รู้จัก Deprinter นวัตกรรมล้างหมึกในพริบตา ให้กระดาษทุกแผ่นกลับมาใช้ได้ใหม่

รู้จัก Deprinter นวัตกรรมล้างหมึกในพริบตา ให้กระดาษทุกแผ่นกลับมาใช้ได้ใหม่

เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากอิสราเอลที่ใช้เลเซอร์ล้างหมึกบนกระดาษให้หายไปในพริบตา

หากเครื่องมือที่ละเลงหมึกลงบนกระดาษเป็นตัวอักษรหรือรูปภาพ เรียกว่า ปรินเตอร์ (Printer) เครื่องมือที่ดูดหมึกออกจากกระดาษก็คงต้องเรียกว่า ดีปรินเตอร์ (Deprinter) เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากอิสราเอลที่ใช้เลเซอร์ล้างหมึกบนกระดาษให้หายไปในพริบตา เหลือเพียงกระดาษว่างเปล่าให้นำกลับมาใช้งานได้ใหม่ถึง 10 ครั้ง

การรณรงค์งดใช้กระดาษ หรือ Paperless ถูกพูดถึงกันมานานนับทศวรรษ มีความพยายามลดการใช้กระดาษในออฟฟิศสำนักงานอย่างต่อเนื่อง แต่แม้กระทั่งประเทศพัฒนาแล้วในยุคดิจิทัลเช่นนี้ ก็ยังไม่สามารถลดการใช้กระดาษให้เป็นศูนย์

หน่วยงานหลายแห่งยังต้องทำธุรกรรมที่อยู่ในรูปกระดาษเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน เพื่อความโปร่งใส หรือเพื่อป้องกันการปลอมแปลง แต่ไม่ใช่เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

กระดาษหนึ่งแผ่นทำร้ายโลกได้มากกว่าที่เราคิด กว่า 2,000 ปีมาแล้วที่มนุษย์คิดค้นการผลิตกระดาษด้วยการนำเยื่อไม้มาแช่น้ำแล้วตากแห้ง

กระบวนการโดยพื้นฐานไม่ต่างไปจากอดีตมากนัก แต่ที่ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงคือ ปริมาณการใช้กระดาษที่เพิ่มขึ้นมหาศาล จนทำให้อุตสาหกรรมกระดาษกลายเป็นตัวร้าย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในยุโรป รองจากอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ และเคมีภัณฑ์

โดยการผลิตกระดาษต้องใช้ทั้งต้นไม้ น้ำ เชื้อเพลิง ไม่นับการใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มความคงทนและเปลี่ยนพื้นผิวของกระดาษให้หลากหลายมากขึ้น

ต้นสนสูง 45 ฟุตขนาดมาตรฐาน 1 ต้น สามารถผลิตกระดาษได้ 10,000 แผ่น หรือกระดาษจำนวน 1 รีมคิดเป็นสัดส่วน 5% ของต้นสน อาจจะดูเหมือนเป็นตัวเลขที่น้อย แต่ลองหันกลับไปมองกล่องกระดาษที่กองสูงเท่าภูเขาในแต่ละสำนักงาน หรือหนังสือพิมพ์นับล้านฉบับที่กระจายอยู่ทั่วโลกในทุกวัน นั่นคือ ต้นไม้ 2 ล้านต้นที่ถูกตัดในทุกวันเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมกระดาษ

ในอดีต ต้นไม้จากป่าถูกโค่นลงเพื่อมาผลิตเป็นกระดาษ โดยการทำลายป่า 14% จากทั้งโลกถูกใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ

ยุคถัดมา แม้จะมีการทดแทนด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อผลิตกระดาษโดยเฉพาะ เช่น ยูคาลิปตัส หรือ ไผ่ แต่นั่นก็คือ การไปเบียดเบียนพื้นที่ป่าหรือพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับผลิตอาหาร แถมยังเป็นการลดความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

แนวคิดกระดาษรีไซเคิลจึงถูกพูดถึงมากขึ้น ซาเล้งทำรายได้งามจากการชั่งกระดาษขายอยู่พักหนึ่ง ก็เริ่มเกิดดราม่าขึ้น ลองนึกถึงถุงกล้วยแขกที่ปรากฏรูปบัตรประชาชนของใครไม่รู้แปะอยู่ สำนักงานหลายแห่งจึงเปลี่ยนมาเป็นการโยนกระดาษใช้แล้วเข้าเครื่องตัดกระดาษให้กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิล

