การลดต้นทุนเชิงการจัดการ สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 5

การลดต้นทุนเชิงการจัดการ
สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 5
(Administrative cost reduction for the printing and packaging industry, part 5)

วิรัช เดชาสิริสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบโรงงานอัตโนมัติและการลดต้นทุนในโรงงานและขบวนการผลิต
[email protected]

ในเนื้อหาฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงระบบส่งกำลังในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ซึ่งมีอยู่หลายอุปกรณ์ เช่น ชุดมอเตอร์ เกียร์ เพลาส่งกำลัง ยอยส่งกำลัง สายพานส่งกำลังแบบต่าง ๆ พูลเลย์แบบต่าง ๆ เฟืองขับ เฟืองโซ่ โซ่ส่งกำลัง เป็นต้น และก่อนจบเนื้อหาได้กล่าวถึง ชุดเพลาส่งกำลังและยอยส่งกำลัง สำหรับในฉบับนี้จะกล่าวถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ต่อไปคือ

1.2.4 สายพานส่งกำลัง และพูลเลย์แบบต่าง ๆ

ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็มีใช้ในระบบขับเคลื่อนในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์อยู่มาก ฉะนั้นการที่จะทำให้ระบบการทำงานของเครื่องจักร เครื่องพิมพ์สามารถทำงานได้ดีอย่างไม่มีสะดุดก็ต้องดูแลอุปกรณ์เหล่านี้ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานด้วย และถ้าอุปกรณ์เหล่านี้ชำรุดก็ต้องมีการเปลี่ยนใหม่ให้รวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับเครื่องจักรตามมา เพราะนั่นจะทำให้ผลผลิตที่ออกมามีปัญหาในเรื่องของคุณภาพได้ ฉะนั้นในที่นี้จะได้เสนออุปกรณ์อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ว่ามีชนิดหลัก ๆ ที่ใช้งานอยู่แบบไหนบ้าง รวมถึงแนะนำวิธีการบำรุงรักษาและการเปลี่ยมซ่อม

1.2.4.1 พูลเลย์และสายพานร่องวี

อุปกรณ์ชนิดนี้จะใช้งานร่วมกัน เป็นการส่งกำลังที่เห็นการโดยทั่วไปในเครื่องจักร เป็นการส่งกำลังที่มีราคาไม่สูงมาก การติดตั้ง การบำรุงรักษาไม่ยุ่งยาก โดยมากจะใช้กับระบบเครื่องจักรที่ไม่ต้องการจังหวะหรือความแม่นยำของการหมุน เพราะการขับเคลื่อนสายพานแบบนี้อาศัยความฝืด ความตึงของสายพานในการส่งกำลัง จังหวะรอบของการหมุนจึงไม่แน่นอนและกำหนดตำแหน่งเดิมไม่ได้

สำหรับการตรวจดูสภาพของพูลเลย์แบบร่องวี ว่าชำรุดหรือไม่ สามารถดูได้ตามรูปตัวอย่างต่อไปนี้

ตามรูปภาพที่ 1. จะเห็นว่าสภาพร่องของวีพูลเลย์ (V-Pulley) ด้านข้างสึกชำรุดมากซึ่งสาเหตุหลัก ๆเกิดจากอายุการใช้งานนานมากแล้ว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนพูลเลย์ใหม่ หรืออาจเกิดจากการปรับแรงตึงของสายพานอาจหย่อนเกินไปหรือตึงเกินไป ทำให้สายพานเสียดสีมากจนชำรุด หรือเกิดจากสายพานชำรุดแล้วไม่เปลี่ยนสายพานใหม่ จนทำให้สายพานที่ชำรุดเสียดสีกับเนื้อพูลเลย์ ถ้าตรวจพบสภาพของพูลเลย์เป็นแบบนี้ต้องรีบหาสาเหตุและเปลี่ยนเป็นชุดใหม่ทันที

