การลดต้นทุนเชิงการจัดการ สำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และแพคเกจจิ้ง ตอนที่ 3
(Administrative cost reduction for the printing and packaging industry, part 3)
วิรัช เดชาสิริสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบโรงงานอัตโนมัติและการลดต้นทุนในโรงงานและขบวนการผลิต
[email protected]
ในเนื้อหาฉบับที่แล้ว ได้อธิบายในหัวข้อที่ 5. การลดต้นทุนในส่วนของฝ่ายคลังสินค้าทั้งรับเข้าและส่งออก และได้อธิบายถึงการจัดเก็บสินค้าว่ามีระบบหรือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทำแล้วช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทได้ ซึ่งระบบที่ได้อธิบายไว้ก่อนจบเนื้อหาในฉบับที่แล้ว คือระบบ ASRS Warehouse System ซึ่งระบบนี้เหมาะสำหรับกับบริษัทที่มีสินค้าที่มากพอและเหมาะสมสำหรับการลงทุน
สำหรับบริษัทที่มีสินค้าไม่มาก สินค้ามีชิ้นเล็กและใหญ่ผสมกัน และมีความหลากหลายของสินค้าสูง รวมถึงมีงบประมาณในการลงทุนไม่มาก ก็สามารถเลือกใช้ระบบการจัดเก็บที่เล็กลงมาได้ เช่น ระบบการจัดเก็บแบบกึ่งอัตโนมัติและแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นแบบสำเร็จรูป ที่มีขายและใช้อยู่ในท้องตลาดมีอยู่หลายประเภท หลายยี่ห้อ แต่มีลักษณะการทำงานและการจัดเก็บที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นลักษณะตามโครงสร้างและการใช้งานดังนี้
แบบ Horizontal Carousels ประกอบด้วยลังหรือกล่องพลาสติกที่ติดตั้งอยู่ในแนววงรีหมุนตามแนวนอน เวลาเรียกเก็บหรือเรียกออกมาใช้ก็สามารถเรียกค้นข้อมูลที่หน้าจอได้เลย ซึ่งระบบนี้สามารถจำกัดการเข้าถึงหรือเปิดระบบได้ ระบบนี้จะช่วยให้ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บได้ถึง 60 – 80 % และระยะเวลาในการจัดเก็บและเรียกคืนก็เร็วขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับการจัดเก็บแบบทั่วไป
แบบ Vertical Carousels ประกอบด้วยชุดชั้นวางหมุนไปรอบแทร็ก ซึ่งคล้าย ๆกับชิงช้าสวรรค์ มีขนาดเล็กและไม่สูงมาก จนถึงขนาดใหญ่และสูงพอประมาณ เหมาะสำหรับจัดเก็บเอกสาร วัสดุชิ้นส่วนงาน อะไหล่ สินค้าที่มีขนาดเล็กไปถึงใหญ่ ใช้งานง่าย ติดตั้งง่าย ประหยัดพื้นที่ ประหยัดเวลาในการทำงานได้ถึง 70 – 80%
สำหรับการจัดเก็บแบบ Carousels ทั้งแบบ Horizontal และ แบบ Vertical นั้น นอกจากจะประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและเวลาในการทำงานแล้ว ยังช่วยลดความผิดพลาดในการทำงาน ลดเอกสาร รวมถึงลดแรงงานที่จะต้องใช้ทำงาน รวมถึงเรื่องเพิ่มความปลอดภัยของสินค้าที่มีมูลค่าสูง ๆ ได้ และในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ที่เป็นสำนักงานหรือออฟฟิศ ได้ใช้ระบบ Vertical Carousels ในการจัดเก็บเอกสารสำคัญหรือสิ่งของ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูง
สำหรับในปัจจุบันนี้ หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ บริษัท โรงงานต่าง ๆ ในประเทศไทยได้มีใช้ระบบการจัดเก็บแบบ Horizontal และแบบ Vertical Carousels แล้วประมาณ 800 – 1000 ชุด โดยจำนวนมากกว่า 90 เปอร์เซนต์เป็นแบบการจัดเก็บ Vertical Carousels ซึ่งเหตุผลหลักในการใช้การจัดเก็บแบบ Vertical Carousels มากกว่าแบบ Horozontal Carousels ก็คือ ราคาและประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง รวมถึงวัตถุประสงค์ที่ใช้ในการจัดเก็บ ซึ่งส่วนมากสินค้า สิ่งของ เอกสาร หรืออื่น ๆที่มีขนาดเล็ก เหมาะกับการใช้แบบ Vertical Carousels จัดเก็บมากกว่า ส่วนแบบ Horizontal Carousels มีระบบอื่น ๆที่มีลักษณะคล้ายกันเป็นคู่แข่งในตลาดการจัดเก็บ
