แนวทางการบริหารจัดการเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสำหรับโรงพิมพ์

แนวทางการบริหารจัดการเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสำหรับโรงพิมพ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศ ได้มีการลงทุนกันทางด้านการนำเข้าเครื่องพิมพ์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่องสำหรับการผลิตสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การผลิตฉลาก การผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก การผลิต Flexible packaging รวมถึงการผลิตงานป้ายและงานพิมพ์เพื่อการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ การบริหารจัดการเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้บริหารหรือผู้ที่สนใจในการผลิตงานพิมพ์ดิจิทัลจำเป็นต้องศึกษาก่อนการลงทุน โดยสามารถสรุปเป็นหัวข้อต่างๆ ได้ ดังต่อไปนี้

1. การเลือกเครื่องพิมพ์ดิจิทัลให้เหมาะสมสำหรับการผลิตงานพิมพ์

ในการเลือกเครื่องพิมพ์ดิจิทัลสำหรับการผลิตงานพิมพ์ สิ่งแรกที่ควรพิจารณา คือ เทคโนโลยีของระบบการพิมพ์ดิจิทัลที่ติดตั้งมากับเครื่องพิมพ์ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลที่ใช้จะมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลแบบอิเล็คโทรโฟโตกราฟี และเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลแบบอิ้งค์เจ็ท ซึ่งจะมีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น เครื่องพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบอิเล็คทรอโฟโตกราฟี จะมีข้อจำกัดทางด้านของขนาดภาพพิมพ์ที่พิมพ์ได้ โดยเฉลี่ยของขนาดภาพพิมพ์ใหญ่สุดที่สามารถพิมพ์ได้ คือ ขนาดประมาณ 420 x 297 เซนติเมตร แต่จะมีความสามารถในการพิมพ์ภาพได้ยาวมากขึ้นแล้วแต่บริษัทผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ ดังแสดงในรูปที่ 1 สำหรับข้อดีของเครื่องพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีแบบนี้ คือ การบำรุงรักษาเครื่องพิมพ์สามารถทำได้สะดวก และมีบริการจากผู้ขายในการดูแลเครื่องพิมพ์ตามอายุการใช้งาน รวมถึงวัสดุในการใช้งาน

สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์อิ้งค์เจ็ท จะมีข้อดี คือ สามารถใช้ในการพิมพ์ลงบนวัสดุใช้พิมพ์ได้อย่างหลากหลาย เช่น กระดาษ ผ้า สติกเกอร์หรือพลาสติก เป็นต้น ซึ่งสามารถเลือกใช้ประเภทของหมึกพิมพ์ให้เหมาะสมกับงานที่จะผลิต เช่น หมึกพิมพ์เชื้อน้ำ (water-base ink) เหมาะสำหรับการพิมพ์บนกระดาษ หรือ หมึกพิมพ์ที่แห้งตัวด้วยแสงยูวี (UV ink) เหมาะสำหรับการพิมพ์ลงบนผ้า หรือฟิล์มพลาสติก เป็นต้น สำหรับข้อจำกัดของเทคโนโลยีการพิมพ์อิ้งค์เจ็ท คือ การดูแลรักษาหัวพิมพ์ ต้องมีการกำหนดเคมีภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ และวิธีการทำความสะอาดให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากหัวพิมพ์มีมูลค่าค่อนข้างสูง หากมีการดูแลรักษาได้ไม่ถูกต้อง จะทำให้หัวพิมพ์เกิดการอุดตันของหัวพิมพ์ และทำให้เกิดรอยเส้นในระหว่างการผลิตงานพิมพ์ได้

ลักษณะงานพิมพ์เป็นอีกปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาในการเลือกเครื่องพิมพ์ดิจิทัล ลักษณะงานพิมพ์โดยปกติ จะประกอบด้วยภาพลายเส้น ภาพสกรีน และภาพพิมพ์พื้นทึบ ในการเลือกเครื่องพิมพ์ดิจิทัลควรมีการทดสอบเครื่องพิมพ์ด้วยการนำตัวอย่างงานเป้าหมายที่บริษัทจะผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล ไปทำการทดสอบผลิต เพื่อตรวจสอบสี และความคมชัดของตัวอักษร และลักษณะอื่นๆ ของงาน เพื่อใช้ในการพิจารณาในการเลือกเครื่องพิมพ์ดิจิทัลให้เหมาะสมกับการผลิตงาน ลักษณะงานบางประเภทอาจจะไม่เหมาะสมในการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล เช่น ลักษณะงานที่ประกอบด้วยภาพพิมพ์พื้นทึบบริเวณกว้าง หรือลักษณะงานที่ต้องการความเที่ยงตรงสูงในการพิมพ์ เป็นต้น

