น้ำดื่มไร้ฉลาก
การออกแบบขวดพลาสติกที่ไม่มีแผ่นฉลากพลาสติกมาหุ้มรอบขวดน้ำ ช่วยให้กระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติกเป็นไปได้ง่ายเพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดแยกฉลาก
ปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการรีไซเคิลนับว่าเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจทั้งจากมุมมองของผู้บริโภค และแบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะขวดบรรจุน้ำดื่มและเครื่องดื่มที่เราพบเห็นกันทุกวันนี้ ที่ถึงแม้ว่าจะมีการคัดแยกประเภทของพลาสติกในการรีไซเคิลแล้วแต่ก็ต้องมีการคัดแยกฉลากก่อนด้วยอยู่ดี นั่นจึงทำให้กระบวนการรีไซเคิลนั้นยากขึ้นกว่าเดิม
ในขณะนี้มีขวดบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกเพียง 10% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ประกอบกับความต้องการใช้ขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้การผลิตพลาสติกใหม่อาจไม่เพียงพอกับความต้องการ
“น้ำดื่มไร้ฉลาก” คือ การออกแบบขวดพลาสติกที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ไม่มีแผ่นฉลากพลาสติกมาหุ้มรอบขวดน้ำ การทำแบบนี้จะช่วยให้กระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติกเป็นไปได้ง่ายเพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดแยกฉลาก นอกจากนี้ยังเป็นการลดการใช้ปริมาณพลาสติกอีกทางด้วย
สำหรับองค์กรที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังอย่างเช่น สายการบินไทยสมายล์ ที่ได้ปรับเปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์เป็นขวด PET ขนาด 350 มล. ที่ไม่มีฉลากพลาสติก พร้อมดีไซน์ทรง 8 เหลี่ยมเพื่อประหยัดพื้นที่การจนส่งและเพิ่มศักยภาพในการจัดส่งน้ำดื่ม
แบรนด์ไหนเริ่มแล้วบ้าง
แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักและเริ่มผลิตน้ำดื่มไร้ฉลากมาร่วม 2 ปีกว่า คือ Evian ผู้ผลิตน้ำแร่บรรจุขวดจากประเทศฝรั่งเศส ที่เลิกใช้พลาสติกหุ้มขวด และฝังชื่อยี่ห้อขนาดใหญ่ ลงไปในขวดเลย ทำให้ยังพอมองเห็นว่านี่คือ น้ำแร่ยี่ห้อ Evian โดยเป้าหมายสูงสุดของ Evian คือ การหมุนเวียนขวดกลับมาใช้ได้ทั้งหมด
อีกหนึ่งแบรนด์คือ Coca-Cola ทีใช้ขวดไร้ฉลากตั้งแต่ปี 2021 เริ่มที่เกาหลีใต้ โดยเครื่องดื่มสองรุ่นตัวดัง Coca-Cola ออริจินัล และ Coca-Cola Zero ขายเป็นขวดไร้ฉลากแล้ว ลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสองสูตรได้จากสีฝาขวด Coca-Cola ออริจินัลเป็นฝาสีแดง ส่วน Coca-Cola Zero เป็นฝาสีดำ
นอกจากนี้รูปทรงขวด Coca-Cola ทรงคอนทัวร์ที่มีความท้วมนิด ๆ ตรงกลางขวด ยังเป็นสัญลักษณ์ ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้ง่าย แม้ไม่มีฉลากก็ตาม เพราะเป็นทรงขวดที่ Coca-Cola ใช้มานานหลายสิบปี
และเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 Coca-Cola ร่วมมือกับบริษัท IVL ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ ตั้งโรงงานรีไซเคิลขวดในฟิลิปปินส์ โดย Coca-Cola ตั้งเป้ารวบรวมและรีไซเคิลขวดเครื่องดื่ม ให้ได้เทียบเท่ากับปริมาณที่ขาย ภายในปี 2030 และคาดว่าความร่วมมือครั้งนี้ IVL จะสามารถรีไซเคิลขวดใช้งานแล้วในประเทศฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านขวดต่อปี
ฝั่ง Pepsi ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทประกาศจะทำขวดไร้ฉลากในจีน และอาจเป็นแบรนด์แรก ๆ ในจีนที่ทำเลยก็ว่าได้ โดย Pepsi จะยังคงรูปทรงขวดที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ สลักชื่อแบรนด์ วันที่ผลิตและวันหมดอายุไว้ที่ตัวขวดให้เป็นลายนูนขึ้นมา แถมยังลบหมึกที่เคยพิมพ์บนฝาขวดออกไปด้วย
Asahi แบรนด์เครื่องดื่มเจ้าดังของญี่ปุ่น เปิดตัวขวดไร้ฉลากตั้งแต่ปี 2019 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะญี่ปุ่นมีมาตรฐานการแยกขยะสูง ขยะจำพวกขวด และฉลากพลาสติกต้องทิ้งแยกกัน Asahi จึงเปิดตัวชุดเครื่องดื่มไร้ฉลาก มาสนองความต้องการของลูกค้าให้แยกขยะง่ายขึ้น
