ขวดพลาสติกสำหรับอาหาร: เลือกใช้ให้เป็น ปลอดภัย คุ้มครอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขวดพลาสติกสำหรับอาหาร: เลือกใช้ให้เป็น ปลอดภัย คุ้มครอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดย อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก

บทความนี้ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วซึ่งกล่าวถึงถุงพลาสติก เนื่องจากขวดพลาสติกเป็นประเภทหนึ่งของบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูปที่มีการใช้สูงสุด ไม่ว่ากับอาหาร ยา เครื่องสำอาง สินค้าทำความสะอาดต่าง ๆ บทความนี้โดยจะเน้นเฉพาะขวดบรรจุอาหารเท่านั้น

ปลอดภัย

บรรจุภัณฑ์พลาสติกทุกชนิดที่สัมผัสอาหารต้องมีสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 435 ดังนั้นขวดพลาสติก ไม่ว่าทำมาจากเม็ดพลาสติกชนิดใดเม็ดใหม่หรือเม็ดรีไซเคิล ต้องได้คุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ ในกรณีของภาชนะพลาสติกคงรูป เช่น ถาด ถ้วย ขวด หากต้องการให้สามารถอุ่นร้อนในเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย จำเป็นต้องผ่านข้อกำหนดใน มอก. 2493-2556 เรื่องภาชนะพลาสติกสำหรับเตาอบไมโครเวฟสำหรับการอุ่นครั้งเดียว ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับแล้ว

คุ้มครองผลิตภัณฑ์

พลาสติกที่ใช้ทำขวดบรรจุอาหารมีหลายชนิด ที่นิยมได้แก่ HDPE, PET, PP ตัวอย่างการใช้ดังรูป

ขวดพลาสติก 3 ชนิดเหล่านี้ให้สมบัติต่างกันดังสรุปในตาราง (ภายใต้เงื่อนไขว่าขวดรูปทรงเดียวกัน ขนาดเท่ากัน และความหนาเท่ากัน) ดังนั้นการเลือกใช้จึงจำเป็นต้องทราบสมบัติและการใช้งานของผลิตภัณฑ์

ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความสามารถในการรีไซเคิลได้ พลาสติกที่ทำขวดล้วนแต่สามารถรีไซเคิลได้ การใส่เครื่องหมายรีไซเคิลตามชนิดที่ก้นขวดเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรวบรวมและแยกตามชนิดหลังบริโภคอาหารในขวดแล้ว นำสู๋กระบวนการรีไซเคิลในเชิงการค้าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (recycled plastic resins เขียนสั้น ๆว่า r-plastic) หรือเรียกว่า PCR (Post-Consumer Recycled) resins เป็นเม็ดพลาสติกที่ได้จากการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผ่านการใช้บรรจุผลิตภัณฑ์แล้ว นำมาทำความสะอาด หลอม อัดรีด แล้วตัดเป็นเม็ด เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่น เม็ด r-PE ใช้ผลิตเป็นถุงดำ ถังขยะ แผ่นปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ r-PP ใช้ผลิตเป็นกล่องแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนรถยนต์ กระถางต้นไม้ r-PET ใช้ผลิตเป็นเส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก รองเท้า เป็นต้น

การใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เป็นแนวทางในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะลดการใช้พลาสติกใหม่อันช่วยลดทรัพยากร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถใช้ผสมกับพลาสติกใหม่ หรือ ใช้ทั้งหมดก็ได้ ขึ้นกับผลกระทบต่อสมบัติของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการ เป็นที่น่ายินดีว่าในปัจจุบันมีการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ทั้งกับอาหารและไม่ใช่อาหารแล้ว ดังรูป หากใช้กับอาหารต้องมั่นใจว่าปลอดภัยในการสัมผัสอาหารตามกฎระเบียบของประเทศที่จำหน่ายสินค้า

ในกรณีของประเทศไทย ต้องยึดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 435 ซึ่งครอบคลุมการใช้พลาสติกรีไซเคิลด้วย โดยแบ่งเป็นหลายระยะ ระยะแรกได้อนุญาตให้ใช้ r-PET เท่านั้น เนื่องจากขวด PET มีการใช้สูงสุด ระยะต่อไปจะครอบคลุมพลาสติกรีไซเคิลชนิดอื่น ผู้ผลิตพลาสติกรีไซเคิลแต่ละรายต้องได้รับการประเมินในด้านความปลอดภัยจาก อย. หากผ่าน ก็จะได้รับอนุมัติให้ใช้กับการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารได้ ดังรูป ในเร็ว ๆ นี้คาดว่าจะมีผู้ผลิตเม็ด r-PET ที่ได้รับการอนุมัติเพิ่มขึ้น และมีการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารมากขึ้น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน

การใช้ขวด PET ให้คุ้มค่าในเชิงทรัพยากรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องมีการสื่อสารอย่างถูกต้องผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งการพิมพ์ที่ฉลาก ตลอดจนการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญและหันมาแยกทิ้งขยะตามชนิดของวัสดุ เพื่อการให้ง่ายต่อรวบรวมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ตัวอย่างดังรูป