จำนวนในการผลิต หรือจำนวนพิมพ์ เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เหมาะสมกับการผลิตงานพิมพ์จำนวนตามสั่ง (Print on Demand) จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีความเป็นส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น (Personalization) ทำให้ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้สินค้ายี่ห้อเดียวกัน จะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ครีมทาผิวยี่ห้อเดียวกัน จะมีกลิ่นหรือลักษณะที่แตกต่าง เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค (Custom-made products) ทำให้การผลิตฉลากหรือกล่องบรรจุภัณฑ์ต่อสินค้าจะมีจำนวนน้อยลง แต่มีปริมาณในการผลิตของสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น (Mass customization) สำหรับธุรกิจการผลิตสิ่งพิมพ์ การผลิตงานพิมพ์ในลักษณะดังกล่าว จำเป็นต้องมีการคำนวณต้นทุนอย่างละเอียด เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเลือกผลิตงานพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบทั่วไป หรือต้องใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล โดยในรูปที่ 2 จะแสดงการเปรียบเทียบต้นทุนในการผลิตสิ่งพิมพ์ระหว่างเทคโนโลยีการพิมพ์ทั้ง 3 ประเภท จะสามารถสังเกตได้ว่า การผลิตงานพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบทั่วไป ต้นทุนในการผลิตที่สำคัญ คือ ต้นทุนของแม่พิมพ์ ในการพิมพ์งานที่มีจำนวนผลิตน้อย จะทำให้ราคาสิ่งพิมพ์ต่อชิ้นมีราคาต้นทุนที่สูง แต่หากมีการผลิตจำนวนมาก จะทำให้ราคาสิ่งพิมพ์ต่อชิ้นมีราคาลดลง ซึ่งตรงกันข้ามกับการผลิตงานพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ไม่ใช้แม่พิมพ์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสิ่งพิมพ์จะมีต้นทุนที่คงที่ในการผลิตงานตั้งแต่แผ่นแรกจนถึงแผ่นสุดท้าย ดังนั้นโรงพิมพ์ที่มีความสนใจในการลงทุนผลิตงานด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล จึงต้องทำการพิจารณาจำนวนพิมพ์ที่เหมาะสมกับการผลิตงาน นอกจากนี้ในรูปที่ 2 ยังได้แสดงจุดตัดของต้นทุนในการผลิตสิ่งพิมพ์ที่ผลิตจากเทคโนโลยีทางการพิมพ์ออฟเซตกับเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล ทั้งแบบอิเลคโทรโฟโตกราฟีและแบบเทคโนโลยีการพิมพ์อิ้งค์เจ็ท ซึ่งจะเป็นจุดที่บอกถึงจำนวนการผลิตสิ่งพิมพ์และต้นทุนในการผลิตสิ่งพิมพ์ที่เท่ากัน จากการผลิตสิ่งพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ทั้งสามระบบ ดังนั้นโรงพิมพ์จึงสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบใดก็ได้ในการผลิตสิ่งพิมพ์ ดังนั้นหากโรงพิมพ์สามารถวิเคราะห์ต้นทุนในการผลิตในลักษณะนี้ จะทำให้โรงพิมพ์สามารถกำหนดเทคโนโลยีการพิมพ์ให้เหมาะสมกับจำนวนในการผลิตสิ่งพิมพ์ได้

2. การบริหารจัดการวิธีการปฏิบัติงานสำหรับการผลิตงานด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล

การกำหนดขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานเป็นสิ่งที่สำคัญในการผลิตงานด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล เครื่องพิมพ์ดิจิทัลแต่ละเครื่องพิมพ์จะมีการกำหนดวิธีการในการทำงานที่ไม่เหมือนกันหรือมีการกำหนด Workflow ที่แตกต่างกันไป ดังแสดงในรูปที่ 3 ขั้นตอนการทำงานของเครื่องพิมพ์ดิจิทัลที่ต้องพิจารณา จะประกอบด้วย การเลือกใช้ไฟล์ที่เหมาะสมในการพิมพ์งาน เช่น การเลือกใช้ไฟล์นามสกุล .ai หรือ .pdf อาจจะส่งผลต่อการผลิตสีของงานพิมพ์ การหาคุณลักษณะของเครื่องพิมพ์และการทำ Profile ของเครื่องพิมพ์ในการผลิตงานเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากในการผลิตงานพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถปรับสีได้ในระหว่างการผลิตงาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสร้างหรือกำหนด Colour Profile ในการผลิตงานพิมพ์ให้เหมาะสมกับวัสดุใช้พิมพ์ และขั้นตอนการผลิตงานของเครื่องพิมพ์ดิจิทัลจะมีการทำงานผ่านโปรแกรมประมวลผลที่เรียกว่า Raster Image Processor, RIP ซึ่งต้องมีการกำหนดค่าต่างๆ ตามลักษณะของโปรแกรม เช่น การกำหนดปริมาณหมึกพิมพ์รวม (Total ink limit) ซึ่งจะกำหนดปริมาณหมึกพิมพ์ที่พิมพ์ทับกันของหมึกพิมพ์ 4 สี เพื่อให้เหมาะสมกับวัสดุพิมพ์ เป็นต้น