ต้นปี 2022 Nestle ในญี่ปุ่นทำขวดกาแฟไร้ฉลากออกมาแต่ขายเป็นขวดบรรจุในกล่องกระดาษ กล่องละ 12 ขวด ชื่อของส่วนผสมและสัญลักษณ์อื่น ๆ จะพิมพ์อยู่บนตัวกล่อง ส่วนเครื่องหมายรีไซเคิลสลักนูนไว้ที่ตัวขวด และฉลากบนฝาขวดจะระบุประเภทผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
ขวดไร้ฉลากขายยาก จริงหรือ
Innova Market Insights ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค พบว่า 66% ของผู้บริโภคทั่วโลกเห็นด้วย กับการที่ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล และบริษัทจัดการขยะ ต้องร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงความสามารถในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และ 57% ของผู้บริโภคเห็นพ้องต้องกันว่า แบรนด์คุ้นเคยที่เปลี่ยนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ สามารถดึงดูดความสนใจของพวกเขาได้ ดังนั้น การที่แบรนด์หันมาใช้ขวดไร้ฉลาก ก็อาจชนะใจผู้บริโภคได้ เพราะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
ตรงนี้มีข้อมูลมาสนับสนุนด้วย โดย Lotte Mart ร้านค้าปลีกเครือ Lotte Group ในเกาหลีใต้ เผยว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลาก มีส่วนแบ่งถึง 62% ในยอดขายน้ำทั้งหมด ยอดขาย แซงหน้าน้ำที่มีฉลากพลาสติกเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ที่ผ่านมา
แค่ฉลากพลาสติก ทำไมถึงเป็นเรื่องใหญ่
โดยปกติแล้ว ขวดเครื่องดื่มที่ขายกันทั่วไปทำมาจากพลาสติกชนิด PET (Poly ethylene terephthalate) ทนแรงกระแทก มีความหนา ไม่เปราะแตกและอันตรายเหมือนขวดแก้ว และยังเป็นวัสดุที่สามารถทำให้ใสมาก ๆ ได้ มองเห็นเครื่องดื่มที่อยู่ภายใน เป็นมิตรต่อผลิตภัณฑ์อาหาร และที่สำคัญ PET ยังเป็นพลาสติกชนิดเดียวที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% นำไปหลอมเป็นขวดใหม่ หรือแปรรูปเป็นของอื่นได้ เช่น พรมเช็ดเท้า เสื้อแจ๊กเก็ต หมอนใยสังเคราะห์ ชิ้นส่วนรถยนต์
แต่ฉลากพลาสติกส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกชนิด PVC (Polyvinyl chloride) ข้อดีคือ ราคาถูก มีความยืดหดดีกว่าพลาสติกชนิดอื่น นอกจากนี้ยังทนทานต่อสารเคมี ใช้ในอุตสาหกรรมหนักและในโรงงานได้ และยังมีบทบาทสำคัญในการวางระบบท่อประปา
แต่ข้อเสียนั้นยิ่งใหญ่ คือ ถ้าเผาทำลายจะปล่อยสารเคมีก่อมะเร็งและสารที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ในต่างประเทศจึงเริ่มทำฉลากพลาสติกจากวัสดุ PET แทน แต่ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าไรนัก
มีการคาดการณ์จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ว่า หากผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกทั้งหมด ประมาณ 4.2 พันล้านขวดที่ขายในปี 2019 เลิกติดฉลาก จะช่วยลดขยะพลาสติกได้ 24.6 ล้านตัน
ซีทรู น้ำดื่มที่ไร้ฉลากเจ้าแรกในประเทศไทย
มองกลับมาที่ไทย เรายังเห็นเครื่องดื่มไร้ฉลากน้อยมาก ส่วนนโยบายรัฐที่ออกกฎตรง ๆ ในตอนนี้มีเพียงการยกเลิกแคปซีล หรือพลาสติกหุ้มฝาขวดที่บังคับใช้ปี 2018 กับกฎบังคับร้านค้าปลีกเชนใหญ่งดแจกถุงพลาสติก จะเห็นได้ว่า ขวดพลาสติกที่ออกแบบขวดไร้ฉลากและสกรีนบาร์โค้ดลงบนฝา สามารถทำให้นำไปรีไซเคิลได้ 100% นวัตกรรมนี้จึงอาจเป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิวัติบรรจุภัณฑ์ไปสู่อนาคต ทั้งบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของอาหาร
การยกเลิกแคปซีล ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะแค่ตัวแคปซีลก็ก่อให้เกิดขยะ 2,600 ล้านชิ้นต่อปี น้ำหนักประมาณ 520 ตันต่อปี
แต่หลายฝ่ายมองว่ายังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะแคปซีลมีขนาดเล็กมาก ทางที่ดี รัฐบาลควรออกกฎแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างพวกซองอาหารและฉลากพลาสติกไปเลย ซึ่งน่าจะลดขยะได้มากขึ้นอีกหลายเท่า