จะใช้สติกเกอร์หรือฉลากฟิล์มหดติดขวดดี?
ฉลากเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบกราฟิก ซึ่งการออกแบบและการพิมพ์ที่ดีจะช่วยให้บรรจุภัณฑ์สวยงามโดดเด่น กระตุ้นผู้พบเห็นสนใจและต้องการซื้อสินค้านั้น
โดย อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก
“ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” เป็นสุภาษิตโบราณที่คุ้นเคย มีความหมายว่า คนเราสามารถดูสวยงามขึ้นได้ด้วยการใช้เสื้อผ้า เครื่องประดับ และเสริมสวย ฉันใดฉันนั้น บรรจุภัณฑ์ซึ่งออกแบบกราฟิกและการพิมพ์ที่ดีจะช่วยให้บรรจุภัณฑ์สวยงามโดดเด่น กระตุ้นผู้พบเห็นสนใจและต้องการซื้อสินค้านั้น
ฉลากเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบกราฟิก จะพิมพ์บนผิวบรรจุภัณฑ์โดยตรง หรือพิมพ์บนวัสดุฉลาก แล้วนำมาติดกับผิวบรรจุภัณฑ์ก็ได้ ในปัจจุบันการใช้วัสดุฉลากได้รับความนิยมกับบรรจุภัณฑ์คงรูป เช่น ขวด หลอด ถ้วย เนื่องจากสามารถเลือกประเภทของฉลาก วิธีการพิมพ์และตบแต่งได้
ประเภทของฉลาก
ได้แก่ ฉลากกระดาษติดกาว (Glued Paper Label) ฉลากกาวในตัว (Pressure Sensitive Label) ฉลากแบบพันรอบ (Wrap Around Label) และฉลากฟิล์มหด (Shrink Sleeve Label) แต่ละประเภทมีจุดเด่นและข้อจำกัดในการใช้งานต่างกัน บทความนี้จะกล่าวเฉพาะฉลากกาวในตัวและฉลากฟิล์มหดเท่านั้น เพราะได้รับความนิยมสูงสุด
1. ฉลากกาวในตัว
เป็นฉลากกาวที่ติดเฉพาะตำแหน่ง เช่น ติดด้านหน้า ด้านหลัง ไหล่ คอ ฝา คนไทยมักเรียกสั้น ๆ ว่า “สติกเกอร์” ซึ่งมีโครงสร้างดังรูป
วัสดุผิวหน้ามี 4 ชนิด ได้แก่
• กระดาษสีขาว มีสมบัติไม่ทนน้ำ ลอกหลุดง่ายถ้าถูกน้ำหรืออยู่ในสภาพอากาศเปียกชื้น
• พลาสติกสีขาว (white opaque PP film) มีสมบัติทนน้ำได้ดี ไม่ลอกหลุดง่าย
• พลาสติกใส (clear PP film or clear PE film) มีสมบัติทนน้ำได้ดี ไม่ลอกหลุดง่าย
• Al metallized film มีสมบัติทนน้ำได้ดี ไม่ลอกหลุดง่าย เงาวาว ราคาสูง
วัสดุรองหลังมี 3 ชนิด ได้แก่ กระดาษกลาสซีน (Glassine) กระดาษเหนียว (Kraft) และฟิล์มพลาสติก PET ส่วนกาวก็มีหลายชนิดเช่นกัน โดยแบ่งตามการใช้งาน ได้แก่ ชนิดติดแน่นถาวร (Permanent) ชนิดติดแน่นพอควร (Semi-Permanent) และชนิดลอกออกได้ง่าย (Removable)
2. ฉลากฟิล์มหด
เป็นฉลากแบบสวม เป็นซองฟิล์มพลาสติกที่เปิดบนและเปิดล่าง เมื่อสวมบนบรรจุภัณฑ์คงรูปแล้ว ใช้ลมร้อนเป่าหรือไอน้ำร้อนพ่น ฉลากจะหดตัวรัดแนบกับผิวของบรรจุภัณฑ์นั้น
