กล่องกระดาษ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กล่องกระดาษมีจุดเด่นตรงความคงรูป วางบนชั้นวางขายได้ดี มีหลากหลายรูปแบบในรูปทรงต่าง ๆ ให้เลือกใช้พิมพ์และตกแต่งได้สวยงาม อีกทั้งสามารถรีไซเคิลได้
โดย อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก
เป็นที่ยอมรับว่ากล่องกระดาษมีจุดเด่นตรงความคงรูป วางบนชั้นวางขายได้ดี มีหลากหลายรูปแบบในรูปทรงต่าง ๆ ให้เลือกใช้ พิมพ์และตกแต่งได้สวยงาม อีกทั้งสามารถรีไซเคิลได้ อย่างไรก็ตาม กล่องกระดาษก็มีจุดด้อย คือ ดูดความชื้นได้ง่าย ทำให้สูญเสียความแข็งแรง อีกทั้งป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำและก๊าซไม่ได้ จึงใช้บรรจุอาหารหรือของเหลวไม่ได้ ยกเว้นนำกระดาษไปเคลือบกับพลาสติกหรือสารเคลือบเฉพาะ การเคลือบกระดาษกับพลาสติกส่งผลให้กระดาษนั้นไม่สามารถรีไซเคิลได้ในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากต้องลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่สามารถแยกพลาสติกออกได้
บทความนี้เน้นกล่องกระดาษสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อการขายปลีกเท่านั้น ไม่รวมกล่องกระดาษลูกฟูกที่ใช้เพื่อการขนส่ง
ในกรณีที่ใช้กล่องบรรจุอาหารโดยตรง กระดาษมีการสัมผัสอาหาร ที่ผู้ผลิตสินค้าและผู้ผลิตกล่องต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะใช้กระดาษชนิดใด จะเคลือบหรือไม่เคลือบก็ตาม ต้องผ่านข้อกำหนดในมาตรฐาน มอก.2948 - พ.ศ.2562 ซึ่งจะประกาศเป็นมาตรฐานบังคับในเร็ว ๆ นี้ นั่นหมายความว่ากระดาษสัมผัสอาหารที่ใช้ในประเทศไทย ไม่ว่าผลิตในประเทศหรือนำเข้า ต้องผ่าน มอก. นี้ มิเช่นนั้นจะผิดกฎหมาย
หากกล่องใช้กับอาหารที่ส่งออก ต้องยึดถือมาตรฐานของประเทศที่ขายเป็นหลัก เช่น ขายในสหภาพยุโรป ต้องผ่านข้อกำหนดตาม EU Directive 10/2011 ซึ่ง ครอบคลุมการตรวจสอบสารที่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่อาหารและก่ออันตรายกับสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ป่วยเป็นมะเร็ง สารที่ก่อความวิตกกังวลสูงในปัจจุบัน ได้แก่
– Mineral Oil Saturated Hydrocarbon (MOSH) ที่ตกค้างในเยื่อเศษกระดาษ มักพบในกระดาษคราฟท์ (มีส่วนผสมของเยื่อเศษกระดาษ) ที่ใช้ทำกล่องบรรจุอาหารแบบ food delivery ดังรูป
– PFAS (Polyfluoroalkyl Substance) ซึ่งนิยมใช้เคลือบกระดาษเพื่อกันน้ำและกันไขมัน เป็นสารที่มีความเสถียรมาก ไม่ย่อยสลายและตกค้างในสิ่งแวดล้อม จนได้สมญาว่า สารเคมีชั่วนิรันดร์ (Forever Chemicals) สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะสะสมในร่างกาย เป็นต้นเหตุของหลายโรค เช่น มะเร็ง โรคตับ ภูมิแพ้ เป็นต้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้สหภาพยุโรปได้รายงานว่าตรวจพบ PFAS ในปริมาณสูงกว่ามาตรฐาน ในถาด/ถ้วย/หลอดดูดที่ทำด้วยกระดาษ (ดังรูป) จึงได้เข้มงวดในการควบคุมคุณภาพมากขึ้น หลายเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายห้ามการใช้สารนี้แล้ว แต่ก็ยังมีผู้ผลิตจำนวนมากยังใช้สารนี้อยู่ รวมทั้งผู้ผลิตกล่องและผู้นำเข้ากล่องที่ใช้บรรจุอาหารในประเทศไทย จึงนับเป็นภัยร้ายแรงที่ไม่ควรมองข้าม
เพื่อความมั่นใจว่ากระดาษที่ใช้มีความปลอดภัยในการสัมผัสอาหาร ผู้ผลิตกล่องควรนำกระดาษที่ใช้ (ถ้ามีการเคลือบผิว ตัวอย่างที่ส่งตรวจต้องเป็นกระดาษที่เคลือบแล้ว) ไปวิเคราะห์ตามข้อกำหนดใน มอก.2948-2562 จากนั้นจึงพัฒนาในด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวทางต่อไปนี้
แนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- เลือกใช้วัสดุที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
- ลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ แต่ไม่ลดคุณภาพ
- ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ
- ใช้พลาสติกที่ผลิตจากพืช
- เลือกใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้
- ใช้วัสดุที่ได้มาจากการรีไซเคิล
- มีระบบการจัดการขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
- มีการให้ความรู้และรณรงค์ให้ผู้บริโภคเข้าใจและแยกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง
แนวทางการพัฒนากล่องกระดาษเพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่
1. แหล่งของเยื่อกระดาษ
เลือกใช้กระดาษที่เยื่อผลิตมาจากแหล่งที่ไม่ทำลายป่า ไม่ก่อปัญหาต่อระบบนิเวศน์ และชีวิตสัตว์ป่า ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสากลในด้านนี้ สังเกตได้จากสัญลักษณ์และเลขทะเบียนกำกับ ดังรูป
2. ชนิดของกระดาษแข็ง
แนะนำให้ใช้ชนิดกระดาษที่มีส่วนผสมของเยื่อเศษกระดาษ อันจะช่วยลดการใช้เยื่อบริสุทธ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า คาร์บอน) มีข้อมูลจากการศึกษาว่า “การใช้เยื่อเศษกระดาษ 1 กก. จะลดคาร์บอนได้ 0.57 กก.”
กระดาษแข็งที่นิยมใช้ทำกล่อง ได้แก่ กระดาษดูเพล็กซ์ชนิดเคลือบ (Coated Duplex Board) ที่มักเรียกว่า “กระดาษขาวเทา” มีส่วนผสมของเยื่อเศษกระดาษมากถึง 70-75% ในขณะที่กระดาษอาร์ตการ์ด (Art Card) ทำมาจากเยื่อบริสุทธิ์ล้วนที่ไม่มีเยื่อเศษกระดาษเลย ดังนั้นในด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรใช้กระดาษขาวเทา ผิวนอกมีสีขาวเรียบสามารถพิมพ์และตบแต่งหลังพิมพ์ให้สวยงามได้ ไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษอาร์ตการ์ด ดังตัวอย่างรูปที่ใช้กระดาษขาวเทากับกล่องสินค้าระดับปานกลางและระดับพรีเมี่ยมโดยไม่มีผลต่อการยอมรับของผู้บริโภค
3. รูปแบบกล่อง
รูปแบบกล่องมาตรฐานมีมากมาย แต่ละแบบมีข้อดีและข้อจำกัดในการใช้ต่างกัน แบบที่นิยมใช้ เช่น
แบบกล่องที่แนะนำสำหรับอาหาร (แม้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ทุติยภูมิ) คือ กล่องแบบฝาติดกาวทั้งฝาบนและฝาล่าง เพื่อสามารถทิ้งร่องรอยให้เห็นเมื่อถูกเปิด (Tamper Evidence) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในความสะอาดของโรงงานผลิตว่าได้ป้องกันสิ่งแปลกปลอมลงไปในกล่อง อันจะช่วยส่งเสริมตราสินค้าได้ทางหนึ่ง กล่องแบบนี้ควรมีการทำรอยปรุที่ฝา ควบคุมปริมาณกาวที่ใช้และตำแหน่งการทากาวให้เหมาะสม เพื่อให้ฝากล่องฉีกเปิดได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ
แบบของกล่องที่ไม่แนะนำสำหรับอาหาร ได้แก่ กล่องฝาด้านล่างเป็นฝาแบบล็อก ส่วนฝาด้านบนเป็นแบบเสียบหรือแบบติดกาว ฝาด้านล่างถูกแย้มเปิดและปิดใหม่ได้ โดยไม่ทิ้งร่องรอยให้เห็น จึงอาจถูกใส่สิ่งปลอมลงไปในกล่องโดยผู้ประสงค์ร้าย ทำให้เสียชื่อเสียง ผู้ผลิตสินค้าบางรายแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้ฟิล์มหดหุ้มกล่อง แม้ว่าจะป้องกันการขโมยเปิดได้ แต่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านวัสดุ แรงงาน และพลังงานในการใช้ลมร้อนเป่าให้ฟิล์มหดตัว จึงไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กล่องแต่ละรูปแบบให้แผ่นคลี่ (Blank) ต่างกันซึ่งมีผลต่อพื้นที่กระดาษที่ใช้ กล่องที่แผ่นคลี่สามารถจัด layout ให้ชนกันพอดีบนแผ่นกระดาษขนาดมาตรฐานซึ่งมีขนาด 31×43 นิ้ว จะทำให้กระดาษเหลือเศษน้อย ช่วยประหยัดกระดาษ ลดการใช้วัสดุ และยังทำให้ราคากล่องลดลงอีกด้วย
แบบกล่องที่มีส่วนยื่นขึ้นมาด้านบนหรือด้านข้าง (ดังรูป) นอกจากทำให้ขึ้นรูปยากแล้ว ยังทำให้สิ้นเปลืองกระดาษและมีปัญหาในการวางซ้อนในกล่องขนส่ง รวมทั้งทำให้กล่องขนส่งมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย จึงไม่แนะนำ
4. ขนาดของกล่อง
ขนาดของกล่องควรเหมาะสมกับขนาดของสินค้าที่บรรจุ กล่องที่ใหญ่เกินไปทำให้มีช่องว่างในกล่องมากไป ส่งผลให้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 1 กระทบกระแทกกันในระหว่างการลำเลียงขนส่ง อาจเกิดการแตกหรือเสียรูปได้ อีกทั้งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากใช้กระดาษมากเกินความจำเป็น ส่วนกล่องที่มีขนาดเล็กเกินไปทำให้การบรรจุสินค้าลงในกล่องไม่สะดวก หรือหยิบออกจากกล่องลำบาก ตัวอย่างกล่องที่มีขนาดใหญ่เกินไป ดังรูป
5. ดัดแปลงกล่องเพื่อใช้ประโยชน์อื่น
แนวทางนี้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในขั้นตอนการออกแบบ โดยมีกติกาว่าไม่ก่อปัญหาต่อกระบวนการผลิต การขึ้นรูปและการบรรจุสินค้า อีกทั้งต้องง่ายต่อการดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างในรูป คือ กล่องบรรจุปลาสลิดทอดกรอบที่บรรจุในถุงสุญญากาศ เป็นกล่องพับได้ที่มีรูปร่างเป็นปลา พิมพ์และตบแต่งอย่างสวยงาม เมื่อใช้แล้วผู้บริโภคกดตามรอยปรุ ทิ้งส่วนบนไป กลายเป็นกล่องใส่เครื่องเขียน เช่น สมุด หนังสือไม้บรรทัด เป็นต้น
6. หมึกพิมพ์
แม้ว่าหมึกพิมพ์จะเป็นส่วนประกอบที่น้อยมากของกล่องกระดาษ แต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน หมึกพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้องไม่ปล่อยสารพิษสู่อากาศและแหล่งน้ำ และไม่ก่อปัญหาด้านสุขภาพแก่ช่างพิมพ์ โดยยึดตามข้อกำหนดของฉลากเขียวที่กำหนดว่าสาร volatile organic compound (VOC) ต้องไม่เกิน 1% หมึกพิมพ์จากน้ำมันพืช เช่น ถั่วเหลือง ได้รับการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ในด้านนี้ ให้ความปลอดภัยและไม่มีสารตกค้าง ในปัจจุบันมีการใช้หมึกประเภทนี้กับการพิมพ์ระบบออฟเซ็ทอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ผู้พิมพ์กล่องควรเลือกใช้หมึกจากน้ำมันถั่วเหลืองที่ได้รับการรับรองจากสมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่น American Soybean Association ดังรูป
7. การให้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องแก่ผู้บริโภค
การพิมพ์สัญลักษณ์รีไซเคิลให้ชัดเจนที่กล่อง (หากใช้กระดาษที่ไม่มีการเคลือบพลาสติก) เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ควรทำ นอกจากนี้ควรมีโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งการร่วมรณรงค์ให้ผู้บริโภคแยกทิ้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วตามชนิด เพื่อการรวบรวมสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป การพัฒนากล่องกระดาษให้ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำโดยผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง หากต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการทุกรายในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าเป็นผู้ผลิตกระดาษ กล่อง หมึกพิมพ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค
วารสารฉบับหน้าพบกับบทความเรื่อง “ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร: เลือกใช้ให้เป็น ปลอดภัย คุ้มครอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”