ตามรูปภาพที่ 2. จะเห็นว่าสภาพร่องวี (ร่อง V) ของพูลเลย์สึกชำรุดแทบจะกลายเป็นร่องยู (ร่อง U) สาเหตุก็คือพูลเลย์ใช้งานจนหมดสภาพไปเอง เพราะเสียดสีกับสายพานมาก หรือปรับความตึงสายพานไม่ถูกต้อง หรือใส่สายพานผิดเบอร์ ผิดขนาด เป็นต้น ถ้าใช้งานจนเห็นสภาพเป็นแบบนี้แสดงว่าขาดการตรวจสอบจากผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาเครื่องจักร และจะทำให้การส่งกำลังในจุดนี้ทำงานได้ไม่เต็มที่ จะส่งผลเสียโดยรวมในการทำงานของเครื่องจักรได้ ถ้าตรวจพบต้องรีบหาสาเหตุและเปลี่ยนเป็นชุดใหม่ทันที

ตามรูปภาพที่ 3.(ภาพบน) เป็นพูลเลย์ร่องวีแบบหลายร่อง มีสภาพสึกชำรุดทุกร่อง สาเหตุจะมาจากตามอายุการใช้งาน การปรับความตึงสายพานไม่ถูกต้อง อาจหย่อนหรือตึงเกินไป ใช้ไปนานโดยไม่ได้ตรวจสอบว่าสายพานชำรุดหรือไม่ ถ้าสายพานชำรุดแล้วยังใช้อยู่โดยไม่เปลี่ยน ก็จะทำให้เนื้อสายพานที่ชำรุดเสียดสีเนื้อพูลเลย์จนทำให้ชำรุดต่อเนื่อง ถ้าตรวจพบสภาพนี้ก็พิจรณาเปลี่ยนเป็นพูลเลย์ชุดใหม่ทันที

สำหรับการตรวจดูสภาพของสายพานแบบวี (V-Belt) ว่าชำรุดหรือไม่ สามารถดูได้ตามรูปตัวอย่างต่อไปนี้

ตามรูป 1-4 ด้านบน เป็นรูปสายพาน V-Belt ที่ชำรุดทั้งหมด ถ้าตรวจพบสภาพแบบนี้แสดงว่าสายพานชำรุดมากแล้วต้องรีบเปลี่ยนทันที เพราะถ้าปล่อยไว้อาจจะขาดในขณะใช้งานหรือเดินเครื่องได้ และจะทำให้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์หยุดการทำงานซึ่งจะส่งผลเสียต่อชิ้นงานที่กำลังทำการผลิตอยู่

สำหรับการเปลี่ยนสายพานในเครื่องจักรเมื่อตรวจพบว่าสายพานชุดเก่าชำรุด ถ้าสายพานเก่าที่ถอดออกมีเบอร์บอกขนาดและความยาวติดอยู่ก็เลือกใส่สายพานเส้นใหม่ตามเบอร์เดิมได้เลย แต่ถ้าเบอร์บนสายพานเดิมชำรุดจนอ่านไม่ได้ก็ต้องทราบขนาดของพูลเลย์ ว่าขนาดเท่าไร เช่น ขนาดร่อง A ร่อง B หรืออื่น ๆ ส่วนความยาวก็วัดจากขนาดสายพานเดิมได้

ตามที่ได้อธิบายไว้ ในขณะเปลี่ยนสายพานใหม่ต้องตรวจเช็คเบอร์ของสายพานที่จะใส่ใหม่ให้ถูกต้อง เพราะถ้าใส่เบอร์สายพานไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดผลเสียในการใช้งานได้ เช่น ส่งกำลังไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลเสียในการเดินเครื่องจักรได้ หรืออายุการใช้งานของสายพานจะสั้นลง เป็นต้น

เมื่อได้ทำการเปลี่ยนสายพานอย่างถูกต้องตามเบอร์ของสายพานแล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือการปรับตั้งความตึงของสายพานให้ได้ความตึงที่เหมาะสม กล่าวคือสายพานต้องไม่หย่อนหรือตึงจนเกินไป เพราะถ้าความตึงของสายพานหย่อนไปก็จะทำให้การส่งกำลังจะทำได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซนต์และจะทำเกิดเสียงดังด้วย และการสึกหรอบริเวณหน้าสัมผัสด้านข้างของสายพานและพูลเลย์ก็จะมีมากขึ้นด้วย แต่ถ้าการปรับตั้งให้สายพานมีความตึงมากเกินไป จะเกิดผลดังนี้ การส่งกำลังจะดี 100 เปอร์เซนต์ แต่ชุดลูกปืนที่รองรับเพลาที่มีพูลเลย์ติดตั้งอยู่จะชำรุดเร็วเพราะมีแรงดึงมาดึงมากกว่าปกติตลอดเวลา และผิวด้านข้างของสายพานและพูลเลย์จะสึกเร็วกว่าปกติเช่นเดียวกัน

การตรวจสอบระดับความตึงหย่อนของสายพาน

สำหรับวิธีการตรวจสอบระดับความตึงหย่อนของสายพาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ วิธีการตรวจสอบความตึงหย่อนของสายพานโดยการใช้มือวัด และวิธีการตรวจสอบความตึงหย่อนของสายพานโดยการใช้เครื่องมือวัดความตึงของสายพานโดยเฉพาะ

การตรวจสอบความตึงหย่อนของสายพานโดยการใช้มือวัด

วิธีการตรวจสอบระดับความตึงหย่อนของสายพานเครื่องจักรโดยการใช้มือวัดนั้นถือได้ว่าเป็นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดวิธีหนึ่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วเพียงแค่ใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงไปตรงบริเวณกึ่งกลางของสายพานแล้วทำการวัดระยะการยุบตัวของสายพาน โดยสายพานที่มีระดับความตึงหย่อนที่เหมาะสมจะต้องมีระยะการยุบตัวของสายพานอยู่ที่ประมาณ 15 มิลลิเมตร หากทำการตรวจสอบแล้วพบว่ามีระยะการยุบตัวของสายพานที่มากหรือน้อยกว่านั้น ผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องทำการปรับระดับความตึงหย่อนของสายพานใหม่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อนการใช้งานเพื่อการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจสอบความตึงหย่อนของสายพานโดยการใช้มือวัด อาจให้ผลการทดสอบที่มีความคลาดเคลื่อนซึ่งเป็นผลมาจากน้ำหนักมือและแรงกดของผู้ทำการทดสอบที่ไม่เท่ากัน รวมไปถึงความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือที่ใช้ในการวัดระยะการยุบตัวของสายพานได้

การตรวจสอบความตึงหย่อนของสายพานโดยการใช้เครื่องมือวัดความตึงของสายพานโดยเฉพาะ ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการตรวจสอบระดับความตึงหย่อนของสายพาน เนื่องจากเครื่องมือวัดความตึงของสายพานจะใช้หลักการวิเคราะห์คลื่นโซนิค (Sonic Wave) ที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน การสั่น หรือการแกว่งของสายพานในระหว่างการใช้งาน โดยการใช้งานเครื่องมือวัดความตึงของสายพานสามารถทำได้ด้วยการนำเอาหัวเซนเซอร์ของเครื่องมือวัดความตึงของสายพานมาเข้าใกล้สายพานในระยะอย่างน้อย 1 เซนติเมตร โดยที่ไม่ต้องทำการสัมผัส

เนื่องจากบริเวณเซนเซอร์ของเครื่องมือวัดความตึงของสายพานจะทำการตรวจจับคลื่นที่เกิดขึ้นในระยะ Span ของสายพาน หรือ ระยะที่วัดจากจุดศูนย์ของกลางของพูลเลย์ (Pulley) หนึ่งไปยังอีกพูลเลย์หนึ่งเท่านั้น โดยหลังจากนั้น เครื่องมือวัดความตึงของสายพานจะทำการวิเคราะห์และประมวลผลค่าความตึงหย่อนของสายพาน ก่อนจะแสดงผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำออกมาบนหน้าจอดิจิตอลในหน่วย N (นิวตัน)

วิธีการปรับระดับความตึงหย่อนของสายพาน

  1. ปิดเครื่องจักรพร้อมทำการแขวนป้ายแจ้งเตือนว่า เครื่องจักรกำลังซ่อมห้ามใช้งาน (DO NOT RUN MACHINERY) เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้พนักงานที่เกี่ยวข้อง หรือพนักงานที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยรอบปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง
  2. ทำการถอดฝาครอบชุดสายพานออก พร้อมทำการคลายสกรูยึดฐานมอเตอร์
  3. ค่อย ๆ ทำการปรับลดระยะห่างระหว่างเพลาขับและเพลาตามลงเพื่อให้สายพานหย่อนลง หรือปรับเพิ่มระยะห่างระหว่างเพลาขับและเพลาตามเพื่อให้สายพานตึงขึ้น ตามความต้องการ
  4. ทำการตรวจสอบระดับความตึงหย่อนของสายพานและสายพานส่งกำลังโดยการใช้มือวัด หรือใช้เครื่องมือวัดความตึงของสายพานโดยเฉพาะตามความเหมาะสม
  5. ทำการปรับตั้ง Alignment ของพูลเลย์ (Pulley)หรือลูกล้อของสายพาน ให้อยู่ในระดับที่ถูกต้องตรงกัน
  6. ขันสกรูยึดฐานมอเตอร์ให้แน่นด้วยค่าแรงบิดที่ถูกต้อง
  7. ทำการติดตั้งฝาครอบสายพานให้เรียบร้อย แล้วเปิดให้เครื่องจักรทำงานต่อเนื่องประมาณ 20 นาที
  8. หลังจากนั้นให้ทำการปิดเครื่องจักรและถอดฝาครอบสายพานเครื่องจักรออก เพื่อทำการตรวจเช็คระดับความตึงหย่อนของสายพาน โดยการใช้มือวัด หรือใช้เครื่องมือวัดความตึงของสายพานอีกครั้ง หากพบว่าสายพานมีระยะการยุบตัวของสายพานมากหรือน้อยกว่า 15 มิลลิเมตร หรือมีค่าความตึงที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 5% ให้ทำการปรับระดับความตึงหย่อนของสายพานใหม่ แล้วทำการทดสอบอีกครั้ง
  9. เมื่อทดสอบและได้ความตึงที่ถูกต้องแล้ว ให้ทำการติดตั้งฝาครอบสายพานเครื่องจักร พร้อมทำการตรวจสอบความเรียบร้อยทั้งหมดอีกครั้ง ก่อนจะทำการปลดป้ายแจ้งเตือนเครื่องจักรกำลังซ่อม ห้ามใช้งานออก (DO NOT RUN MACHINERY) เพียงเท่านี้เครื่องจักรก็พร้อมสำหรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง

1.2.4.2 ไทม์มิ่งพูลเลย์และสายพานแบบไทม์มิ่ง (Timing Pulley and Timing Belt)

อุปกรณ์ส่งกำลังทั้งสองนี้จะใช้งานร่วมกัน เป็นการส่งกำลังที่เห็นการโดยทั่วไปในเครื่องจักร เป็นการส่งกำลังที่มีราคาสูงกว่าสายพานแบบร่องวี (V-Belt) ปัจจุบันนี้เป็นที่นิยมใช้มาก เพราะว่าสามารถใช้ส่งกำลังตั้งแต่ขนาดเล็ก แรงขับแรงบิดน้อย ไปจนถึงขนาดใหญ่ แรงขับแรงบิดมาก ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ปัจจุบันนี้มีใช้อย่างแพร่หลาย ข้อดีของการส่งกำลังแบบนี้ก็คือ อุปกรณ์หาง่าย ติดตั้งง่าย มีขนาดให้เลือกใช้งานอย่างหลากหลาย ไม่กลัวน้ำมันหรือจารบี เพราะไม่ใช้ความฝืดในการส่งกำลัง และที่สำคัญก็คือใช้ส่งกำลังที่ต้องการจังหวะหรือตำแหน่งที่แน่นอนได้

สำหรับเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ที่ต้องการให้ทำงานได้ดี ไม่มีหยุดขณะเดินเครื่อง ทางทีมช่างของโรงงานต้องหมั่นคอยสังเกตุ ตรวจสอบสภาพของพูลเลย์และสายพานอยู่เสมอ ถ้าตรวจพบว่ามีสภาพเริ่มชำรุดเสียหายแล้วก็วางแผนเปลี่ยนทันทีไม่ต้องรอให้ชำรุดมากหรือขาดไปก่อน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจะทำให้การทำงานของเครื่องจักร มีปัญหาหรือหยุดได้ในขณะใช้งาน

สำหรับการปรับตั้งความตึงของสายพานก็สามารถใช้วิธีเดียวกันกับการปรับตั้งสายพานแบบ V-Belt ได้ ส่วนการดูแลในส่วนอื่น ๆ ของสายพานและพูลเลย์แบบนี้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่ต้องตรวจเช็คอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ระบบการทำงานของเครื่องจักรพร้อมทำงานอยู่ตลอดเวลา

1.2.5 โซ่และเฟืองโซ่ส่งกำลัง (Roller Chain and Sprocket)

ซึ่งในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์ ต้องอาศัยการส่งกำลังในหลากหลายรูปแบบ และชุดโซ่และเฟืองโซ่ก็เป็นหนึ่งในนั้น ฉะนั้นการดูแลรักษา การเปลี่ยนซ่อม การปรับปรุงอัพเกรดเครื่องจักร ทางทีมช่างก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับโซ่และเฟืองโซ่พอสมควรในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทำงานได้อย่างถูกต้องไม่มีผิดพลาดได้

ในการอัพเกรดเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โซ่และเฟืองโซ่ที่ประกอบเป็นส่วนหนึ่งในระบบส่งกำลังของเครื่องจักร ต้องมีสภาพสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าอุปกรณ์ชนิดนี้มีสภาพไม่สมบูรณ์ ก็จะทำให้จังหวะในการส่งกำลังผิดเพี้ยนไปได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อชิ้นงานที่ถูกผลิตออกมา ซึ่งการที่จะทำให้ระบบส่งกำลังแบบนี้ทำงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการตรวจเช็คสภาพของโซ่และเฟืองโซ่อยู่ตลอดเวลา มีการดูแลและบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง และในการใช้งานไปนาน ๆจนมีสภาพไม่พร้อมทำงาน ก็ต้องมีการเปลี่ยนใหม่

ในการตรวจเช็คสภาพภายนอกของโซ่ ถ้าโซ่มีฝาครอบโซ่ ต้องเปิดฝาครอบออก และตรวจดูว่าไม่มีชิ้นส่วนไหนชำรุด สภาพโซ่มีสารหล่อลื่นเช่นน้ำมันหรือจารบีติดอยู่หรือไม่ พร้อมตรวจดูกระปุกใส่จารบีและน้ำมันหล่อลื่นต้องไม่แห้ง ถ้าสารหล่อลื่นใกล้หมดต้องรีบเติมทันที และในส่วนที่ต้องตรวจเช็คอีกอย่างหนึ่งก็คือสภาพความตึงหย่อนของชุดโซ่ ซึ่งโดยปกติเมื่อชุดโซ่และเฟืองโซ่ถูกใช้งานไปนาน ๆ ก็ต้องมีการสึกหรอและโลหะที่ประกอบเป็นชุดโซ่ก็หลวมคลอนบริเวณสลัก รูบูช แผ่นโลหะประกบด้านข้าง ก็จะทำให้โซ่ยืดตัวออกในทุก ๆ จุดของข้อต่อโซ่ และจะทำให้ความยาวของโซ่เพิ่มขึ้น ซึ่งความยาวโซ่ที่ยืดตัวออกจะยอมให้ยืดออกได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบความยาวกับโซ่ของใหม่ ถ้าตรวจพบว่าโซ่ยืดตัวเท่ากับหรือเกิน 3 เปอร์เซนต์แล้ว ควรเปลี่ยนเป็นโซ่ใหม่ทันที และในขณะเดียวกันต้องตรวจสภาพของเฟืองโซ่ด้วย ถ้าตรวจพบว่ามีสภาพชำรุดแล้วก็ต้องเปลี่ยนเฟืองโซ่เป็นชุดใหม่ด้วย

สำหรับเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนโซ่ที่ยืดตัวออกเกินค่าที่กำหนดเพราะว่าระยะพิทของโซ่จะเปลี่ยนไป ซึ่งจะทำให้ในขณะเดินเครื่องจะเห็นอาการกระตุกของโซ่และเฟืองโซ่อยู่เป็นระยะ เพราะว่าตอนที่โซ่ยืดตัวออกจะทำให้ระยะข้อต่อของโซ่บางข้อที่จะไปคล้องลงบนฟันเฟืองโซ่ ลงแบบไม่ตรงตำแหน่งทีเดียว อาจจะก่อนหรือหลังบ้างจึงทำให้เกิดการกระตุกขึ้น ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะส่งผลเสียต่อการทำงานของเครื่องพิมพ์ เครื่องจักรได้

ในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์อาจมีชุดโซ่และเฟืองโซ่อยู่หลายตำแหน่ง ฉะนั้นในการตรวจเช็คสภาพของโซ่ควรกระทำทุกชุดที่อยู่ในเครื่อง เพราะถ้าตรวจเช็คไม่ทั่วถึง ก็จะทำให้การปรับปรุงหรือการอัพเกรดเครื่องจักรทำได้ไม่สมบูรณ์

สำหรับชุดโซ่และเฟืองโซ่ที่มีชุดหล่อลื่นติดอยู่ ต้องคอยหมั่นตรวจเช็คว่ามีสารหล่อลื่นอยู่ในกระปุก กระบอก หรือภาชนะบรรจุ อยู่หรือไม่ ตรวจพบว่าอยู่ในระดับที่ต่ำแล้วควรรีบเติมทันทีและในขณะเดียวกันก็ต้องตรวจเช็คว่าอุปกรณ์ช่วยหล่อลื่นนั้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมทำงาน ถ้าชำรุดก็ต้องซ่อมให้เรียบร้อย

สำหรับการปรับตั้งความตึงของโซ่ ในระบบปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ แบบตั้งให้ตึงแล้วล็อกค้างไว้ ถ้าโซ่หย่อนอีกก็ตั้งใหม่ ส่วนอีกแบบเป็นลักษณะตั้งความตึงแบบอัตโนมัติ อาจจะใช้แรงดันหรือกดของสปริง หรือแขนแรงบิดจากยางชนิดพิเศษ เป็นต้น

สำหรับการดูแลและรักษาชุดตั้งความตึงโซ่ หรือเปลี่ยนเป็นชุดใหม่นั้น ก็เหมือนกับการดูแลรักษาชุดโซ่และเฟืองโซ่เช่นเดียวกัน เพราะถ้าปล่อยให้ทำงานโดยไม่มีการดูแล ชิ้นส่วนเหล่านี้ก็จะชำรุดได้ หรือถ้าชำรุดแล้วไม่เปลี่ยนเป็นชุดใหม่ ก็จะส่งผลต่อการทำงานของชุดโซ่และเฟืองโซ่ได้

สรุปในเครื่องจักร เครื่องพิมพ์เครื่องหนึ่ง การที่จะทำให้เครื่องเดินงานได้ดี มีผลผลิตออกมามีคุณภาพดี ได้ปริมาณในช่วงเวลาผลิตตามที่ต้องการ มีของเสียน้อยที่สุด ทุกชิ้นส่วนในเครื่องจักร ต้องพร้อมทำงานตลอดเวลา และสร้างคุณค่าให้กับกิจการได้ดีตลอดต่อเนื่องไป

อ่านต่อฉบับหน้า…