ฉลากฟิล์มหดนอกจากใช้กับขวดแล้ว ยังสามารถใช้กับกระป๋อง ถ้วย กระปุก ไม่ว่าจะทำจากวัสดุอะไรและมีรูปทรงอย่างใดก็ได้ ดังรูป
วัสดุที่ทำฉลากต้องเป็นฟิล์มพลาสติกที่ผ่านกระบวนการเฉพาะเพื่อให้สามารถหดตัวได้เมื่อได้รับความร้อน พลาสติกที่นิยมใช้ คือ PVC, PET, OPS ฟิล์มหด PVC ราคาต่ำสุด และควบคุมการหดได้ง่าย แต่บางประเทศและร้านค้าปลีกรายใหญ่ไม่รับการใช้ PVC เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เผาแล้วจะเกิดสาร Dioxin ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเกิดฝนกรด (HCl) จากคลอรีนที่แตกตัวออกมาไปทำปฏิกิริยากับน้ำในอากาศ ในประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบการห้ามใช้ PVC และผู้ประกอบการค้าปลีกในประเทศไม่ต่อต้าน ดังนั้น ฉลากฟิล์มหด PVC จึงยังเป็นที่นิยม
ในปัจจุบันขวดพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร เครื่องดื่ม สบู่เหลว แชมพู ครีมนวดผม โลชั่นทาผิว และของใช้ในครัวเรือน นิยมใช้ฉลาก 2 ประเภทหลักนี้ ผู้เขียนมักถูกถามเสมอจากฝ่ายการตลาดว่า “สินค้าของเราจะใช้ฉลากประเภทไหนดี มีข้อดีและข้อจำกัดอย่างไร” เพื่อเป็นการตอบคำถามนี้ จึงเขียนบทความนี้จากประสบการณ์ทำงาน
ปัจจัยในการเลือกใช้ฉลากระหว่างสติกเกอร์และฉลากฟิล์มหด สรุปได้ดังนี้
1. ราคาของฉลาก
การใช้สติกเกอร์ มักใช้ 2 ชิ้น คือ ชิ้นหน้าและชิ้นหลัง บางขวดจะมีการติดสติกเกอร์เฉพาะด้านหน้า และพิมพ์ระบบ silk screen บนผิวด้านหลัง เพื่อลดต้นทุน วัสดุสติกเกอร์มีหลายชนิดดังได้กล่าวมาแล้ว สติกเกอร์ที่ติดด้านหน้าและด้านหลังของขวดใบเดียวกันไม่จำเป็นต้องเป็นวัสดุชนิดเดียวกัน โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้
- ขวดทึบไม่ว่าจะสีอะไรก็ตาม หากต้องการให้ดูเสมือนพิมพ์บนผิวขวดโดยตรง ไม่เห็นขอบสติกเกอร์ “Non-Label Look” ควรใช้สติกเกอร์ชนิดใส
- ขวดใส PET ถ้าต้องการให้อ่านข้อความที่พิมพ์บนสติกเกอร์ได้ง่าย ควรใช้สติกเกอร์ชนิดทึบขาว ถ้าต้องการให้เห็นผลิตภัณฑ์ชัดเจนโดยฉลากไม่บัง ควรใช้สติกเกอร์ชนิดใส ถ้าใช้ Liner ที่ทำด้วยฟิล์ม PET จะไม่เห็นคราบกาวเกาะอยู่ใต้สติกเกอร์ แต่ราคาของ Liner จะสูงกว่าที่ทำด้วยกระดาษกลาสซีน จึงเหมาะกับเครื่องสำอางระดับพรีเมียม
- ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือสินค้าที่ใช้ทำความสะอาดต่าง ๆ ขวดมีโอกาสเปียกน้ำในระหว่างการใช้งาน ควรใช้สติกเกอร์พลาสติกเพราะไม่เปื่อยขาดเมื่อถูกน้ำ ไม่ควรใช้สติกเกอร์กระดาษ เพราะจะร่อนหลุดง่าย อีกทั้งขอบสติกเกอร์มักกระเดิด เพราะกระดาษมีความยืดหยุ่นต่ำ
