เทคโนโลยีการพิมพ์ฉลาก (4)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ตันวิไลศิริ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
นอกจากเทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซต เทคโนโลยีการพิมพ์เฟล็กโซกราฟี และเทคโนโลยีการพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ ที่นำมาใช้ในการผลิตฉลาก เทคโนโลยีการพิมพ์สกรีนและเทคโนโลยีการพิมพ์กราวัวร์ ยังเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์แบบใช้แม่พิมพ์ ที่นำมาใช้ในการพิมพ์ฉลาก โดยเทคโนโลยีการพิมพ์สกรีน จะเหมาะในการพิมพ์สีพื้น และการสร้างลักษณะพิเศษ เช่น การพิมพ์หมึกที่มีกลิ่น การพิมพ์ตัวอักษรนูนขึ้นมา และสำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์กราวัวร์ จะเหมาะกับการพิมพ์ฉลากที่ต้องการจำนวนผลิตเป็นจำนวนมาก
3. เทคโนโลยีการพิมพ์สกรีน
เทคโนโลยีการพิมพ์สกรีน หรือที่เรียกว่า การพิมพ์พื้นฉลุ โดยเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีการสร้างภาพบนผ้าสกรีน โดยส่วนที่ไม่ใช่ภาพจะมีกาวอัดปิดบริเวณรูผ้าสกรีน และส่วนที่เป็นภาพจะไม่มีกาวอัดปิด ดังแสดงในรูปที่ 1 ในการผลิตงานพิมพ์จะใช้ยางปาดมาทำหน้าที่ปาดหมึกพิมพ์ให้หมึกพิมพ์ไหลผ่านรูผ้าสกรีนลงสู่วัสดุใช้พิมพ์
เทคโนโลยีการพิมพ์สกรีนได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในการพิมพ์งานลงบนวัสดุพิมพ์ได้หลายประเภท เช่น ผ้า พลาสติก แก้ว กระดาษ และแผ่นโลหะ เป็นต้น จุดเด่นของเทคโนโลยีการพิมพ์แบบนี้ คือ สามารถใช้พิมพ์บนวัสดุที่ขึ้นเป็นรูปทรงได้ สามารถให้ความหนาของชั้นหมึกพิมพ์ได้ถึง 200 ไมครอน จากการเลือกใช้รูผ้าสกรีน เพื่อการพิมพ์งานเคลือบเฉพาะจุด (spot coating) หรือการสร้างอักษรเบรลล์ เทคโนโลยีการพิมพ์สกรีนยังได้ถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้ในการพิมพ์เฉพาะด้าน (functional printing) เช่น การพิมพ์หมึกพิมพ์นำไฟฟ้า เพื่อใช้ในสร้างกระจกไล่ฝ้าในอุตสาหกรรมการผลิตกระจกรถยนต์ หรือการใช้หมึกนำไฟฟ้าในการพิมพ์บนแผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ (printed circuit board) เป็นต้น
แม่พิมพ์สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์สกรีน จะสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ แม่พิมพ์สกรีนแบบราบ และแม่พิมพ์สกรีนแบบทรงกระบอก ซึ่งจะมีการใช้ในการผลิตงานพิมพ์ที่แตกต่างกัน แม่พิมพ์สกรีนแบบราบ จะมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมทำจากไม้หรือโลหะ ผ้าสกรีนจะทำจากโพลีเอสเตอร์ หรือไนลอน ดังแสดงในรูปที่ 2 จะใช้ในการพิมพ์งานทั่วไป เช่น การพิมพ์เสื้อ แผ่นป้ายโฆษณา แผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ ส่วนแม่พิมพ์สกรีนแบบทรงกระบอก ลักษณะแม่พิมพ์จะเป็นทรงกระบอก มีความยาวเท่ากับหน้ากว้างของเครื่องพิมพ์ ดังแสดงในรูปที่ 3 ผ้าสกรีนทำจากโลหะที่มีน้ำหนักเบา และมีความแข็งแกร่ง เช่น เหล็กกล้า นิเกิล เป็นต้น มียางปาดอยู่ด้านในของแม่พิมพ์ แม่พิมพ์สกรีนแบบนี้นิยมนำมาใช้ในการพิมพ์งานประเภทฉลาก
