Collaborative Design รู้จักการออกแบบที่ให้คุณค่ากับสิ่งอื่นนอกเหนือจากมนุษย์
การออกแบบเป็นคำที่ ‘ให้ความรู้สึกไม่หยุดนิ่ง’ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ การวางแผน การต่อยอด และการพัฒนา
อย่างพื้นฐานที่สุด ‘การออกแบบ’ (Design) นั้นหมายถึง ‘การสร้างสรรค์’ แต่หากเราลองถอยออกมามองภาพที่กว้างกว่านั้น การสร้างสรรค์ที่ว่านี้อาจหมายความได้ทั้ง ‘การวางแผน’ ‘การต่อยอด’ ‘การพัฒนา’ ไปจนถึงอะไรอีกมากมาย ว่ากันตรง ๆ การออกแบบเป็นคำที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งการจะนิยามคำนี้ให้อยู่ภายใต้คำจัดความที่สั้นกระชับและเข้าใจง่าย อาจไม่ใช่อะไรที่ง่ายอย่างที่มันควรจะเป็น
นั่นเพราะในแง่หนึ่ง การออกแบบเป็นคำที่ ‘ให้ความรู้สึกไม่หยุดนิ่ง’ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ การวางแผน การต่อยอด และการพัฒนา ล้วนสะท้อนให้เห็นสิ่งสำคัญที่เรียกได้ว่าเป็น หัวใจ นั่นคือ ‘กระบวนการ’ (Process) ไม่ว่าคุณจะดีไซน์อะไร การออกแบบจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการ คือ การนิ่งคิด จินตนาการ และต่อจุดไปเรื่อย ๆ จากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดหมายปลายทาง โดยที่ขั้นตอนแต่ละอย่างในกระบวนการออกแบบก็มักจะหลากหลายและแตกต่าง ไม่ตายตัวเสมอไป
ท่ามกลางกระบวนการออกแบบมากมาย ‘Collaborative Design’ หรือ ‘การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม’ ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการออกแบบที่เรามักจะได้ยินอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่แนวทางการออกแบบในหลาย ๆ วงการต่างไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างเช่นเหมือนก่อน แต่เลือกที่จะเปิดกว้างเพื่อเชื่อมโยงศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรมศาสตร์ ไปจนถึงประวัติศาสตร์ ปรัชญา และมานุษยวิทยา
แน่นอนว่า การเปิดพื้นที่ให้ศาสตร์ต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบนั้นย่อมเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางกลุ่มก็เริ่มตั้งคำถามต่อนิยามของการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมนี้ว่า ถึงที่สุดแล้ว กระบวนการออกแบบนี้กลับให้ความสำคัญแค่ ‘มนุษย์’ เพียงอย่างเดียวหรือเปล่า พูดให้ชัดขึ้นคือ ภายใต้ศาสตร์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันภายใต้นามของการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เหล่านี้ล้วนหมกมุ่นเฉพาะกับ ‘ผลประโยชน์’ ของมนุษย์ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ ทว่ากับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือแมลง ชีวิตเหล่านี้ไม่ควรจะถูกนับว่าเป็น ‘ตัวแสดง’ (Actor) ในกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมด้วยหรือ
บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับข้อถกเถียง แนวคิดและข้อเสนอใหม่ ๆ ต่อกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมที่ไม่ได้โฟกัสมนุษย์ในฐานะตัวแสดงเดียวอีกต่อไป ทว่าเลือกจะเปิดพื้นที่ให้กับสิ่งมีชีวิตอีกมากมายบนโลกใบนี้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะตัวแสดงสำคัญ
1. ในงานวิจัยเรื่อง ‘การออกแบบส่วนร่วมของสายพันธุ์ที่หลากหลาย’ (Designing for Multispecies Commons)
ชี้ให้เห็นกระแสของการวิพากษ์กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมซึ่งมักจะให้ความสำคัญแค่กับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ชาวยุโรป ผู้ชายผิวขาว และกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่ง ซึ่งส่งผลให้คนอีกหลายกลุ่มมักจะถูกมองข้ามไป เช่น ผู้หญิง และชนกลุ่มน้อย ในแง่นี้ สถานะของกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมในช่วงเวลาหนึ่งจึงกลายเป็นพื้นที่ของการวิจารณ์จากทฤษฎีสำนักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟมินิสต์ การศึกษาผู้ไร้เสียง (Subaltern studies) ไปจนถึง ‘นิเวศวิทยา’ (Ecology)
2. Bruno Latour คือ ชื่อของนักปรัชญาและนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส
ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการผลักดันทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ อธิบายอย่างคร่าว ๆ ทฤษฎีนี้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่เกิดขึ้นภายใต้มุมมองที่ว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในโลกต่าง ‘เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกัน’ ภายใต้ ‘เครือข่ายความสัมพันธ์’ (Web of Relations) โดยที่สิ่งต่าง ๆ ที่ว่าก็ล้วนมีสถานะเป็น ‘ผู้กระทำการ’ (Actor) ที่สามารถสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้นกับสิ่งอื่น ๆ ที่เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกันในเครือข่ายความสัมพันธ์นี้
3. ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเคสแรก มาจาก Matilde Boelhouwer ดีไซเนอร์ชาวดัตช์
ที่ตั้งคำถามว่า เธอจะสามารถออกแบบอะไรที่จะให้ความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ๆ เป็นลำดับแรก แต่ก็ยังพอจะส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับมนุษย์ได้บ้าง
คำถามนี้ได้พา Boelhouwer ไปสู่การเพ่งสายตาไปยัง ‘พื้นที่เมือง’ ซึ่งดีไซเนอร์สาวมองว่า จำเป็นที่จะต้องได้รับการ ‘ฟื้นคืนสู่ธรรมชาติ’ (Rewilding) อีกครั้ง นั่นเพราะการฟื้นธรรมชาติในเมืองไม่เพียงจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองเท่านั้น หากมนุษย์เองก็ยังพลอยได้รับประโยชน์ด้วย
ด้วยเหตุนี้ Boelhouwer จึงได้พัฒนาโปรเจกต์ชื่อ ‘Insectology’ ขึ้นมา โดยเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่จะเปลี่ยนฝนให้กลายเป็นน้ำหวาน เพื่อที่ว่าน้ำหวานเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งอาหารให้กับแมลงบางประเภทในเมือง ซึ่ง Boelhouwer มองว่า การเพิ่มขึ้นของแมลงเหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นธรรมชาติในเมืองให้ฟื้นคืนกลับมาได้นั่นเอง โปรเจกต์ของ Boelhouwer สะท้อนให้เห็นจินตนาการในการออกแบบที่ไปไกลกว่าการออกแบบเพื่อมนุษย์ แต่พิจารณาไปยังสิ่งอมนุษย์อื่น ๆ ซึ่งในที่นี้คือ แมลง นั่นเอง โดยที่ Boelhouwer ก็เลือกที่จะใช้ ‘การตกของฝน’ ในฐานะผู้กระทำการหนึ่งที่จะคอยกำหนดการทำงานของ Insectology นั่นเอง
4. ในปี 2019 มีนักวิจัยสองคนจากมหาวิทยาลัย Aalto ได้จัดเวิร์กชอปเกี่ยวกับการออกแบบขึ้นมา
โดยคำถามหนึ่งที่พวกเขาตั้งขึ้นอย่างชวนขบคิดคือ ถ้าเกิดว่าสุนัขสามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้ขึ้นมาล่ะ หน้าตาอินเทอร์เน็ตของสุนัขควรจะเป็นอย่างไร โดยที่ภายในเวิร์กชอปนี้ นักวิจัยทั้งสองก็พยายามพาผู้เข้าร่วมจินตนาการถึงความเป็นไปได้ที่อินเทอร์เน็ตจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสุนัขต่าง ๆ รอบโลก
แน่นอนว่า คำถามที่นักวิจัยทั้งสองตั้งขึ้นนี้ไม่ได้นำมาซึ่งการคิดค้นอินเทอร์เน็ตสำหรับสุนัขแต่อย่างใด ซึ่งในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ได้คาดหวังหรอกว่า หากเกิดขึ้นจริงได้ มันจะเกิดขึ้นในเวิร์กชอปครั้งนี้ ประเด็นของนักวิจัยทั้งสองคือการพยายามชักชวนให้ผู้เข้าร่วมได้ลองคิดในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยคิด ฝันในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยฝัน ควบคู่ไปกับการได้พยายามถกเถียงและออกแบบอย่างเป็นจริงเป็นจังว่า อินเทอร์เน็ตที่พร้อมจะเอื้อประโยชน์ให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นั้นควรจะมีหน้าตา และลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร
หากเราย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของบทความนี้อีกครั้ง จากที่ว่า การออกแบบอย่างมีส่วนร่วมคือการเชื่อมโยงศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ข้อถกเถียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนประเด็นนั้น กลับผลักพานิยามการออกแบบให้ยิ่งกว้างไกล จากการออกแบบเพื่อมนุษย์ ไปสู่การออกแบบเพื่อสิ่งอื่น ๆ ที่มีแต่จะนำมาซึ่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการออกแบบ
แต่หากเราลองลดระดับนามธรรมลงมา จะพบว่า ภายใต้ทฤษฎีและตัวอย่างงานออกแบบต่าง ๆ การเกิดขึ้นของไอเดียเหล่านั้นล้วนมาจากความพยายามที่จะเรียนรู้และเข้าใจถึงความซับซ้อนของสิ่งอื่น ๆ ที่พ้นไปจากมนุษย์ด้วยกัน
เรามักจะได้ยินว่า มนุษย์คือ สิ่งมีชีวิตที่ฉลาดที่สุด และเพราะความคิดทำนองนั้นก็ได้นำมาซึ่งความอวดโอ่และทึกทักว่าตัวเองสำคัญ จนนำมาซึ่งความพังพินาศย่อยยับมากมายทั้งในระดับสังคมมนุษย์และธรรมชาติ กี่ครั้งกันแล้วที่ความหมกมุ่นแค่กับพัฒนาการของมนุษย์เผ่าพันธุ์เดียวเท่านั้นได้นำมาซึ่งความเสียหายอย่างไม่อาจประมาณการ แต่หากเราลองถอนสายตาออกจากมนุษย์ดูสักหน่อย หันมาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนบ้าง เราอาจพบว่าจริง ๆ แล้วบนโลกใบนี้ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่สำคัญไม่ต่างอะไรกับมนุษย์อยู่อีกมาก และซึ่งการมองเห็นชีวิตเหล่านี้ และตระหนักถึงคุณค่าของพวกเขาต่างหาก ที่อาจเป็นคำตอบในการออกแบบโลกใบนี้กลายเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่สำหรับทุกคน