สำหรับการจัดเก็บและการปล่อยออกสินค้ายังมีระบบย่อยแบบอื่น ๆ อีกมากมายหลายระบบ บางระบบเป็นการผสมผสานกัน บางระบบออกแบบให้เหมาะสมกับหีบห่อหรือการบรรจุในสินค้านั้น ๆ และบางระบบต้องออกแบบ ผลิต ติดตั้ง เฉพาะงานนั้น ๆเท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการ หรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการดูแลและรับผิดชอบสามารถเลือกใช้ระบบต่าง ๆที่มีขายอยู่ หรือจะให้ทางซัพพลายเออร์เข้ามาเสนอระบบแข่งขันกัน เพื่อจะได้ใช้ของดี ระบบดี ในราคาที่เหมาะสม
6. ในการจัดการเรื่องระบบวิศวกรรมในโรงงานและการซ่อมบำรุง
ซึ่งการจัดการในแต่ละหน่วยงาน แต่ละบริษัท แต่ละโรงงาน ก็มีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็นดังนี้:
1. ในบริษัท โรงงาน ที่มีแผนกนี้ที่ชัดเจน จะมีผู้จัดการ หัวหน้างาน พนักงาน รับผิดชอบในการทำงาน ซึ่งงานที่ทำก็แบ่งหน้าที่ตามสายงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งระบบการจัดการตามสายงานแบบนี้ส่วนมากจะเป็นบริษัท โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ การทำงานแบบนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาในการจัดการหรือการทำงาน แต่ระบบนี้ต้องได้หรือมีพนักงานที่มีความรู้ ความสามารถมาจัดการ ทุกอย่างก็จะราบรื่น แต่ถ้าได้ผู้จัดการ หัวหน้างานหรือพนักงานที่มีคุณภาพหรือประสิทธิภาพไม่เพียงพอ งานก็อาจมีปัญหาได้
2. ในบริษัท โรงงานที่มีขนาดเล็ก อาจจะไม่มีผู้จัดการแผนก จะมีระดับหัวหน้าแผนกและพนักงานช่าง ซึ่งความรับผิดชอบก็จะคล้าย ๆ กับในหัวข้อแรก ซึ่งต้องได้บุคคลากรที่มีความสามารถมารับผิดชอบมาแก้ไขปัญหา ซึ่งก็จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นได้
ในบางบริษัท อาจมีพนักงานช่างเพียง 1 – 2 ท่าน ซึ่งสายงานขึ้นตรงกับเจ้าของกิจการเลย ซึ่งความรับผิดชอบและความสามารถก็ต้องมีแบบรอบตัวคือทำได้ทุกอย่าง ต้องมีความรับผิดชอบสูง และสามารถทำให้เครื่องจักรที่มีใช้งานอยู่ ทำงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง
ที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นสายงาน และหน้าที่รับผิดชอบโดยทั่วไปที่บริษัท โรงงานต่าง ๆได้มีการบริหารงานแบบนี้ ถ้าจะให้ระบบ และเครื่องจักร ที่มีการจัดการงานซ่อมบำรุงที่ดี รวมถึงงานวิศวกรรมในด้านอื่น ๆมีการพัฒนาขึ้นอีก ต้องใช้ความร่วมมือในทุกฝ่าย ตั้งแต่เจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง รวมถึงพนักงานระดับล่างในสายงานเดียวกัน รวมถึงสายงานอื่น ๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกัน
และในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้นทุนในการผลิตนับวันจะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายวิศวกรรมและฝ่ายซ่อมบำรุงจะมีบทบาทมากขึ้นในการปรับปรุงเครื่องจักรให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ลดต้นทุนในการซ่อมบำรุง และถ้ามีส่วนร่วมในการเสนอแนะไปให้ฝ่ายบริหารได้ทราบก็ควรทำ เพราะถ้าจะให้ทางผู้บริหารมองเห็นปัญหาทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ต้องให้ผู้ที่อยู่หน้างานจริง ๆรายงานขึ้นไป และนอกเหนือจากงานที่ได้ทำอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว สิ่งที่ฝ่ายวิศวกรรมและซ่อมบำรุงต้องช่วยคิด ออกไอเดีย เสนอไปให้ทางผู้บริหารได้รับทราบ ซึ่งเมื่อทำแล้วจะเกิดประโยชน์ประโยชน์ต่อบริษัท โรงงานและองค์กร ซึ่งมีหัวข้อและรายการที่น่าสนใจพอที่จะแนะนำได้ดังนี้ :
1. ผลิตไฟฟ้าใช้เองในโรงงาน เช่น ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานหรือถ้ามีที่ดินเปล่าว่างอยู่ก็นำมาใช้ประโยชน์ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์นี้ได้
ในปัจจุบันนี้ราคาต้นทุนของโซลาร์เซลล์ รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมีราคาลดลงจากเมื่อ 4 – 5 ปีที่ผ่านมามาก โดยก่อนหน้านี้ราคาอุปกรณ์ทั้งหมดของระบบ รวมงานติดตั้งขนาด 1 เมกกะวัตต์ ราคาจะตกอยู่ที่ประมาณ 30 – 35 ล้านบาท แต่ในปัจจุบันจะเหลือประมาณ 20 – 25 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของอุปกรณ์แต่ละแบรนด์ เงื่อนไขทางการเงิน ลักษณะของการติดตั้ง การรับประกันและอื่น ๆประกอบ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ทั้งการติดตั้งตามที่อยู่อาศัย อาคารธุรกิจ อาคารโรงงานและอื่น ๆ มีอัตราการเติบโต 30 – 40 เปอร์เซนต์ต่อปีทุกปี และในปัจจุบันราคาต้นทุนพลังงงานก็เพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา ราคาค่ากระแสร์ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองก็ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
สำหรับอุปกรณ์หลัก ๆที่ใช้ในระบบโซลาร์เซลล์ ทั้งที่ติดตั้งบนหลังคาและบนพื้นดิน มีดังนี้
1. แผงโซลาร์เซลล์
แผงโซล่าเซลล์ทำงานโดยเมื่อได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงก็จะเปลี่ยนเป็นพาหะนำไฟฟ้า และจะถูกแยกเป็นประจุไฟฟ้าบวกและลบเพื่อให้เกิดแรงดันไฟฟ้าที่ขั้วทั้งสองของโซล่าเซลล์
2. อินเวอร์เตอร์
อินเวอร์เตอร์เป็นอุปกรณ์ที่แปลงกระแสไฟฟ้าตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับในการแปลงดังกล่าว จะเกิดการสูญเสียขึ้นเสมอโดยทั่วไป ประสิทธิภาพของอินเวอร์เตอร์มีค่าประมาณร้อยละ 85 – 90 หมายความว่าถ้าต้องการใช้ไฟฟ้า 85 – 90 วัตต์เราควรเลือกใช้อินเวอร์เตอร์100 W เป็นต้น ในระบบโซล่าฟาร์ม การใช้งานเราควรติดตั้งอินเวอร์เตอร์ในที่ร่มอุณหภูมิไม่เกิน 40 C°ความชื้นไม่เกินร้อยละ 60 อากาศระบายได้ดี ไม่มีสัตว์เช่น หนู งู มารบกวน และมีพื้นที่ให้บำรุงรักษาได้เพียงพอ
ซึ่งอินเวอร์เตอร์ที่ใช้ในระบบโซล่าฟาร์มนั้นเป็น central inverter ซึ่งเป็นการเรียกชื่ออินเวอร์เตอร์ที่มีขนาดใหญ่ กำลังมาก ๆ ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ในระบบโซล่าฟาร์มขนาดใหญ่ เช่น ขนาดกำลัง 500 kW 630 kW เป็นต้น
3. หม้อแปลงกำลัง
เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในโซล่าฟาร์ม ซึ่งใช้ในการส่งผ่านกำลังไฟฟ้าจากวงจรไฟฟ้าหนึ่งไปยังอีกวงจรโดยอาศัยหลักการของแม่เหล็กไฟฟ้า โดยปกติจะใช้เชื่อมโยงระหว่างระบบไฟฟ้าแรงสูงและไฟฟ้าแรงต่ำ เพื่อแปลงแรงดันไฟฟ้าให้อยู่ระดับแรงดันเดียวกัน