ในการผลิตงานพิมพ์ประเภทฉลาก เทคโนโลยีการพิมพ์สกรีนจะถูกนำมาติดตั้งในเครื่องพิมพ์แบบผสม (Combination printing press) ซึ่งจะเป็นหน่วยพิมพ์ที่นิยมใช้ในการพิมพ์สีพื้นให้กับฉลาก หรือการทำลักษณะพิเศษ เช่น การพิมพ์หมึกที่มีกลิ่น ซึ่งเป็นการพัฒนาหมึกพิมพ์สกรีน โดยหมึกพิมพ์จะมีการผสมแคปซูลกลิ่นต่าง ๆ และเมื่อกดให้แคปซูลแตก จะทำให้กลิ่นที่บรรจุไว้ มีการระเหยออกมา เป็นวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งพิมพ์ อีกเทคนิคหนึ่งที่นิยมใช้ในการสร้างมูลค่าให้กับงานพิมพ์ คือ การพิมพ์ตัวอักษรนูนขึ้นมา เนื่องจากการพิมพ์สกรีนจะให้ชั้นหมึกพิมพ์ที่ค่อนข้างหนา ทำให้สามารถนำมาปรับใช้ในการทำตัวอักษรนูน หรือการเคลือบเฉพาะจุดได้ นอกจากนั้นความหนาของหมึกพิมพ์สกรีนที่มีความหนามากกว่า 200 ไมครอน จะทำให้สามารถผลิตอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตาได้
4. เทคโนโลยีการพิมพ์กราวัวร์
เทคโนโลยีการพิมพ์กราวัวร์ เป็นระบบการพิมพ์ที่นิยมใช้ในการพิมพ์ฉลาก และบรรจุภัณฑ์อ่อน (Flexible packaging) เหมาะสมกับการพิมพ์ที่ต้องการจำนวนพิมพ์มาก เทคโนโลยีการพิมพ์นี้สามารถใช้พิมพ์ลงบนวัสดุได้หลายประเภท เช่น กระดาษ พลาสติก เป็นต้น จากรูปที่ 5 แสดงหลักการของเทคโนโลยีการพิมพ์กราวัวร์ ที่แม่พิมพ์จะถูกติดตั้งในรางหมึก หมึกพิมพ์ที่ใช้เป็นหมึกพิมพ์ที่มีความหนืดต่ำ ในการผลิตงานพิมพ์ แม่พิมพ์จะถูกหมุนและหมึกพิมพ์จะไหลเข้าสู่บ่อหมึก และมีใบมีดปาดหมึกที่ใช้ในการปาดหมึกส่วนเกินบนผิวโมแม่พิมพ์ และมีโมกดพิมพ์ที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดภาพจากแม่พิมพ์ลงสู่วัสดุพิมพ์
แม่พิมพ์ของเทคโนโลยีการพิมพ์กราวัวร์ จะมีลักษณะเป็นพื้นลึก ส่วนที่เป็นภาพจะมีลักษณะเป็นบ่อหมึก ขนาดความกว้างและความลึกของบ่อหมึก จะส่งผลต่อปริมาณหมึกที่ใช้ในการสร้างรายละเอียดของภาพพิมพ์ รายละเอียดของภาพบริเวณที่เป็นสีเข้ม เม็ดสกรีนขนาดใหญ่ บ่อหมึกจะมีความกว้างและความลึกมาก รายละเอียดของภาพที่มีสีอ่อน เม็ดสกรีนมีขนาดเล็ก บ่อหมึกจะมีความกว้างและความลึกที่ไม่มาก ดังแสดงในรูปที่ 6 และ 7
แม่พิมพ์กราวัวร์จะมีโครงสร้างทั้งหมด 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นเหล็ก ชั้นนิกเกิล ชั้นทองแดง และชั้นโครเมียม การชุบโครเมียมเป็นชั้นสุดท้ายของแม่พิมพ์ จะทำให้แม่พิมพ์มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถใช้ในการผลิตงานพิมพ์ได้เป็นจำนวนมาก แต่ราคาของแม่พิมพ์จะค่อนข้างสูงหากเปรียบเทียบกับแม่พิมพ์ในเทคโนโลยีการพิมพ์อื่น ๆ การทำแม่พิมพ์กราวัวร์จะเริ่มต้นจากการนำเหล็กท่อมาทำการทำความสะอาดให้ผิวของเหล็กมีความสะอาดและไม่มีรอย จากนั้นจะนำมาชุบด้วยนิกเกิลเพื่อให้เป็นตัวกลางในการให้ชั้นทองแดงสามารถยึดติดกับผิวเหล็กได้ เมื่อเคลือบผิวด้วยทองแดงเสร็จแล้ว โมแม่พิมพ์ที่ได้จะถูกนำมาทำความสะอาดอีกครั้ง และทำการปรับปรุงสภาพผิวของทองแดงให้มีความเรียบ ไม่มีรอย และนำโมแม่พิมพ์ไปสร้างภาพ ในขั้นตอนการสร้างภาพจะสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การกัดกรด และการเจาะเชิงกลด้วยหัวเพชร ดังแสดงในรูปที่ 8
ในการผลิตฉลากด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์กราวัวร์ จะนิยมใช้ในการผลิตฉลากที่ต้องการจำนวนพิมพ์มาก เช่น ฉลากเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ สิ่งที่สำคัญของเทคโนโลยีการพิมพ์กราวัวร์ คือ การแยกสีในการทำแม่พิมพ์ เนื่องจากการเก็บรายละเอียดของงานพิมพ์จะมาจากการกำหนดสีที่ถูกต้องในการพิมพ์ และการกำหนดช่วงความละเอียดในการพิมพ์งาน เนื่องจากลักษณะของเครื่องพิมพ์และการทำแม่พิมพ์ จะทำให้ช่วงความละเอียดในการผลิตสีงานพิมพ์ที่ได้จะมีความแตกต่างกัน ความหนืดของหมึกพิมพ์เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เพราะความหนืดของหมึกพิมพ์ที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดปัญหาทางการพิมพ์ เช่น เม็ดสกรีนอุดตันได้