3. การบริหารจัดการวัสดุสำหรับการผลิตงานด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล

เครื่องพิมพ์ดิจิทัลสำหรับการผลิตงานพิมพ์แต่ละประเภท จะมีการกำหนดวัสดุที่ใช้งานสำหรับเครื่องพิมพ์ หรือในการผลิตงานพิมพ์ที่แตกต่างกันไป ปัจจัยที่ผู้ใช้งานต้องทำการพิจารณาประกอบด้วย

  • วัสดุใช้พิมพ์และหมึกพิมพ์ ในการผลิตงานพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล ผู้ผลิตต้องพิจารณาลักษณะของเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลที่นำมาใช้ในการผลิตงานและหมึกพิมพ์ที่ใช้ เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์อิเลคโทรโฟโตกราฟี ซึ่งใช้ประจุไฟฟ้าในการสร้างภาพ และหมึกพิมพ์ที่ใช้มีลักษณะเป็นผงหมึก (Toner) จะไม่สามารถใช้พิมพ์ลงบนผ้าได้ หรือในการผลิตงานพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์อิ้งค์เจ็ท ที่ใช้หมึกพิมพ์เชื้อน้ำ จะเหมาะกับการผลิตงานบนกระดาษ แต่ไม่สามารถพิมพ์ลงบนพลาสติกได้ เป็นต้น
  • น้ำยาปรับสภาพผิวของวัสดุที่ใช้พิมพ์ (Primer) เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลในปัจจุบันจะมีการใช้น้ำยา Primer ในการช่วยให้หมึกพิมพ์มีการยึดเกาะได้ดีบนวัสดุใช้พิมพ์ ดังนั้นต้องมีการพิจารณาประกอบการจัดสินใจในการลงทุน เนื่องจากน้ำยา Primer อาจจะเป็นต้นทุนหลักที่เกิดขึ้นในการผลิตงานพิมพ์ได้
  • น้ำยาทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของเครื่องพิมพ์ ในการใช้งานเครื่องพิมพ์ดิจิทัลจะต้องมีการทำความสะอาดส่วนต่าง ๆ ของเครื่องพิมพ์ ซึ่งบางครั้งจะต้องมีการใช้น้ำยาเฉพาะในการทำความสะอาด ดังแสดงในรูปที่ 4 จึงจำเป็นที่ต้องศึกษาน้ำยาที่ใช้ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งมากับเครื่องพิมพ์ ที่เป็นวัสดุสิ้นเปลือง เช่น น้ำยาที่ใช้ในการทำความสะอาดหัวพิมพ์ของเทคโนโลยีการพิมพ์อิ้งค์เจ็ท จะมีคุณสมบัติด้านต่าง ๆ ในการทำความสะอาด รวมถึงจะแผ่นยางเช็ดทำความสะอาดหัวพิมพ์ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนเมื่อถึงอายุการใช้งาน เป็นต้น

4. การบริหารจัดการเครื่องพิมพ์สำหรับการผลิตงานด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล

ในการบริหารจัดการเครื่องพิมพ์ดิจิทัล เทคโนโลยีของเครื่องพิมพ์ดิจิทัลแต่ละเครื่องพิมพ์จะมีการออกแบบลักษณะของเครื่องพิมพ์ที่แตกต่างกัน เครื่องพิมพ์ดิจิทัลสำหรับการพิมพ์งานแต่ละประเภท อาจจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมพิเศษมาตามลักษณะในการผลิตงาน เช่น เครื่องพิมพ์ดิจิทัลสำหรับการผลิตงานบนกระดาษลูกฟูก อาจจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เคลือบน้ำยาก่อนพิมพ์งาน ซึ่งจะประกอบด้วยลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์สำหรับการจ่ายน้ำยาเคลือบ เครื่องพิมพ์ดิจิทัลสำหรับการผลิตฉลาก จะมีการติดตั้งการทำลักษณะพิเศษในเครื่องพิมพ์ เพื่อทำให้สามารถผลิตงานพิมพ์ได้หลากหลายมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลของสิ่งพิมพ์เป้าหมายที่ตนเองจะผลิต เพื่อเลือกลักษณะเครื่องพิมพ์ดิจิทัลให้เหมาะสม

