึงต้องได้รับการบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบเฉพาะเพื่อให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติดังกล่าว

จากแหล่งผลิตกว่าจะถึงตลาดเป้าหมาย สินค้ามีการการเดินทางทั้งระยะใกล้และไกล การเรียงซ้อนของสินค้าในยานพาหนะและในคลังสินค้าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ได้สูงสุดอันจะช่วยลดค่าใช้จ่าย จึงเกิดภัยอย่างที่ 2 การกดทับ หากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้มีความแข็งแรงไม่เพียงพอ รับน้ำหนักการกดทับไม่ได้ หรือมีการลำเลียงที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีคนขึ้นไปเหยียบสินค้า ก็จะทำให้สินค้าแตก หัก บุบ ช้ำ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นสินค้าโค่นล้มลงมาเสียหายได้ ดังรูป

เมื่อใดก็ตามที่ยานพาหนะมีการเคลื่อนที่ก็จะเกิดภัยอย่างที่ 3 การสั่นสะเทือน การจัดเรียงสินค้าในตู้ขนส่งสินค้าที่ไม่แน่นและไม่เป็นระเบียบ หรือการพันสินค้าบนพาเลตไม่แน่นเพียงพอ หรือการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินไปจนมีช่องว่างมาก เมื่อเกิดการสั่นสะเทือน สินค้าและบรรจุภัณฑ์จะมีการเคลื่อนที่ เกิดกระทบกระแทกกัน สินค้าอาจจะโค่นล้มได้ หรืออาจบุบ แตก หรือผิวเป็นรอยขีดข่วนได้ หากบรรจุภัณฑ์ขนส่งไม่แข็งแรงต่อการกดทับด้วย ความเสียหายก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังรูป

ความถี่และความเร่งของการสั่นสะเทือนแตกต่างไปตามประเภทของการขนส่งดังตาราง

ภัยอย่างที่ 4 การกระแทก ที่เกิดขึ้นได้ในทิศทางต่างๆ ไม่ว่าในขณะที่เครื่องบินตั้งลำสู่ท้องฟ้าหรือบินร่อนลงสู่พื้นดิน การเริ่มหรือหยุดการเคลื่อนที่ของยานพาหนะทุกประเภท การเชื่อมต่อของตู้รถไฟ การหมุนตัวหรือเหวี่ยงตัวของเรือเดินทะเลในขณะโต้คลื่นมหาสมุทร สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้บรรจุภัณฑ์เกิดการกระแทกทั้งในแนวราบ แนวตั้ง และแนวเอียง หากลำเลียงสินค้าด้วยแรงงานคนก็มักพบว่ามีอุบัติเหตุการตกกระแทกเกิดขึ้นเสมอ เนื่องจากการขาดความระมัดระวังของผู้ที่ทำการลำเลียงสินค้า ผลของการกระแทกเหล่านี้ทำให้บรรจุภัณฑ์เสียหาย เช่น กล่องบุบ ถุงปริแตก ขวดพลาสติกบุบ ขวดแก้วแตก เป็นต้น ส่งผลให้สินค้าที่บรรจุอยู่ภายในเสียหายตามไปด้วย

ภัยอยางที่ 5 สภาพดินฟ้าอากาศ ได้แก่ ความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิของอากาศซึ่งแตกต่างกันตามภูมิภาค ดังตาราง นอกจากนี้ยังมีฝน ละอองน้ำ ฝุ่น ทราย ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพของสินค้าหากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ไม่เหมาะสม

ภัยอย่างที่ 6 สิ่งมีชีวิต หากสภาพแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะ จะมีแมลงและหนู ซึ่งจะกัดแทะทำลายสินค้าได้หากบรรจุภัณฑ์ปิดไม่มิดชิดเพียงพอ หากอากาศเปียกชื้น ขาดการท่ายเทอากาศ เชื้อราจะเติบโตที่กล่องกระดาษที่เปียกชื้นได้ ส่งผลให้สินค้าไม่ได้มาตรฐานและลูกค้าไม่ยอมรับ ดังรูป