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนขอตอบคำถามที่เกี่ยวกับขวด PET ในด้านความปลอดภัย เพราะบ่อยครั้งที่ข้อมูลเผยแพร่ผ่านสื่อไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเข้าใจผิด

ถาม เมื่อบริโภคเครื่องดื่มในขวด PET หมดแล้ว สามารถนำมาใช้บรรจุน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นได้หรือไม่?
ตอบ โดยทั่วไปการออกแบบขวด PET มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เพียงครั้งเดียว แต่ถ้าขวดนั้นมีความแข็งแรงและต้องการใช้ซ้ำเพื่อบรรจุน้ำดื่มเพื่อบริโภคเองในบ้าน ก็ใช้ขวดนั้นซ้ำได้ แต่ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งและให้แห้งสนิท ไม่ให้แมลงหรือฝุ่นละอองเข้าไปในขวด เพราะจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์เติบโต หรือเกิดการปนเปื้อนอันจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและก่ออันตรายต่อสุขภาพได้ หากขวดเริ่มมีรอยขูดขีดหรือเนื้อพลาสติกมีรอยร้าว แสดงว่าขวดนั้นเริ่มเสื่อมสภาพ ต้องไม่นำขวดนั้นมาใช้ซ้ำอีกเด็ดขาด

ถาม เมื่อบริโภคน้ำในขวด PET ดื่มไม่หมด เก็บในรถที่จอดตากแดด เมื่อกลับมาดื่มใหม่ในวันต่อมา พบว่าน้ำดื่มมีกลิ่นเหม็นที่เกิดจากขวด ใช่หรือไม่?
ตอบ ไม่ใช่เกิดจากขวด PET แต่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากของผู้ดื่ม ที่ปนอยู่ในน้ำในขณะดื่มครั้งแรก เชื้อเจริญเติบโตได้ดีพร้อมสร้างกลิ่นขึ้นเมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากการตากแดด พูดง่าย ๆ คือ กลิ่นเหม็นของน้ำมาจากกลิ่นปากของเรานั่นเอง

ถาม ขวด PET มีสาร BPA (Bis Phenol A) หรือไม่?
ตอบ BPA เป็นสารที่มีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายหากมีการปนเปื้อนไปในอาหารที่รับประทาน BPA เป็นสารเติมแต่งที่ใช้กับการผลิตพลาสติก Polycarbonate (PC) ซึ่งใช้ในการผลิตเป็นขวดนมเด็กอ่อน ในปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ออกกฎหมายห้ามใช้ PC กับการผลิตขวดนมแล้ว เนื่องจาก BPA ไม่ได้ถูกใช้กับการผลิต PET ในทุกขั้นตอน ดังนั้น ขวด PET จึงไม่มีสาร BPA อย่างแน่นอน

ถาม การเก็บน้ำในขวด PET ไว้ในรถที่ตากแดด จะเกิดสาร Dioxin และสาร PCB จริงหรือไม่?
ตอบ สาร Dioxin และสาร PCB เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการวิเคราะห์น้ำดื่มในขวด PET ที่จำหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 และ 7 วัน จากนั้นนำมาวิเคราะห์สาร Dioxin และสาร PCB โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ผลสรุปว่าไม่พบสารดังกล่าวในตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวด ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จริง

ถาม มีสารเคมีอะไรในขวด PET ที่มีโอกาสละลายออกมากับน้ำในขวดบ้าง?
ตอบ มีสาร Acetaldehyde ที่อาจละลายออกมา แต่พบว่าละลายออกมาน้อยมาก ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ทำให้ขวดมีกลิ่นเล็กน้อย ไม่น่าดื่ม นอกจากนี้ยังมีสาร Phthalate และ Antimony ที่อาจปนเปื้อนในน้ำดื่ม หากถูกแดดเป็นเวลานาน จากงานวิจัยในอังกฤษ พบว่าสารเหล่านี้จะละลายออกมาในน้ำดื่มในระดับที่เกินมาตรฐานที่อียูกำหนดไว้ต่อเมื่อขวดน้ำถูกตั้งไว้ในที่อุณหภูมิสูงเกิน 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลามากกว่า 11 เดือน

ถาม การเก็บน้ำในขวด PET แช่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ขวดจะไปดูดเอาสาร Dioxin จากขวดเข้าไปในน้ำดื่ม ทำให้เกิดมะเร็ง จริงหรือไม่?
ตอบ ไม่จริง เพราะพลาสติกที่ใช้ และกระบวนการผลิตขวด PET ไม่มีส่วนผสมของสาร Dioxin จากการวิจัยของมหาวิทยาลัย John Hopkins พบว่าขวด PET ไม่มีสาร Dioxin ในขวด สารนี้ไม่สามารถแพร่กระจายในอุณหภูมิที่เย็นจัดได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ FDA สหรัฐอเมริกาก็ได้ยืนยันผลงานวิจัยนี้เช่นกัน

การใช้ขวด PET บรรจุน้ำดื่มให้ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสรุปได้ตามรูปต่อไปนี้

บทความต่อไปเรื่อง “ขวดแก้วและกระป๋องโลหะ: ปลอดภัย คุ้มครอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า