ลักษณะของเครื่องพิมพ์ดิจิทัลจะประกอบด้วยอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เป็นหลัก ทำให้ต้องมีการพิจารณาการใช้งานเครื่องสำรองไฟ (UPS) และอุปกรณ์ที่รักษาระดับแรงดันไฟฟ้า (Stabilizer) ให้เหมาะสมกับเครื่องพิมพ์ เพื่อทำให้การจ่ายไฟให้กับเครื่องพิมพ์มีความคงที่ ป้องกันไม่ให้แผงวงจรอิเลคทรอนิกส์เกิดการชำรุด เสื่อมสภาพจากแรงดันไฟฟ้าไม่คงที่

การบำรุงรักษาเครื่องพิมพ์ดิจิทัล เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องมีการพิจารณา เนื่องจากอุปกรณ์ในเครื่องพิมพ์อาจจะมีอายุในการใช้งานที่แตกต่างกัน ต้องมีการจัดทำรายการอะไหล่ หรือวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเปลี่ยนก่อนหมดอายุการใช้งาน

5. การบริหารจัดการผู้ปฏิบัติงานสำหรับการผลิตงานด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล

ในการผลิตงานพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล ผู้ปฏิบัติงานในส่วนของ Prepress จะเป็นบุคลากรที่สำคัญ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทางด้านการเตรียมไฟล์ การจัดการไฟล์ให้เหมาะสมกับเครื่องพิมพ์ การเลือกระบบสี เช่น Pantone, CMYK ในไฟล์งานให้เหมาะสมกับการพิมพ์งาน การตั้งค่า Trapping ของงานพิมพ์ นอกจากนี้ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการจัดการสี เพื่อใช้ในการสร้างและเลือกใช้ Colour profile ให้เหมาะสมกับการผลิตงานบนวัสดุพิมพ์ที่แตกต่างกัน

สำหรับผู้ปฏิบัติงานควบคุมเครื่องพิมพ์ดิจิทัล จำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ใช้ในเครื่องพิมพ์ การบำรุงรักษาส่วนประกอบของเครื่องพิมพ์ การดูแลคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการแปลงไฟล์ รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการควบคุมเครื่องพิมพ์ ต้องมีความรู้ทางด้านการปรับแต่งสีด้วย Software ที่ติดตั้งมากับเครื่องพิมพ์ เพื่อสามารถทำให้การผลิตสีของเครื่องพิมพ์ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า

สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องกำหนดค่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์งานด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล เช่น ในการพิมพ์งานด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์อิ้งค์เจ็ท ต้องมีการกำหนดขนาดของหัวพิมพ์ที่ใช้ ระยะระหว่างหัวพิมพ์กับวัสดุใช้พิมพ์ ความเร็วในการพิมพ์งาน และความละเอียดในการพิมพ์งาน เป็นต้น ข้อกำหนดดังกล่าว จะสามารถสร้างให้เป็นมาตรฐานในการผลิตงานพิมพ์ดิจิทัล เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพในการผลิตงาน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และยอมรับจากลูกค้าต่อไป

ปัจจัยอีกอย่างที่ต้องพิจารณาในการผลิตงานพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล คือ การนำงานที่ได้ผลิตมาจากเครื่องพิมพ์ในเทคโนโลยีการพิมพ์แบบทั่วไป มาผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัล ปัญหาที่พบ คือ สีของงานพิมพ์ที่ได้จากการผลิตของทั้งสองเครื่องพิมพ์จะมีการผลิตสีที่ได้ไม่เหมือนกัน เนื่องจากลักษณะของเทคโนโลยีการพิมพ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทำ Colour matching ให้กับงานพิมพ์ โดยวิธีการทำ คือ การหาขอบเขตสีที่พิมพ์ได้จากเทคโนโลยีการพิมพ์ทั้งสองระบบ นำมาเปรียบเทียบกันและหาค่าความแตกต่างของสีที่ผลิตได้ เพื่อกำหนดเป็นค่าสีเพื่อใช้ในการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิทัลต่อไป