โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของไทยในส่วนภูมิภาคสู่ตลาดโลก (ภาคใต้)

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของไทยในส่วนภูมิภาคสู่ตลาดโลก (ภาคใต้)

วันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จ.สงขลา

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของไทยในส่วนภูมิภาคสู่ตลาดโลก (ภาคใต้) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จ.สงขลา ในปีนี้มีผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 41 ราย จากจังหวัด กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา สงขลา และสตูล แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร หัตถกรรมท้องถิ่น สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ 20 ราย

โดยในปีนี้ได้มีการเพิ่มกิจกรรม Online Coaching การให้คำปรึกษาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 2 ครั้ง เป็นการให้คำปรึกษาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญเป็นครั้งแรกของโครงการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านโลโก้ รูปแบบสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ แบบตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการ

สำหรับกิจกรรมภายในวันงานประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ นิทรรศการ BCG Packaging Trend การบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อ “เครื่องหมายการค้าสำคัญอย่างไรต่อ OTOP & SMEs” โดย คุณประสิทธิ์ คล่องงูเหลือม อุปนายกฝ่ายวิชาการสมาคมการพิมพ์ไทย หัวข้อ “BCG Model เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน” โดย อาจารย์ศุภเดช หิมะมาน หัวหน้าสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวข้อ “บรรจุภัณฑ์เพื่อการยืดอายุอาหาร” โดย อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก ที่ปรึกษาสมาคม การออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย และหัวข้อ “Packaging Design for E-Commerce and Import/Export” โดย ดร.ณัฐกฤษณ์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านบรรจุภัณฑ์ในกระบวนการขนส่งโลจิสติกส์ สำนักโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม Workshop “การสร้างอัตลักษณ์ให้บรรจุภัณฑ์ (Product Positioning) เชิงดีไซน์” และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ OTOP/SMEs และผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในพื้นที่ ซึ่งเกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจจำนวน 58 คู่ มูลค่ารวม 3,304,500 บาท แบ่งเป็นมูลค่าการค้าทันที 108,500 บาท และคาดการณ์มูลค่าการค้าภายใน 1 ปี 3,196,000 บาท