- การใช้สติกเกอร์เพื่อสื่อสารสรรพคุณเฉพาะ หรือเพื่อให้สะดุดตา อาจใช้สติกเกอร์ชนิดเงาวาว ที่ทำจาก metallized film
จากตัวอย่างรูปจะเห็นว่ามีการใช้วัสดุสติกเกอร์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย มีขนาดและการพิมพ์ตบแต่งที่ต่างกัน ซึ่งล้วนมีผลต่อราคาของสติกเกอร์ โปรดอย่าลืมว่า ราคาของฉลากต่อบรรจุภัณฑ์ 1 หน่วย เป็นราคารวมของสติกเกอร์ 2 ชิ้น
การใช้ฉลากฟิล์มหด ใช้ฉลากเพียง 1 ชิ้นต่อบรรจุภัณฑ์ 1 หน่วย ฉลากฟิล์มหดที่นิยมใช้ในบ้านเราคือ ฟิล์ม PVC ราคาต่ำกว่าการใช้พลาสติกชนิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตามบริษัทบางรายมีการใช้ฉลากฟิล์มหดที่ทำด้วยฟิล์ม PET ทดแทนการใช้ ฟิล์ม PVC ตามนโยบายของบริษัทแม่ในต่างประเทศ สมบัติที่สำคัญของฉลากฟิล์มหดคือ ความสามารถในการหดตัวที่วัดในค่าของ % shrinkage หากขวดมีรูปร่างเฉพาะ มีส่วนเว้ามาก ต้องใช้ฟิล์มหดที่มีการหดตัวสูง ดังตัวอย่างในรูป
ราคาของฉลากฟิล์มหดขึ้นกับชนิดของฟิล์มที่ใช้ ฟิล์ม PET จะมีราคาสูงกว่าฟิล์ม PVC ประมาณ 30% ขนาดของฉลากฟิล์มหดแม้ว่าจะใหญ่กว่าสติกเกอร์ แต่ใช้เพียงชิ้นเดียว ถ้าใช้ขวดใบเดียวกันราคาของฉลากฟิล์มหด 1 ชิ้น จะต่ำกว่าราคาของสติกเกอร์ 2 ชิ้น ประมาณ 20% อย่างไรก็ตามผู้ใช้ฉลากจำเป็นต้องศึกษาและเปรียบเทียบราคาอย่างละเอียด เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. ค่าติดฉลาก
ผู้ผลิตขวดในประเทศหลายรายสามารถให้บริการการติดฉลากแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์หรือฉลากฟิล์มหด ค่าติดสติกเกอร์ 2 ชิ้น จะต่ำกว่าค่าสวมและหดรัดของฉลากฟิล์มหดประมาณ 20% เนื่องจากการติดสติกเกอร์ไม่ต้องใช้ความร้อน ใช้เครื่องอัตโนมัติที่มีความเร็วไม่สูงนัก ส่วนการสวมฉลากฟิล์มหดลงบนขวด ถ้าจำนวนไม่มากเท่าใด มักใช้คนสวม แล้วผ่านไปยังอุโมงค์ลมร้อนให้ฟิล์มหดตัว ผู้ผลิตขวดมักไม่ลงทุนเครื่องอัตโนมัติที่สวมและหดฉลาก เนื่องจากราคาเครื่องสูงมาก หากผู้ใช้ฉลากฟิล์มหดต้องการให้ใช้เครื่องอัตโนมัติเนื่องจากจำนวนที่ใช้สูงและเพื่อเพิ่มผลผลิต ผู้ผลิตสินค้านั้นจะเป็นผู้ลงทุนเครื่อง หรือให้ผู้ติดฉลากลงทุนเองแล้วเฉลี่ยค่าลงทุนเครื่องลงไปแต่ละหน่วยของการติดฉลากภายใต้สัญญาที่แน่นอน ในกรณีที่ผู้ผลิตสินค้าติดฉลากที่โรงงานของตนเอง ค่าใช้จ่ายในการติดฉลากจะต่างไปจากให้ผู้ผลิตขวดติดให้ เนื่องจากค่าแรง ค่าโสหุ้ย และค่าเสื่อมราคาของเครื่องติดฉลากต่างกัน
3. ราคาของขวดที่จะติดฉลาก
แม้ว่าจะใช้ขวดเดียวกัน แต่สีของขวดที่จะใช้กับฉลากทั้ง 2 ประเภทมักต่างกัน กล่าวคือ ถ้าใช้สติกเกอร์ ขวดที่ใช้นิยมมีสีเฉพาะหรือเงาวาว โดยการผสมผงสี (Masterbatch) ลงไปกับเม็ดพลาสติกในการผลิตขวด ทำให้ขวดสวยงาม แต่ราคาก็สูงขึ้นตามไปด้วย
ถ้าใช้ฉลากฟิล์มหด ขวดที่ใช้นิยมขวดสีขาวที่มีราคาถูก หรือไม่ใส่สีก็ได้ เนื่องจากสีของขวดจะถูกหุ้มด้วยฉลากฟิล์มหด สีของขวดที่ติดฉลากแล้วมาจากสีพื้นของฉลากฟิล์มหดที่ได้จากการพิมพ์ ด้วยเหตุนี้ขวดที่ติดสติกเกอร์จึงมีราคาสูงกว่าขวดที่ใช้ฉลากฟิล์มหด แต่จะสูงกว่าเท่าใดขึ้นกับราคาของผงสีที่ใช้
4. ปริมาณขั้นต่ำในการสั่งซื้อฉลาก
ฉลากทั้ง 2 ประเภทมีวิธีการพิมพ์ต่างกัน ซึ่งส่งผลกระทบถึงปริมาณขั้นต่ำในการสั่งซื้อ การพิมพ์สติกเกอร์นิยมใช้ระบบ Letterpress หรือ Flexography ก็ได้ ซึ่งไม่ทำให้ราคาของสติกเกอร์สูงขึ้นมากหากสั่งซื้อในปริมาณน้อย
การพิมพ์ฉลากฟิล์มหดนิยมพิมพ์ด้วยระบบ Gravure ซึ่งต้องพิมพ์ครั้งละมาก ๆ หากสั่งซื้อฉลากในปริมาณน้อยจะทำให้ราคาของฉลากสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าแม่พิมพ์ 8,000-10,000 บาทต่อ cylinder ของแม่พิมพ์ (ต่อ 1 สีพิมพ์)
ผลิตภัณฑ์ที่มีหลายกลิ่นหรือหลายรสที่ใช้ขวดเดียวกัน ทำให้ต้องมีหลายแบบพิมพ์ (Artwork) มีผลให้ปริมาณการสั่งซื้อต่อหนึ่งแบบพิมพ์ต่ำ หากต่ำกว่าจำนวนขั้นต่ำของการพิมพ์จะทำให้ราคาต่อหน่วยของฉลากสูงมาก เป็นที่น่ายินดีว่าในปัจจุบันมีการใช้การพิมพ์ระบบ Digital กับฉลากทั้ง 2 ประเภท แม้ว่าค่าพิมพ์จะสูงกว่าการพิมพ์ระบบเดิม แต่สามารถลดปริมาณการสั่งซื้อในแต่ละแบบพิมพ์ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ใช้ฉลากจึงจำเป็นต้องเปรียบเทียบราคาและปริมาณการสั่งซื้อระหว่างการพิมพ์ระบบเดิมและระบบ Digital ของฉลากทั้ง 2 ประเภท
5. ผลผลิตของขวดที่ติดฉลากแล้ว
ในกรณีที่ผู้ผลิตสินค้าต้องการผลผลิตของสินค้าไม่สูงนัก จะไม่มีปัญหาต่อความเร็วของการติดฉลาก เพราะผู้ผลิตขวดสามารถจัดส่งขวดที่ติดฉลากแล้วให้ทันตามเวลาที่กำหนด แต่ถ้าผู้ผลิตสินค้าต้องการผลผลิตสูง ความเร็วของการติดฉลากจำเป็นต้องสอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถส่งขวดที่ติดฉลากแล้วให้ทันเวลา การลงทุนเครื่องติดฉลากอัตโนมัติความเร็วสูงอาจมีความจำเป็น ซึ่งต้องศึกษาด้านการเงินอย่างถี่ถ้วน รวมถึงค่าเสื่อมราคาต่อปี และจุดคุ้มทุนของการลงทุน โดยทั่วไปเครื่องอัตโนมัติที่ติดสติกเกอร์จะมีราคาต่ำกว่าเครื่องอัตโนมัติที่สวมและหดฉลากฟิล์มหด