สำหรับอุปกรณ์อื่น ๆที่ใช้ในระบบโซลาร์เซลล์ ได้แก่ สายไฟฟ้า รางสายไฟ เสาไฟ ขายึดหรือเสายึดแผงโซลาร์เซลล์ ระบบคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมระบบ เป็นต้น
สำหรับการที่จะตัดสินใจลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้านั้น จะต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจในการลงทุนว่าคุ้มค่าหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่าไร ใช้ระยะเวลาในการคืนทุนกี่ปี อายุการใช้งานของอุปกรณ์นานเท่าไร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การซ่อมบำรุง เป็นต้น
ยกตัวอย่าง โรงงานแห่งหนึ่งใช้ไฟฟ้าในการดำเนินการธุรกิจ มีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าต่อเดือนประมาณ 2,000,000 บาท ภายใน 1 ปีจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ 24,000,000 ล้านบาท
ถ้ามีการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1 เมกกะวัตต์ จะมีการลงทุนทั้งระบบประมาณ 20 – 25 ล้านบาท ซึ่งทางผู้ประกอบการสามารถเลือกแนวทางการจ่ายเงินลงทุนในส่วนนี้ได้หลายแนวทาง ตั้งแต่จ่ายครบเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จและได้ไฟฟ้ามาใช้งาน หรือผ่อนจ่ายกับบริษัทที่มาติดตั้งหรือธนาคาร หรือแบ่งผลกำไรกับผู้มาลงทุนให้และแนวทางอื่น ๆอีกหลายรูปแบบ
ซึ่งเมื่อมีการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ใช้งานแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับทางผู้ประกอบการจะได้คือประหยัดค่าไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายต่อเดือนประมาณ 12 – 15 เปอร์เซนต์ จากตัวเลขข้างต้นที่จะต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้า 2,000,000 บาท ต่อเดือน ประหยัดได้ 12 เปอร์เซนต์คือ 240,000 บาท/เดือน รวม 12 เดือน = 240,000×12 เดือน = 2,880,000 บาท ถ้าคิดการคืนทุนที่ 8 ปี จะได้เงินที่ประหยัดได้ = 2,880,000 x 8 ปี = 22,400,000 บาท จะเห็นได้ว่า หลังจากใช้งานไป 8 ปี เงินลงทุนที่ใช้ไปก็จะได้กลับคืนมาทั้งหมด หลังจากใช้งานนาน 25 ปี ก็จะได้ผลกำไรกลับคืนมาอีกมาก
สำหรับการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ ถ้าเป็นแผงโซลาร์เซลล์ ในการใช้งานนานประมาณ 25 ปี ประสิทธิภาพจะลดลงประมาณ 6 – 8 เปอร์เซนต์ หรือ 8 – 12 เปอร์เซนต์ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแผงโซลาร์เซลล์แต่ละรุ่นแต่ละแบรนด์ ถ้าเป็นชุดอินเวอร์เตอร์อายุการใช้งานประมาณ 15 – 20 ปี ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อใช้งาน 25 ปีแล้ว แผงโซลาร์เซลล์ก็ยังสามารถใช้งานต่อไปได้อีก เมื่อถึงเวลานั้นค่อยสรุป หรือคำนวณการคุ้มค่าอีกครั้งว่า จะใช้แผงเดิมผลิตไฟฟ้าต่อไปหรือเปลี่ยนเป็นแผงใหม่ สำหรับชุดอินเวอร์เตอร์ปกติจะทำประกันอายุการใช้งาน ถ้าชำรุดก่อนกำหนด ทางผู้ขายระบบต้องนำอุปกรณ์ใหม่มาเปลี่ยนให้ สำหรับอุปกรณ์ตัวอื่น ๆเช่น หม้อแปลง สายไฟฟ้า ระบบเชื่อมต่อ คอมพิวเตอร์ควบคุม และอื่น ๆก็มีการซ่อมบำรุงตามระยะเวลา ถ้าซ่อมไม่ได้ก็เปลี่ยนชุดใหม่
สรุป การใช้ระบบโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งในประทศไทยใช้งานระบบนี้สิบกว่าปีที่ผ่านมา และนับวันจะยิ่งใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบนี้ใช้งานได้ผลจริง ประหยัดค่าไฟฟ้าได้จริงและมีความคุ้มค่าในการลงทุน
2. นำระบบเครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ มาใช้แทนแรงงานคน โดยไม่ต้องปลดพนักงานออก แต่ไม่ต้องรับพนักงานเพิ่ม เช่น ใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบเคลื่อนย้ายอัตโนมัติ ระบบจัดเก็บอัตโนมัติ อัพเกรดเครื่องจักรให้ทำงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น เป็นต้น
การทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานและหุ่นยนต์ (Cobot) ในปัจจุบันนี้ นับวันจะมีเพิ่มขึ้น แพร่หลายมากขึ้น เพราะหุ่นยนต์มีราคาถูกลง มีความปลอดภัยสูง ใช้งานง่าย แรงงานหายากขึ้นและค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้เป็นส่วนช่วยให้ระบบการทำงานแบบนี้เติบโตขึ้นทุกปี และในประเทศไทยเราเองก็มีบริษัทที่ผลิตหุ่นยนต์แบบนี้ออกมาจำหน่ายด้วย และในบริษัท โรงงานต่าง ๆก็มีระบบทำงานแบบนี้มากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยส่วนมากจะอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและยารวมถึงวัสดุชิ้นส่วนทางการแพทย์ ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคส์ขนาดเล็ก สิ่งพิมพ์ เครื่องประดับและอัญมณี เป็นต้น
การทำงานแบบนี้ปัจจุบันแพร่หลายและมีการใช้งานอยู่เป็นจำนวนมากในทั่วโลกและประเทศไทยเราเองด้วย สาเหตุเพราะระบบนี้สามารถใช้แทนแรงคนได้ 100 เปอร์เซนต์ สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องหยุดพัก (ในช่วงการทำงานระบบจะมีการหยุดพักเองในจังหวะการรอสินค้าหรือการเปลี่ยนพาเลทในช่วงสั้น ๆ) ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทที่รับทำระบบแบบสมบูรณ์ในประเทศไทยอยู่เป็นจำนวนมาก และราคาของระบบทั้งหมดก็ลดลงมามากเมื่อเทียบกับสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้การคืนทุนเร็วขึ้น ภายใน 3 – 5 ปีก็สามารถคืนทุนได้แล้ว และที่สำคัญก็คือปัจจุบันแรงงานคนนับวันจะหายากมากขึ้นและงานจัดเรียงและยกสินค้าทั้งวันก็ไม่ค่อยมีใครอยากทำเพราะเป็นงานที่หนักและต้องทำทั้งวัน
สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศไทยเราที่ใช้ระบบนี้ทำงานมากได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยาและเวชภัณท์ สินค้าสำหรับอุปโภค โรงงานน้ำตาลและโรงสีข้าว สีและเคมีภัณท์ พลาสติกและชิ้นส่วนรถยนต์ สิ่งพิมพ์และแพคเกจจิ้ง เหล่านี้เป็นต้น
ปัจจุบันมีเครื่องจักรรุ่นใหม่ในทุกอุตหกรรมที่มีระบบการผลิตชิ้นงานแบบอัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งการทำงานจะมีความรวดเร็ว แม่นยำ ชิ้นงานออกมามีคุณภาพสูงและชิ้นงานเสียน้อย ซึ่งการที่จะได้มาซึ่งเครื่องจักรแบบนี้ต้องลงทุนสูงและต้องมีตลาดรองรับสินค้าที่ผลิตออกมาได้เพียงพอ ซึ่งในปัจจุบันในประเทศไทยเราเองก็มีผู้ผลิตเครื่องจักรประเภทนี้มากอยู่พอสมควร รวมถึงการอัพเกรดเพื่อยกระดับเครื่องจักรที่มีใช้อยู่ให้ทำงานได้เร็วขึ้น ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยประหยัดงบลงทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งในการนี้แผนกวิศวกรรมและซ่อมบำรุงจะมีส่วนร่วมอย่างมากในการกำหนดสเปคต่าง ๆ เพื่อให้เครื่องจักรที่ผ่านการอัพเกรดแล้วทำงานได้ตรงสเปคหรือวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