ขวดแก้วและกระป๋องโลหะ: ปลอดภัย คุ้มครอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดย อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก
บทความที่ผ่านมา 3 เรื่องล่าสุดเกี่ยวกับข้อแนะนำในการใช้กล่องกระดาษ ถุงพลาสติก และขวดพลาสติกให้ปลอดภัย คุ้มครอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บทความนี้เป็นเรื่องของขวดแก้วและกระป๋องโลหะ ซึ่งมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมอาหาร (รวมเครื่องดื่ม) ในประเทศ โดยมีการใช้ขวดแก้วประมาณ 20% และกระป๋องโลหะประมาณ 10% มีการเติบโตประมาณ 4% ต่อปี เมื่อเร็ว ๆ นี้สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยได้รายงานว่า เครื่องดื่มอัดก๊าซที่ผลิตในประเทศมีการใช้ขวด PET 53% ขวดแก้ว 28% กระป๋องโลหะ 12% และอื่น ๆ 7%
ขวดแก้ว
ขวดแก้วมีจุดเด่นตรงที่มีความใส ปลอดภัยในการสัมผัสกับอาหาร ไม่ว่าอาหารจะเป็นประเภทใดหรือมีสมบัติอย่างใด สามารถป้องกันไอน้ำและก๊าซได้ดีมาก (ถ้าฝาปิดแน่นหนา) ทำให้คุ้มครองผลิตภัณฑ์ได้นาน หากเลือกแบบขวดและฝาที่เหมาะสมจะสามารถฆ่าเชื้อด้วยความร้อน (sterilization) ได้ จุดด้อยของขวดแก้ว คือ ราคาสูง แตกง่าย ไม่ทนต่อแรงกระแทก ใช้พลังงานสูงในการผลิต และน้ำหนักมากซึ่งทำให้ค่าขนส่งสูงตามไปด้วย ขวดแก้วนิยมใช้บรรจุเครื่องดื่ม ซอสปรุงรส แยม ผักในน้ำเกลือ ตัวอย่างดังรูป
ด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตขวดแก้วต้องใช้ความร้อนสูงถึง 1,500 °C เพื่อหลอมวัตถุดิบให้กลายเป็นน้ำแก้ว ประกอบกับขวดแก้วมีน้ำหนักมาก ส่งผลให้การผลิตและขนส่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เป็นที่น่ายินดีว่าอุตสาหกรรมผลิตขวดแก้วในบ้านเรามีการตื่นตัวในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง โดยใช้หลักการ 3R ดังรูป
การลดน้ำหนัก: ใช้เทคโนโลยีในการออกแบบและผลิตขวดแก้วให้ผนังขวดบางลง แต่ยังรักษาความแข็งแรงได้ดังเดิม ตัวอย่างดังรูป
การใช้ซ้ำ: การออกแบบขวดแก้วให้มีรูปทรง ผนัง และน้ำหนักเหมาะสม ไม่แตกง่าย เพื่อให้สามารถใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ได้หลายครั้ง แต่ต้องมีระบบลอจิสติกส์ที่ดีรองรับในการเก็บรวบรวมขวดที่ใช้แล้ว รวมทั้งมีระบบในการทำความสะอาดขวดเปล่าที่ดีและทันสมัยก่อนนำมาใช้บรรจุอาหารซ้ำ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
การรีไซเคิล: ต้องมีระบบในการรวบรวมขวดแก้วที่ใช้แล้วสู่โรงงานผลิตขวด บดเป็นเศษแก้ว (cullet) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดแก้วใหม่ โดยสามารถผสมกับวัตถุดิบใหม่ได้ถึง 55-75% ทำให้ลดพลังงานในการผลิตได้อย่างมหาศาล
กระป๋องโลหะ
กระป๋องโลหะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีจุดเด่นตรงที่มีความแข็งแรงสูง คงรูป ป้องกันไอน้ำและก๊าซได้ดีมาก ทึบแสง ทนอุณหภูมิในการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงได้ ทำให้สามารถคุ้มครองผลิตภัณฑ์อาหารได้นาน จุดด้อยของกระป๋องโลหะ คือ ราคาสูง ใช้พลังงานในการผลิตสูง น้ำหนักมาก (หากกระป๋องทำด้วยแผ่นเหล็ก) ทำให้ค่าขนส่งสูง นอกจากนี้การปิดฝาให้สนิทต้องใช้เครื่องปิดฝาโดยเฉพาะ
วัตถุดิบในการผลิตกระป๋อง ได้แก่ แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก (Tinplate) แผ่นเหล็กปลอดดีบุก (Tin-Free Steel) และอะลูมิเนียม รวมทั้งแลคเกอร์ที่มีหลายประเภท การเลือกกระป๋องที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงต้องคำนึงถึงสมบัติและองค์ประกอบของอาหาร เช่น ความเป็นกรด ปริมาณโปรตีน และกำมะถัน ซึ่งมีผลต่อการเลือกวัสดุที่ใช้ทำกระป๋องและประเภทของแลคเกอร์ที่เคลือบ ตลอดจนสภาวะการฆ่าเชื้ออาหารนั้น กระป๋องมีทั้งแบบ 3 ชิ้นและ 2 ชิ้น บรรจุอาหารได้หลากหลาย ดังรูป
การใช้กระป๋องบรรจุอาหารให้ปลอดภัย ต้องยึดตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมและประกาศกระทรวงสาธารณสุข ต่อไปนี้
• มอก. 90-2530 กระป๋องบรรจุอาหาร
• มอก. 16-2536 แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก
• มอก. 1279-2538 แผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม
• มอก. 735-2533 แลคเกอร์สำหรับใช้กับภาชนะบรรจุอาหาร
• ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 193 การตรวจประเมิน สถานที่ผลิตอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตกระป๋องได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยใช้หลักการต่อไปนี้
การลดน้ำหนัก: ทำได้หลายวิธี เช่น
– ลดน้ำหนักดีบุกที่เคลือบแผ่นเหล็ก จาก 2.8 ก./ตร.ม. เป็น 0.5 ก./ตร.ม.