ถึงจุดนี้ ซาเล้งมองตาปริบ ๆ เพราะไม่สามารถรับไปขายต่อได้ หรือขายไปก็ราคาตก ไม่มีการแยกกระดาษขาวดำหรือสีอีกต่อไป

โรงงานรีไซเคิลนำเศษกระดาษเหล่านี้ไปแปรรูปใหม่เป็นกระดาษสีหม่นๆ ถุงกระดาษช้อปปิ้ง หรือบรรจุภัณฑ์กระดาษหมุนเวียนเข้ามาใช้ในระบบเศรษฐกิจ แต่นี่ไม่ใช่ทางออกของโลกที่ยั่งยืน

การรีไซเคิลกระดาษลักษณะนี้เต็มไปด้วยต้นทุนที่มองไม่เห็นระหว่างทาง ตั้งแต่การขนส่งเศษกระดาษไปรีไซเคิล การใช้เชื้อเพลิงในการแปรรูปเชิงอุตสาหกรรม ล้วนทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เต็มไปหมด

รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ที่เหยียบย่ำไปหลายร้อยกิโลเมตรอาจจะไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลย หากกระดาษแผ่นนั้นยังคงอยู่ในสำนักงานและถูกใช้ซ้ำให้ได้นานที่สุด

สตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอล Reep Technology จึงผุดไอเดียการหมุนเวียนกระดาษในออฟฟิศด้วยการผลิต Deprinter ที่ทำงานได้สองทาง ทางแรกคือ การพิมพ์หมึกลงบนกระดาษตามปกติ แต่หมึกพิเศษนี้จะถูกเคลือบไว้อีกชั้นไม่ให้ซึมลงไปในกระดาษโดยตรง และเมื่อต้องการลบหมึกออกก็ใส่กระดาษกลับไปในถาดเช่นเดิม จะมีเลเซอร์พลังงานสูงยิงลงมา ทำให้หมึกระเหยหายไป

ทาง REEP อ้างว่า การหมุนเวียนกระดาษในลักษณะนี้ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมกระดาษได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แถมลดการตัดต้นไม้ ให้ต้นไม้ยังคงทำหน้าที่ป้องกันภาวะโลกร้อนต่อไป

ต้องบอกว่านวัตกรรมชิ้นนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และกำลังทดลองใช้อยู่ในออฟฟิศสำนักงานบางแห่งเพียงเท่านั้น แม้จะกวาดรางวัลมาทั่วยุโรปแต่ยังคงมีคำถามบนโลกอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นมากมาย เช่น ลายเซ็นที่เกิดจากปากกาจะทำอย่างไร เลเซอร์จะสามารถลบภาพที่มีความซับซ้อนของสีได้หมดจดหรือไม่ พลังงานที่ใช้ลบหมึกปล่อยคาร์บอนมากขนาดไหน

Barak Yekutiely ผู้ก่อตั้ง Reep Technology นิยามนวัตกรรมนี้ว่าเป็น Circular Printing ตามหลักของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่สนับสนุนให้เกิดการใช้ซ้ำหรือรียูสให้นานที่สุด ตราบที่อายุขัยของวัสดุประเภทนั้นรองรับ เมื่อหมดสภาพการใช้งานแล้วจึงค่อยนำไปรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป

แต่หากย้อนไปยังวงจรของ Circular Economy ตั้งแต่ต้น จะพบว่าการลดการใช้ หรือ Reduce ควรมาเป็นอันดับแรก เมื่อลดการใช้ก็จะลดการผลิตและลดการสร้างขยะ ดังนั้น Paperless ยังคงเป็นคำตอบสุดท้ายที่ปลายทางรอการปรับตัวของมนุษย์งานทุกคนให้เลิกใช้กระดาษกันดีกว่า

ดูวิธีการทำงานของ Reep Deprinter ได้ที่นี่ https://youtu.be/RofKzrXBkOo


อ้างอิง
https://www.reepcorp.com/
https://paperontherocks.com/2018/11/28/environmental-impact-of-deforestation/
https://www.energymonitor.ai/sectors/industry/the-paper-industrys-burning-secret
https://ribble-pack.co.uk/blog/much-paper-comes-one-tree