Carbon footprint Calculation for Printing Product

Carbon footprint Calculation for Printing Product
การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์

ดร.ชานนท์ วินิจชีวิต จากระบบ smartgreeny.com

การพัฒนาการผลิตสิ่งพิมพ์วันนี้อาจจะมองได้หลาย ๆ มิติ ทั้งการพัฒนาด้านกระบวนการผลิต หรือ ว่าการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าในสิ่งพิมพ์แต่ละกลุ่ม ในปัจจุบันยังมีการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งกำลังเป็นรูปแบบที่จะเข้ามาเป็นส่วนจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ กลุ่มการพัฒนาด้านสิ่งพิมพ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าพูดเรื่องการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในธุรกิจสิ่งพิมพ์แล้ว ก็มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้า หรือ วัตถุดิบที่รักษ์โลก การใช้วัตถุดิบ รีไซเคิล หรือ การใช้พลังงานสะอาดต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการผลิต เป็นต้น แต่ไม่ว่านวัตกรรมไหนที่ผู้ประกอบการได้นำเข้ามา ก็ควรถูกคำนวณโดยใช้หลักการที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ออกไปด้วย โดยผลลัพธ์สำคัญตัวหนึ่งที่ออกมาก็คือ ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ที่เราเรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ นั่นเอง (Carbon Footprint for Product) ซึ่งในบทความนี้เราจะเน้นที่ผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ สมุด แผ่นพับ โบชัวร์ ใบปลิว เป็นต้น

การผลิตสิ่งพิมพ์ ถือเป็นการผลิตรูปแบบหนึ่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission) ไม่มาก็น้อย ไม่ว่ากระดาษที่ใช้หมึก แต่ละสี กาว ไฟฟ้า เครื่องจักรทุกประเภท สารเคมี หลอดไฟที่ใช้สอดสว่างเวลาทำงานพิมพ์ หรือแม้แต่ผ้าเช็คเครื่องพิมพ์ เป็นต้น ถือเป็นสิ่งหนึ่งในการเพื่อสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ฉะนั้นคงถือได้ว่าเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของผู้บริหารที่ต้องทำการควบคุม และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ แต่ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจในการคำนวณการเกิดคาร์บอนฟุตพริ้นของผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์เสียก่อน

1. สโคปของการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้น

คือ กรอบแนวทางในการคำนวณ ว่าเราต้องใช้หลักการไหนเป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณ ส่วนใหญ่จะใช้แนวทางจากทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ส่วนของข้อกําหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์สำหรับธุรกิจ PCR “Commercial Printing Products”

2. การเก็บข้อมูล

2.1 ขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ (Material acquisition)
พิจารณาวัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ในขั้นการผลิต ตั้งแต่การถลุง สกัด สินแร่จากธรรมชาติ การแปรรูปวัตถุดิบ และการขนส่งมายังโรงงานการผลิต

2.2 ขั้นการผลิต
พิจารณาวัตถุดิบ พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้องและนํามาใช้ในการผลิต การบรรจุ รวมถึงการจัดการมลพิษและของเสียที่เกิดขึ้น

2.3 ขั้นการขนส่ง
พิจารณาถึงการขนส่งผลิตภัณฑ์เป้าหมายจากแหล่งผลิตถึงแหล่งกระจายสินค้าหรือคลังสินค้าที่รอส่งให้กับผู้บริโภคหรือร้านค้าปลีก

2.4 ขั้นการใช้งาน
พิจารณาถึงการใช้วัสดุหรือทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อให้รักษาสภาพของผลิตภัณฑ์และใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์และตลอดอายุการใช้งานที่กําหนดไว้

2.5 ขั้นกําจัดการซากหลังใช้งาน
พิจารณาถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อจัดการของเสียที่เกิดขึ้นหลังจากหมดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นแปรสภาพผลิตภัณฑ์จากการกําจัดทิ้ง

3. การคำนวณและการแสดงผล

3.1 ใช้ฐานข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูล นำมา คูณ กับค่า Emission Factor: EF (ซึ่งสามารถหาได้จากในเว็บไซต์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน))

3.2 นำข้อมูลค่าคาร์บอนฟุตพริ้นขอแค่ละส่วนในการเก็บข้อมูลนำมาบวกรวมกัน และนำมาเฉลี่ยตามจำนวนที่ผลิต เพื่อได้ข้อมูล คาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นต่อหนึ่งผลิตภัณฑ์ และนำตัวเลขมาใช้ในการสื่อสารนั้นต่อไป

การนำตัวเลขคาร์บอนฟุตพริ้นสำหรับผลิตภัณฑ์มาแสดงในผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์นั้น ถึงดูผิวเผินว่าจะเป็นการบงบอกว่าเราในฐานผู้ผลิต ได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปปริมาณเท่าไหร่ แต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก ที่เราจะได้รู้เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาหาวิธีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมการผลิตสิ่งพิมพ์นี้ต่อไป