– ออกแบบกระป๋องอะลูมิเนียมให้บางลง หรือทำให้ผิวเป็นลอนเพื่อลดความหนาของตัวกระป๋อง แต่ยังคงสมบัติการใช้งานได้ดังเดิม
– ลดขนาดปากกระป๋อง เพื่อให้ขนาดของฝาเล็กลง
– เคลือบผิวโลหะด้วย PET แทนการเคลือบด้วยแลคเกอร์ เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยบริษัทโตโยไซกัน ประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเรียกเฉพาะว่า EcoCan ข้อดี คือ สามารถลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตได้ และลดน้ำหนักวัสดุได้ 30% มีผลให้ใช้พลังงานในการขนส่งลดลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17% นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยมากกว่ากระป๋องที่เคลือบด้วยแลคเกอร์ เพราะปราศจากสาร Bisphenol A (BPA) ซึ่งพบในแลคเกอร์ อาหารที่ปนเปื้อน BPA และเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ปัจจุบันได้มีการผลิตกระป๋องที่เคลือบผิวด้วย PET ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังรูป (สังเกตสีของผิวในกระป๋องเป็นสีขาว)
การรีไซเคิล: กระป๋องทุกชนิดสามารถรีไซเคิลได้ โดยใช้ความร้อนสูงถึง 1,400 °ซ.ในการหลอม ได้เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ กระป๋องอะลูมิเนียมได้รับความนิยมนำไปรีไซเคิลสูงสุด ใช้ผลิตเป็นชิ้นส่วนล้อแม็กซ์ของรถยนต์ หากต้องการใช้อะลูมิเนียมที่ได้จากการรีไซเคิลไปผลิตเป็นกระป๋องบรรจุอาหาร ต้องมีการใช้เทคโนโลยีเฉพาะเพื่อให้ได้เกรดของอะลูมิเนียมที่ปลอดภัยในการสัมผัสอาหาร ในปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมให้เป็นเกรดสัมผัสอาหารแล้ว แต่มีกำลังการผลิตเพียง 25% ของความต้องการทั้งหมด จึงจำเป็นต้องสั่งอะลูมิเนียมจากต่างประเทศอีก 75% สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมบรรจุอาหาร
ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน
“การใช้กระป๋องอะลูมิเนียมบรรจุเครื่องดื่ม ควรคำนึงถึงสมบัติในด้านความยากง่ายในการเสื่อมคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุ ถ้าใช้บรรจุเครื่องดื่มประเภทอัดก๊าซ กาแฟและชาพร้อมดื่ม นับว่าเหมาะสมเพราะกระป๋องทำหน้าที่รักษาคุณภาพเครื่องดื่มให้มีอายุการเก็บที่นานขึ้นได้ อีกทั้งเครื่องดื่มมีมูลค่าค่อนข้างสูง แต่ถ้าใช้บรรจุน้ำดื่มธรรมดา ไม่เหมาะสม เพราะน้ำดื่มไม่เสื่อมคุณภาพง่ายและมูลค่าไม่สูง จึงดีเกินความจำเป็น นอกจากนี้ราคากระป๋องสูงกว่าการใช้ขวด PET มาก”
สรุป
จาก 4 บทความในเรื่องการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆกับอาหาร จะเห็นว่าทุกวัสดุและทุกประเภทต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อย สามารถใช้ทดแทนกันได้ และใช้ร่วมกันได้ สิ่งที่ผู้ผลิตอาหารต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ ด้านความปลอดภัยในการสัมผัสอาหารและสามารถป้องกันสารปนเปื้อนที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพได้ จากนั้นต้องพิจารณาในด้านการคุ้มครองรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการเก็บในเวลาที่กำหนด
ในด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัตถุประสงค์ คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อันเป็นเป้าหมายของโลกและของประเทศไทย เพี่อการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และลดก๊าซเรือนกระจก ไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งสามารถทำงานด้านนี้ได้สำเร็จ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าและผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องร่วมมือกันในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักวัสดุอย่างพอดี ไม่มากเกินความจำเป็นที่ทำให้ต้นทุนสูง หรือไม่น้อยเกินไปจนเสียรูปได้ง่ายหรือคุ้มครองผลิตภัณฑ์ไม้ได้ รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ และมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์นั้น สำหรับผู้บริโภค จำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการแยกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วตามชนิดของวัสดุเพื่อรวบรวมส่งเข้ากระบวนการรีไซเคิล ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรท้องถิ่นที่รับผิดชอบการจัดการขยะก็ต้องมีระบบที่ได้ประสิทธิภาพอย่างแท้จริง รวมทั้งมีมาตรการการรณรงค์และสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจง่ายและปฏิบัติอย่างถูกต้อง สร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภคตระหนักเพื่อแยกขยะที่ต้นทางหลังบริโภคผลิตภัณฑ์แล้ว ไม่ว่าจะในบ้าน หรือในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต สวนสาธารณะ เพราะทุกคนเป็นผู้บริโภคและเป็นผู้ก่อขยะ จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน