คุณก้องฟ้า พันธ์พิกุล
นายกสมาคมธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ภาคเหนือ
THE NORTHERN PRINTING Association
ยกระดับคุณภาพงานพิมพ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
สมาคมธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ภาคเหนือ (THE NORTHERN PRINTING Association) เป็นองค์กรที่รวมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สร้างความสัมพันธ์อันดีและผลักดันให้เกิดความเจริญเติบโตในธุรกิจ ปัจจุบัน คุณก้องฟ้า พันธ์พิกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ภาคเหนือ ได้ให้เกียรติกับทีมงานวารสาร Thai Print ในการบอกเล่าเรื่องความเป็นมาของสมาคมธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ภาคเหนือ
สมาคมธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ภาคเหนือ มีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวของผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่มีความรู้จักสนิทสนมกัน จัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์อย่างไม่เป็นทางการ ต่อมาเนื่องจากมีประเด็นปัญหาเรื่องการฟ้องเรียกค่าการละเมิดลิขสิทธิ์ฟ้อนต์จากสมาชิกในกลุ่มและในเขตภาคเหนือตอนบน จึงมีการรวมกลุ่มอย่างเป็นทางการ จัดตั้งเป็นชมรมธุรกิจสิ่งพิมพ์ภาคเหนือ (The Northern Printing Business Club) โดยมีประธานก่อตั้งคือ คุณสันติภาพ พันธ์พิกุล และในปี 2560 คุณสวัสดิ์ เรือนตระกูล ประธานชมรมฯ ในขณะนั้น ได้ยื่นจดทะเบียนเป็นสมาคมธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ภาคเหนือ (The Northern Printing Association) โดยมีคุณพัชร งามเสงี่ยม เป็นนายกสมาคมฯ ท่านแรก ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ภารกิจหลักของสมาคม
- สนับสนุนสมาชิกในการพัฒนาคุณภาพและบริการงานพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทั้งด้าน Hardware และ Software
- สร้างความร่วมมือและความสามัคคีในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
- ส่งเสริมให้สมาคมเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
- ฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และร่วมกับสถาบันการศึกษาในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการเติบโตและขยายตัวของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
- ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามสืบต่อไป
สิ่งที่ทำให้สมาคมเป็นที่รู้จัก
สมาคมฯ ได้จัดให้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับสมาชิกและสังคมโดยรวม เช่น โครงการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานร่วมกับสถาบันการศึกษา, โครงการส่งเสริมและพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการ, โครงการศึกษาดูงาน ฯลฯ ทำให้สมาคมเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มตัวแทนจำหน่ายกระดาษ เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ เกี่ยวกับการพิมพ์ หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการพิมพ์
จุดเด่นของธุรกิจการพิมพ์ของประเทศไทยที่สร้างความโดดเด่นในตลาดโลก
ในปัจจุบันการผลิตงานพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ถือเป็นมาตรฐานเบื้องต้นของผู้ประกอบการ นอกจากนั้นความรวดเร็วในการผลิต และราคาที่เหมาะสม ยังเป็นจุดเด่นของอุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศไทย ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- คุณภาพและราคาที่เหมาะสม การพิมพ์ในประเทศไทยมีคุณภาพสูงและราคาสมเหตุสมผล ทำให้เป็นที่นิยมในการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ
- ความยืดหยุ่นในการผลิต ธุรกิจการพิมพ์ในประเทศไทยมีความยืดหยุ่นในการผลิตที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ และปริมาณจากน้อยไปหามาก
- การพัฒนามาตรฐานการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากความตื่นตัวในการขอการรับรองมาตรฐานทางการพิมพ์ ISO12647-2 หรือ G7 Master Certification และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตทั้ง Hardware และ Software ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดระยะเวลาผลิต ซึ่งช่วยให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในต่างประเทศ
- กระบวนการผลิตแบบรักษาธรรมชาติ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ตระหนักและมุ่งเน้นตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) จากข้อได้เปรียบที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและมีศักยภาพที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
- ความร่วมมือทางการค้าและการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ เป็นการขยายโอกาสให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการพิมพ์
- ตำแหน่งภูมิศาสตร์ที่ดีของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของ ASEAN ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และด้วยความพร้อมและศักยภาพของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทำให้การขนส่งผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ในระยะเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจการพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการพิมพ์ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากสื่อดิจิตอล (Digital Media) ส่งผลผู้ประกอบการพิมพ์ประเภทหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ปิดตัวลงเนื่องจากงบประมาณการโฆษณาในสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ลดลง และผู้ประกอบการพิมพ์ทั่วไปประเภทสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ได้รับผลกระทบจากสื่อโฆษณาอื่น ๆ ที่เข้ามาแทนที่ เช่น สื่อดิจิตอลและสื่อโฆษณากลางแจ้ง
อย่างไรก็ตามเนื่องจากความสามารถของอุปกรณ์และเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีความรวดเร็ว และการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลในทางบวกกับผู้ประกอบการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ จากการขยายตัวของการสั่งสินค้าออนไลน์เพื่อลดการสัมผัส จนเป็นความเคยชินในการสั่งสินค้าและอาหารออนไลน์ในปัจจุบัน ส่งผลให้ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
อุตสาหกรรมการพิมพ์ต้องปรับตัวอย่างไร
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์ต้องมีการปรับตัวอย่างมากในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งแนวทางที่ควรพิจารณา ได้แก่ การลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยทั้งในด้าน Hardware และ Software ทำให้สามารถผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
- การพัฒนาบุคลากร การฝึกอบรม พัฒนาทักษะ และเสริมสร้างความรู้ให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ได้งานพิมพ์ที่มีความคุณภาพ ส่งมอบได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
- การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งและการวางแผนกลยุทธ์
- ความยืดหยุ่นในการผลิต ผู้ประกอบการต้องสามารถผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย ในรูปแบบและปริมาณตามความต้องการลูกค้า
- การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ จากรูปแบบธุรกิจแบบออฟไลน์ ผู้ประกอบการอาจพิจารณาขยายช่องทางดิจิตอล เพื่อขยายตลาด เพิ่มกลุ่มลูกค้า
- ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การเอาใจใส่ถึงความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาตั้งแต่การออกแบบกระบวนการผลิตที่เหมาะสม การใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการกำจัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต
นวัตกรรมสำคัญต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์อย่างไร
อุตสาหกรรมการพิมพ์สามารถนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการพิมพ์สมัยใหม่ (การพิมพ์ดิจิตอล, การพิมพ์ 3 มิติ, การพิมพ์อัจฉริยะ รวมถึงการเชื่อมต่อระหว่างการพิมพ์และเทคโนโลยี IOT) วัสดุการพิมพ์รูปแบบใหม่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บข้อมูลและประมวลผลในกระบวนการผลิต ฯลฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ผู้ประกอบอุตสาหกรรมการพิมพ์ควรนำ นวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความสูญเสีย ลดการใช้ทรัพยากร และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถสร้างงานพิมพ์คุณภาพและราคาที่สูงขึ้น
จุดมุ่งหมายในอนาคตของสมาคม
ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เสริมสร้างความสามัคคี ส่งเสริมทายาทธุรกิจ ยกระดับคุณภาพงานพิมพ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก