การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติทำอาหาร สู่อนาคตที่ทุกคนมีพ่อครัวส่วนตัว

การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติทำอาหาร สู่อนาคตที่ทุกคนมีพ่อครัวส่วนตัว

อุปกรณ์ที่ช่วยสร้างสรรค์ผลงานบนโลกมากมาย ถูกใช้งานทั้งในศาสตร์ ศิลป์ และสินค้าชนิดต่าง ๆ จนกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ถือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างสรรค์ผลงานบนโลกมากมาย ถูกใช้งานทั้งในศาสตร์ ศิลป์ และสินค้าชนิดต่าง ๆ จนกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ แต่อุปกรณ์ชนิดนี้กำลังจะถูกยกระดับไปอีกขั้น เมื่อมีการพัฒนาให้เราใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการทำอาหาร

หลายท่านอาจชื่นชอบงานครัวและการทำอาหาร ถือเป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกที่ได้รับความนิยม น่าเสียดายตรงใช่ว่าทุกคนจะคิดแบบนั้น มีอยู่ไม่น้อยที่มองว่าการทำอาหารเป็นเรื่องยุ่งยากจึงเลือกใช้บริการร้านรวงต่าง ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าร้านอาหารที่มีอยู่ หลายครั้งไม่สามารถจัดสรรอาหารที่ถูกใจ มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือเป็นมิตรต่อสุขภาพมากพอ

ล่าสุดเริ่มมีการนำเสนอแนวทางในการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในการปรุงอาหาร แต่ก่อนอื่นเราคงต้องขออธิบายเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติเพิ่มเติมเสียหน่อย

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ขีดสุดแห่งนวัตกรรมการพิมพ์ในปัจจุบัน

หลายท่านอาจเคยรู้จักหรือผ่านการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติกันมาบ้าง ปัจจุบันนี่ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือแสนสะดวกแพร่หลายในเกือบทุกวงการ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์, การช่าง, ศิลปะ ฯลฯ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ถึงขั้นมีการดัดแปลงเพื่อนำไปใช้ในการผลิตอาวุธเลยทีเดียว

หลายท่านอาจเข้าใจว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติเป็นนวัตกรรมใหม่ แต่แท้จริงเทคโนโลยีนี้ถูกคิดค้นและใช้งานมาตั้งแต่ปี 1984 โดยได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับวัสดุเรซิ่น แต่ในช่วงแรกอุปกรณ์ชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูงทำให้ไม่ได้รับความนิยมนัก กระทั่งในช่วงปี 2009 เป็นต้นมาจึงเริ่มมีการใช้งานแพร่หลายในที่สุด

พื้นฐานการทำงานของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะเริ่มจากการหาแบบแปลนหรือไฟล์ 3 มิติของวัตถุต้นแบบขึ้นมาก่อน โดยสามารถใช้การเขียนโปรแกรมออกแบบเพื่อกำหนดค่า รวมถึงใช้สแกนเนอร์ 3 มิติเพื่ออ่านค่าคุณสมบัติของวัตถุในโลกจริงแปลงให้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัล จากนั้นจึงนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในขั้นตอนการพิมพ์

รูปแบบการทำงานของเครื่องพิมพ์ 3 มิติจะแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของวัสดุที่ใช้งาน โดยมากตัวระบบจะจ่ายความร้อนให้แก่วัสดุเพื่อให้เกิดการอ่อนตัวสามารถสร้างรูปร่างได้ตามต้องการ ใช้งานได้กับวัสดุหลากหลายรูปแบบตั้งแต่พลาสติก, เรซิ่น, ยิปซั่ม, ผงโลหะ หรือแม้แต่เซรามิก ขึ้นกับชนิดและรูปแบบของชิ้นงานที่ต้องการ ภายหลังการใช้งานที่หลากหลายของเครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้เอง จึงเริ่มมีการดัดแปลงให้ใช้ในด้านอาหารเช่นกัน

สู่มิติใหม่เครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ใช้ในการปรุงอาหาร

ผลงานนี้เป็นของ Creative Machines Lab จาก Columbia University ในการคิดค้นอุปกรณ์ทำอาหารชนิดใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ช่วยให้สามารถปรุงอาหารออกมาได้หลากหลายเมนู ทั้งไก่อบ เบอร์เกอร์ หรือแม้แต่ชีสเค้ก ที่สามารถสั่งผลิตให้พร้อมทานได้ในไม่กี่นาที

รูปแบบการทำงานของเครื่องมือชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องยาก อันที่จริงขั้นตอนแทบไม่มีความแตกต่างไปจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติชนิดอื่น หลักการทำงานของตัวเครื่องจะทำการฉีดวัตถุดิบออกมาเพื่อขึ้นเป็นรูปร่าง ทำให้วัตถุดิบเหล่านั้นสุกด้วยเลเซอร์ความร้อนสูง จากนั้นก็พร้อมนำมาจัดเสิร์ฟใส่จาน

ส่วนที่ต้องได้รับความเอาใจใส่กลับเป็นในส่วนการผลิตวัตถุดิบและสร้างสรรค์ส่วนผสม แนวคิดการผลิตอาหารด้วยเครื่องมือทำนองนี้ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาจึงต้องทำให้วัตถุดิบทั้งเนื้อ ผัก และเครื่องปรุงอยู่ในรูปของเหลว เพื่อให้วัตถุดิบพร้อมใช้งานร่วมกับหัวฉีดและการพิมพ์

ปัจจุบันการนำวัตถุดิบมาปรุงและพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จำเป็นต้องให้วัตถุดิบเหล่านั้นอยู่ในฐานะกึ่งเหลวให้สามารถใช้งานผ่านหัวฉีดได้ นี่ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ทางทีมวิจัยกำลังหาทางแก้ไขปรับปรุง พร้อมกับพัฒนาซอฟต์แวร์เมนูต่าง ๆ เพื่อให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติสามารถปรุงเมนูออกมาได้หลากหลายและถูกปากยิ่งขึ้น

อนาคตแห่งเครื่องทำอาหารอัจฉริยะ ที่ทำให้เราเหมือนมีพ่อครัวส่วนตัวในบ้าน

ถึงตรงนี้อาจมีบางท่านตั้งคำถามไปจนไม่เห็นด้วย นอกจากนี่เป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแล้วเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติไม่ใช่ของถูก ราคาโดยเฉลี่ยของอุปกรณ์ชนิดนี้ในปัจจุบันอยู่ที่ราว 10,000 บาท ข้อมูลจากทางผู้พัฒนาก็บอกว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่พวกเขาใช้ก็มีต้นทุนอยู่ 1,000 ดอลลาร์ (ราว 32,000 บาท)

แต่ผู้พัฒนาคาดว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่เปิดกว้าง ได้รับความนิยม และการพัฒนาต่อยอดมากขึ้นเรื่อย ๆ ราคาของอุปกรณ์ชนิดนี้จะยิ่งถูกลง เช่นเดียวกับในยุคแรกที่มีการคิดค้นซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้มีราคาแพงระยับ แต่เริ่มเข้าถึงง่ายในหลากหลายวงการมากขึ้นในปัจจุบัน พวกเขาคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเครื่องนี้อาจเป็นอุปกรณ์สำนักงานหรือเครื่องใช้ทั่วไปในบ้านชนิดหนึ่ง เหมือนเครื่องถ่ายเอกสารหรือเครื่องพิมพ์ทั่วไปในปัจจุบัน

อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้หลายท่านตั้งคำถามคือ การนำอุปกรณ์ชนิดนี้มาใช้กับอาหารจะเป็นเช่นไร แต่ทางผู้พัฒนากล่าวว่า เขาคาดหวังให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติถูกใช้ทำอาหารเหมือนเครื่องครัวทั่วไป อีกทั้งสำหรับผู้ที่กังวลกรรมวิธีการทำอาหาร อันที่จริงเป็นสิ่งที่เรากินกันทั่วไป เช่น เชอร์รี่บนเค้ก หรือ ซอสที่อยู่บนอาหารหลายชนิด ก็มีกรรมวิธีการผลิตไม่แตกต่างกันเลย

ในอนาคตหากเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้รับการพัฒนา พวกเขาคาดหวังว่าตัวเครื่องจะช่วยควบคุมสูตรอาหาร ให้เราสามารถปรุงเมนูตามต้องการได้ดังใจเหมือนมีพ่อครัวส่วนตัวภายในบ้าน ต่างจากพ่อครัวตามความเข้าใจทั่วไปคือ พ่อครัวที่ว่านี้เป็นพ่อครัวดิจิทัลเท่านั้น

นอกจากนี้เมื่อระบบนี้ได้รับความนิยมและการพัฒนามากขึ้น ขอบเขตการทำงานจะยิ่งขยายตัว ไม่แน่ว่าอาจมีเครื่องปรุงอาหารอัจฉริยะ ที่เรียนรู้พฤติกรรมการกินและช่วยแนะนำเมนูต่าง ๆ เพื่อเสริมสารอาหารที่ขาด คอยปรับเมนูการกินเพื่อคุณลักษณะการกินและสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนัก ผู้ป่วย ไปจนนักกีฬา ที่สามารถออกแบบเมนูให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายได้ในอนาคต

แน่นอนว่านี่ยังคงเป็นแนวคิดพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติให้เข้ามาทดแทนงานครัว ปัจจุบันอาจฟังดูไกลตัวรู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้ แต่เมื่อดูแนวโน้มทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในตอนนี้ เป็นไปได้ว่าต่อไปเราอาจไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ทำอาหาร แค่ใส่ส่วนผสมแล้วกดสั่ง ก็สามารถผลิตเมนูที่ต้องการออกมาได้ทันที

ที่มา:
https://www.posttoday.com/post-next/innovation/690493
https://www.siamreprap.com/2021/11/what-is-3d-printer/
https://www.harn.co.th/articles/introduction-to-3d-printing/
https://interestingengineering.com/innovation/buy-3d-food-printer-home-lexicon