ความเสียหายที่เกิดจากภัยอันตรายที่กล่าวมาทั้ง 6 อย่างนี้สามารถป้องกันได้หรือ ผ่อนหนักเป็นเบาได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์ ตัวอย่างบางประเด็น ได้แก่

การกดทับเนื่องจากการเรียงซ้อนในคลังสินค้า สามารถลดความรุนแรงได้หากใช้ระบบการเก็บที่กั้นเป็นชั้น (rack storage system) ดังรูป และจัดเรียงสินค้าบนพาเลตอย่างถูกต้อง รวมถึงการออกแบบความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรับน้ำหนักกดทับที่ซ้อนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับประเภทของสินค้า

การตกกระแทกในระหว่างการลำเลียงสินค้า สามารถลดได้ด้วยการใช้ระบบการขนถ่ายหน่วยใหญ่ (unit load system) โดยการจัดเรียงสินค้าบนพาเลต แล้วใช้สายรัดหรือฟิล์มพลาสติกแบบหดหรือฟิล์มพลาสติกแบบยืดพันรอบสินค้าให้แน่นอย่างพอดีเพื่อป้องกันการโค่นล้ม หากต้องการให้คุ้มครองได้ดีขึ้นก็ใช้แผ่นกระดาษเสริมตรงขอบมุม (corner post) ทุกด้านก่อนการพันด้วยสายรัด ดังตัวอย่างในรูป

การขนถ่ายหน่วยใหญ่ดังกล่าวให้ประโยชน์ในด้านอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการลำเลียงและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง จึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

ความเสียหายเนื่องจากการสั่นสะเทือน สามารถป้องกันได้ด้วยเทคนิคการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม หรือใช้วัสดุกันกระแทก (cushioning material) คั่นหรือสอดเพื่อให้ดูดซับช็อกที่เกิดขึ้น อาทิ แผ่นกระดาษลูกฟูก พลาสติกอัดอากาศ ฯลฯ กั้นในช่องว่างนั้น

นอกจากนี้การบรรจุสินค้าในตู้ขนส่งต้องจัดเรียงให้เป็นระเบียบและให้แน่นพอดี หากมีช่องว่างก็ควรใช้วัสดุกันกระแทก เช่น ถุงอัดอากาศหรือกระดาษลูกฟูกกั้นในช่องว่างในตู้ขนส่งเพื่อป้องกันความเสียหายจากการสั่นสะเทือน

สินค้าที่เสื่อมคุณภาพเนื่องจากน้ำ ไอน้ำ ละอองน้ำฝน บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ต้องปิดมิดชิด ทำจากพลาสติกที่ไม่ดูดน้ำ หริอ ทำจากกระดาษเกรดเฉพาะที่มีค่าการดูดน้ำต่ำ การใช้แผ่นผ้าใบปูทับคลุมสินค้าที่วางเรียงในรถบรรทุกแบบเปิดจะช่วยลดปัญหานี่ได้ หากการขนส่งใช้เวลานานโดยทางเรือ จากประเทศไทยไปยังปลายทางที่มีอากาศเย็นและความชื้นต่ำกว่าอากาศในบ้านเรา อาจจำเป็นต้องใช้สารดูดความชื้นใส่ไปในตู้ขนส่งสินค้าเพื่อรักษาสภาพอากาศรอบ ๆ สินค้าในตู้ให้แห้ง เนื่องจากอากาศในตู้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ทำให้กล่องกระดาษลูกฟูกหรือสินค้าเปียกชื้น

การป้องกันการบนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ แมลง และสิ่งสกปรกต่าง ๆ สามารถทำได้โดยการรักษาบริเวณผลิตและคลังสินค้าให้ได้สุขลักษณะทีดี อากาศถ่ายเท ไม่เปียกชื้น นอกจากนี้ยังควรปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ให้แน่นหนาเพื่อป้องกันแมลงและหนูกัดแทะ