6. ลักษณะภายนอกของขวดที่ติดฉลากแล้ว
จุดเด่นของการใช้สติกเกอร์ในปัจจัยข้อนี้ คือ ผิวขวดสามารถใช้สีที่เงางาม หรือมีลวดลายเฉพาะได้ ช่วยสื่อความเป็นสินค้าพรีเมี่ยม ดังรูป
จุดเด่นของการใช้ฉลากฟิล์มหดในปัจจัยข้อนี้ คือ ขนาดของฉลากใหญ่กว่าสติกเกอร์ เพราะสามารถหุ้มรอบขวดได้ ทำให้มีพื้นที่ในการพิมพ์มากกว่า และยังพิมพ์ข้างขวดได้ด้วย สามารถออกแบบให้ตราสินค้าและตัวหนังสือมีขนาดใหญ่ที่อ่านได้ชัดเจนขึ้น การใช้สติกเกอร์จะมีข้อจำกัดของขนาดและตำแหน่งในการติด ไม่สามารถติดบนพื้นผิวขวดที่เว้าหรือนูนหรือไม่เรียบ เพราะทำให้ติดได้ไม่แน่น หลุดออกง่าย พื้นที่พิมพ์ของสติกเกอร์น้อยกว่า ทำให้ตราสินค้าและข้อความที่พิมพ์มีขนาดเล็กกว่า
ในด้านการพิมพ์ฉลากที่เกี่ยวข้องกับลักษณะภายนอก สติกเกอร์มีข้อได้เปรียบกว่าฉลากฟิล์มหดตรงที่สามารถตบแต่งด้วยการปั๊มฟอยล์ (Foil Stamping) เฉพาะตำแหน่งให้เกิดความมันเงาและโดดเด่น ในขณะที่ฉลากฟิล์มหดจะทำไม่ได้ แต่ต้องใช้การพิมพ์ด้วยหมึกสีเงินหรือสีทองพิเศษแทน ความเงาวาวจะด้อยกว่าการปั๊มฟอยล์เล็กน้อย ในปัจจุบันหมึกพิมพ์ Gravure ที่พิมพ์ฉลากฟิล์มหดได้รับการพัฒนาให้มีความเงางามสวยงาม ดังตัวอย่างในรูป
7. การจัดการด้านซัพพลายเชนของบรรจุภัณฑ์
ปัจจัยข้อนี้จะเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่มีหลายกลิ่นหรือหลายรสที่ใช้ขวดเดียวกัน ฉลากฟิล์มหดจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะสามารถใช้ขวดสีขาว (หรือขวดไม่ใส่สี) เหมือนกันทั้งหมด ทำให้ผลิตขวดได้จำนวนมากในครั้งเดียวกัน ได้ราคาขวดที่ต่ำลง และการจัดเก็บขวดเปล่าทำได้ง่ายขึ้น หากใช้สติกเกอร์ แต่ละกลิ่นหรือรสของผลิตภัณฑ์มีการใช้สีขวดเฉพาะ การผลิตขวดแต่ละสีในปริมาณที่ไม่มากทำให้ราคาขวดสูงขึ้น และการจัดเก็บขวดเปล่ายุ่งยากกว่า
จากปัจจัยทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกใช้ประเภทของฉลากในประเทศไทย ที่เน้นประเทศไทยเพราะปัจจัยบางข้อจะต่างจากในประเทศอื่น ในเชิงธุรกิจ ไม่มีคำตอบตายตัวว่าฉลากประเภทใดดีกว่า สินค้ากลุ่มเดิมที่ออกตลาดกลิ่นน้ำหอม/สูตรใหม่ หรือ สินค้าเฉพาะในเทศกาล/โอกาสพิเศษ (Limited Edition) มักเปลี่ยนประเภทฉลากเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากสินค้าเดิม ดังตัวอย่างในรูป