กลยุทธ์การขยายธุรกิจและการเติบโตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย ในยุคความปรกติใหม่ (New Normal)

กลยุทธ์การขยายธุรกิจและการเติบโตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย ในยุคความปรกติใหม่ (New Normal)

เพื่อนำไปสู่การเติบโตและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

อุตสาหกรรมการพิมพ์มีความสำคัญต่อประเทศไทยซึ่งถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าตลาดมากกว่า 4 แสนล้านบาท เป็นสัดส่วนของสิ่งพิมพ์ร้อยละ 50 และอีกร้อยละ 50 ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และมีมูลค่าส่งออก 100,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 7 ในปี พ.ศ.2563 มีการเติบโตไปพร้อมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP 1.0 - 1.3 เท่า ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบการติดต่อสื่อสาร การผลิต การดำเนินงานธุรกิจ และการอุปโภคบริโภค ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมไปสู่การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ดิจิทัลอย่างครบวงจร และปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของเจ้าของกิจการในด้านต่าง ๆ จากการแข่งขันเชิงราคา ไปสู่การแข่งขันเชิงสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ (Service Innovation) ที่ผู้บริโภคพอใจสูงสุด ดังนั้นเจ้าของกิจการสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์ที่ผสมผสานสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าด้วยกันเพราะอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ยังมีความเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอีกเป็นจำนวนมาก

กลยุทธ์การเติบโตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ภายใต้บริบทของนวัตกรรมยุคใหม่

1. ผู้ประกอบการได้ใช้กลยุทธ์การเติบโตบนการพัฒนาปรับปรุงคุณสมบัติและคุณภาพของผลิตภัณฑ์เดิม (Intensive Growth Strategy-Product Development) แต่ปรับปรุงเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใหม่ ๆ ของกลุ่มลูกค้า อาทิเช่น การพิมพ์บรรจุภัณฑ์ packaging ที่มีความสะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค พร้อม ๆ ไปกับมีลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการออกแบบให้มีความทันสมัย มีดีไซน์ที่น่าใช้และดึงดูดผู้บริโภคตัวสินค้าในหีบห่อมากขึ้น

2. การใช้กลยุทธ์การเติบโตแบบขยายตลาดและส่วนแบ่งตลาด (Intensive Growth Strategy) ยังพบว่าผู้ประกอบการมุ่งการพัฒนาตลาด Market Development คือ ใช้กลยุทธ์พื้นฐานในการเติบโตของธุรกิจ ที่มาจากการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ หรือ ลูกค้ากลุ่มใหม่ ใน segment ใหม่ ๆ โดยยังใช้ผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ในการแสวงหาหรือสร้างให้เกิดตลาดใหม่ สำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์การพิมพ์ ในการมองตลาดในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่บางครั้งอาจคาดไม่ถึงว่าจะมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสิ่งพิมพ์ ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะมี demand เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสภาวะโรคโควิดและการปรับสู่สถานะ new normal ในสังคม เช่น ในธุรกิจการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของโรงเรียนในทุกระดับชั้น โรงเรียนในกลุ่มธุรกิจการกวดวิชา ธุรกิจการศึกษาต่อต่างประเทศ หรือ แม้กระทั่งในระดับมหาวิทยาลัย มีการต้องการใช้สื่อการพิมพ์ที่มีความจำเป็นอยู่ คือ ตำราเรียนในบางวิชา ไม่สามารถใช้ระบบดิจิทัลทดแทนได้ทั้งหมด สื่อสิ่งพิมพ์สำหรับการโฆษณาและให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจที่จะส่งผลต่อจำนวนผู้เข้ามาสมัครเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเรื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ยา เครื่องสำอาง และสินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลต่าง ๆ หรือแม้แต่การผลิตกระดาษรองอาหารและบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารบนเครื่องบินที่จะเป็นตลาดใหม่ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการประเภทการพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้ผลิตอาหาร ทั้งในรูปแบบวัตถุดิบ และแปรผันไปตามระดับของความสำเร็จรูปในการปรุง

3. กลยุทธ์การเติบโตด้วยการขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผ่านการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (Integrative Growth Strategy) ซึ่งเป็นแนวทางที่กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักในอุตสาหกรรมการพิมพ์ นำเสนอแนวโน้มที่ชัดเจนในแนวทางนี้อย่างเด่นชัดและมีนัยยะสำคัญในหลายรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิสรัปชั่น หลังโควิด และปรากฏการณ์ new normal การใช้กลยุทธ์การขยายธุรกิจในแนวตั้ง (vertical integration) ที่ได้การนำไปปฏิบัติและส่งผลในเชิงบวกต่อความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการพิมพ์ ได้แก่ การจ้างเหมางาน (outsourcing หรือ subcontract) โดยผู้ประกอบการต้องการลดหน้าที่งาน หรือ ภารกิจบางอย่างที่ทำเองแล้วไม่คุ้มต้นทุน หรือไม่มีความถนัด เช่น ลดโดยตัดแผนกขนส่ง จ้างเหมาช่วงให้บริษัทอื่นที่ทำธุรกิจนี้โดยตรงรับช่วงไปทำ หรือ แม้กระทั่งการตัดสินใจยุบโรงพิมพ์ในส่วนของผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ งดทำกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์ แต่ทำเฉพาะการผลิตเนื้อหาและการตลาด

4. กลยุทธ์การเติบโตที่จะกระจายการลงทุนไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ (Diversification Growth Strategy)
4.1 Concentric Diversification การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม
4.2 Conglomerate Diversification การขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิมอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น ข้อเสนอหลัก ๆ ครอบคลุมในสามประเด็นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์การในธุรกิจการพิมพ์ที่จะสามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจในยุค digital disruption และสภาวะ New Normal ได้ ดังต่อไปนี้

1) กลยุทธ์การเติบโตของวิสาหกิจการพิมพ์ไทยควรมุ่งไปที่การใช้กลยุทธ์การเติบโตบนความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อันได้แก่ กลยุทธ์การเติบโตโดยการมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ การพัฒนาตลาดใหม่ ๆ ทั้งนี้ต้องมีระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่สนับสนุนความเชี่ยวชาญและทักษะการทำงานในยุคดิจิทัลของบุคลากรและผู้บริหาร

2) กลยุทธ์การกระจายการลงทุน ที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจการพิมพ์ไทยควรใช้ คือ การนำความรู้และทักษะในการผลิตและการบำรุงรักษาระบบเข้าไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยความรู้ด้านระบบการผลิตพื้นฐานแบบเดียวกัน จะถือเป็นการกระจายธุรกิจแบบยึดโยงกับความเชี่ยวชาญเดิม (Concentric Diversification) ที่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจอย่างยั่งยืน มากกว่าการหันไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่เคยทำมาก่อน (Conglomerate Diversification) ที่จะมีความเสี่ยงสูงกว่า

3) กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการร่วมกัน ในกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและกลุ่มการค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การผนึกพลังร่วม (Synergy) ระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดใน cluster ของสิ่งพิมพ์ และข้าม cluster ไปสู่ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการในสินค้าอื่น ๆ สามารถต่อยอดการเติบโตขององค์การได้อย่างยั่งยืน และครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนสามารถส่งมอบคุณค่า (value) ให้กับลูกค้าได้นำไปสู่การเติบโตและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

ที่มา: สยามวิชาการ ปี ที่ 23 เล่มที่ 2 ฉบับที่ 41 สิงหาคม 2565 – ธันวาคม 2565