ทำอย่างไรให้มั่นใจว่าได้เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว สามารถป้องกันความเสียหายในระหว่างการขนส่งได้? คำตอบคือ ผู้ประกอบการผลิตสินค้าต้องมีความรู้ในด้านเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์ เพื่อออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ขายปลีกและบรรจุภัณฑ์ขนส่งสำหรับสินค้าของตน ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนส่ง (ส่วนใหญ่เป็นกล่องกระดาษลูกฟูก) ต้องเริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการลำเลียงขนส่งและเก็บในคลังสินค้า เช่น ความสูงในการเรียงซ้อน วิธีในการลำเลียงและขนส่ง ระยะเวลาในการขนส่งและการเก็บรักษาในคลังสินค้า สภาพอากาศในระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษา เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปใช้กับการออกแบบกล่องกระดาษลูกฟูก ทำต้นแบบ ประเมินความแข็งแรงของต้นแบบด้วยการทดสอบ ถ้าเหมาะสมก็จัดทำเป็นข้อกำหนดของกล่องกระดาษลูกฟูกสำหรับการสั่งซื้อมาใช้งาน

การทดสอบความแข็งแรงของกล่องกระดาษลูกฟูกเพื่อการขนส่งมี 2 วิธี คือ

  1. วิธีการขนส่งจริง (Actual Shipping Test) บรรจุสินค้าในกล่องต้นแบบ แล้วลำเลียงขนส่งในสภาพที่จะใช้จริงไปถึงปลายทาง ประเมินผลการทดสอบโดยการตรวจสอบสภาพของกล่องต้นแบบและสินค้าเมื่อถึงปลายทาง
  2. วิธีการจำลองโดยการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (Simulation Performance Test) บรรจุสินค้าในกล่องต้นแบบ แล้วทดสอบโดยใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการตามวิธีการทดสอบมาตรฐานสากล ประเมินผลการทดสอบโดยการตรวจสอบสภาพของกล่องต้นแบบและสินค้าหลังการทดสอบทั้ง 2 วิธีต่างก็มีข้อดีและข้อเสีย สรุปในตารางต่อไปนี้

จากตารางสรุปได้ว่าการจำลองวิธีการทดสอบในห้องปฏิบัติการมีข้อดีมากกว่าวิธีการทดสอบแบบขนส่งจริง ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่จึงนิยมใช้วิธีนี้มากกว่า หากผู้ประกอบการผลิตสินค้าไม่มีวิธีทดสอบในห้องปฏิบัติการของตนเอง แนะนำให้ใช้การทดสอบตามมาตรฐานสากล ดังนี้

เนื่องจากการจำลองสภาวะการขนส่งให้ใกล้เคียงกับสภาวะจริงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อวิธีทดสอบในห้องปฏิบัติการ ดังนั้น International Safe Transit Association (ISTA) ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้พัฒนาวิธีการทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งหลายชุด แต่ละชุดมีรายละเอียดต่างกันตามสภาพการลำเลียงขนส่งและสภาวะอากาศ นอกจากนี้ยังได้ร่วมพัฒนาวิธีทดสอบกับบริษัท Amazon สำหรับการขนส่งสินค้าแบบ E-Commerce โดยเฉพาะที่มีชื่อว่า ISTA Project6-Amazon.com ในปัจจุบันการทดสอบตามมาตรฐาน ISTA ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง ผู้ประกอบการผลิตสินค้าสามารถใช้บริการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองจาก ISTA (ISTA Certified Laboratory) เช่น ห้องปฏิบัติการของศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย เป็นต้น

การค้าเสรีและการเติบโตอย่างมากของ E-Commerce ส่งผลให้ความรุนแรงของการแข่งขันสินค้าในตลาดโลกเข้มข้นยิ่งขึ้น การพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดีและเป็นไปตามความต้องการของตลาดแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว จำเป็นต้องมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าบรรจุภัณฑ์ขายปลีกจะเป็นประเภทใด ย่อมต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ขนส่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นปราการในการปกป้องกันสินค้ามิให้เสียหายจากแหล่งผลิตจนถึงปลายทาง ความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยจะมองข้ามไม่ได้