รศ.ดร.อรัญ หาญสืบสาย สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กับภาพลักษณ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยี 4.0 ระบบพิมพ์อิงก์เจ็ตป้อนม้วน ความเร็วสูง
สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้บริการจัดพิมพ์เอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีบริการหลากหลายทั้งงานพิมพ์ระบบ Offset งานพิมพ์ระบบ Digital และสิ่งพิมพ์คาร์บอนเป็นศูนย์ (CU Carbon Neutral) ทั้งยังรับผลิตและพัฒนาสื่อดิจิทัล หรือ Brand Application เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้นำเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตระบบป้อนม้วนความเร็วสูงมาใช้เพื่อเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับงานพิมพ์ และการเพิ่มงานให้หลากหลายมากขึ้น
ความพร้อมในการลงทุนติดตั้งระบบพิมพ์อิงก์เจ็ตป้อนม้วน ความเร็วสูง สำนักพิมพ์จุฬาฯ
ตอบได้เลยว่ายังไม่พร้อม แต่เราทำตามแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่วางไว้ จากโจทย์หลาย ประเด็นได้แก่
- กำลังคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า พนักงานฝ่ายผลิตจะเกษียณไปมากกว่า 10 คน แล้วสำนักพิมพ์จะจัดการอย่างไร สามารถรับคนแทนได้ไหม ต้องยอมรับว่าหาคนรุ่นใหม่ยากที่สนใจอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะทำงานกับเครื่องพิมพ์ออฟเซตและอุปกรณ์หลังพิมพ์แบบตั้งเดิม หรือถ้าเราจะขยายการลงทุนด้วยเทคโนโลยีเติมแล้ว จะเป็นการสร้างปัญหาเรื่องกำลังคนหรือเปล่า
- สัดส่วนงานพิมพ์จำนวนน้อย ๆ short run เพิ่มขึ้น สำนักพิมพ์จุฬาฯ จะทำงานร่วมกับศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ บริการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือวิชาการเป็นส่วนใหญ่ จากคณาจารย์และนักวิชาการทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าจำนวนหัวเรื่อง (title, ไม่ได้ลดลง ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา แต่มีข้อสังเกตว่ามากกว่าครึ่งเป็นงานที่มีจำนวนสั่งพิมพ์จำนวนน้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 800 เล่มต่องาน และจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ จะทำให้ต้นทุนและราคาของหนังสือแพงขึ้น สำนักพิมพ์จะทำอย่างไร
- ผลิตงานส่งไม่ทันตามกำหนดเวลา เราแก้ปัญหานี้ไม่ได้เลย เพราะมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ในกระบวนการผลิตหนังสือได้แก่ งานวิเคราะห์คุณภาพหนังสือจากผู้ทรงคุณวุฒิงานบรรณาธิการ งานออกแบบ ซึ่งจะมีผลทำให้เหลือเวลาน้อยมากให้กับฝ่ายผลิต ส่งงานล่าช้ากว่ากำหนดเวลา ในปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์สามารถผลิตงานสงทันกำหนดให้เจ้าของงานได้เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น เราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
- ราคาแพงแข่งขันไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายของสำนักพิมพ์อย่างมาก เวลาไปเสนอราคางานแข่งกับโรงพิมพ์อื่น ๆ ต้องบอกก่อนว่า ต้นทุนคงที่ (Fix cost) ของสำนักพิมพ์จุฬาฯ ค่อนข้างสูงจากจำนวนพนักงานในแผนกบรรณาธิการและออกแบบ สร้างสรรค์ หลายสิบคน ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสนับสนุนที่สำคัญของกระบวนการผลิตหนังสือวิชาการและสิ่งพิมพ์ทั่วไป สำนักพิมพ์จุฬาฯ จึงต้องเตรียมหาเทคโนโลยีใหม่ทดแทนระบบการผลิตแบบเดิม ซึ่งน่าจะเป็นทางออกในการลดต้นทุนในส่วนการผลิตและเวลาได้
แนวคิดในการเลือกเทคโนโลยีระบบอิงก์เจ็ตป้อนม้วนความเร็วสูงมาใช้
สำนักพิมพ์จุฬาฯ ไม่ได้ยึดติดกับแบรนใดแบรนด์หนึ่ง แต่จะพิจารณาที่ความเหมาะสมคุ้มค่า และตรงกับโจทย์การบริหารจัดการความเสี่ยงของสำนักพิมพ์มากกว่า ก่อนอื่นเราลองมองภาพรวมของธุรกิจการพิมพ์หนังสือและ Commercial ของโลกและไทย พบว่ากำลังอยู่ในช่วงผันผวน ไม่แน่นอน ทุกโรงพิมพ์ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายรายประเมินกันว่า วิธีการผลิตงานพิมพ์แบบดั้งเดิมที่ใช้อยู่นี้ อาจจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปเทคโนโลยีดิจิทัลน่าเป็นทางเลือกใหม่ แต่การมองเทคโนโลยีเดี่ยว ๆ คงล้าสมัยไปแล้ว เราต้องมองในรูปแบบบูรณาการ (integration) คือการเชื่อมเทคโนโลยีให้ทำงานร่วมกันต่อเนื่องอัตโนมัติมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งเราจะรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เทคโนโลยี 4.0 รูปแบบเทคโนโลยีนี้จะช่วยย่นเวลาในการปฏิบัติงาน ลดจำนวนคนทำงาน และต้นทุนได้ และนี่คือเหตุผลที่ทำไมสำนักพิมพ์จุฬาฯ ตัดสินใจเลือกใช้เครื่องพิมพ์ดิจิทัลที่สามารถเชื่อมต่อทำงานร่วมกับหน่วยตัด cut sheet และเก็บเรียง stacking ได้ปึกเนื้อในหนังสือที่พร้อมจะนำไปเข้าเล่มต่อได้ทันที เป็นการตัดขั้นตอนการพับและเก็บเรียงในระบบการผลิตดั้งเดิมออกไป
ทำไมต้องเป็นระบบอิงก์เจ็ต เพราะเทคโนโลยีนี้ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีโอกาสสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการได้ รวมทั้งความเร็วในการพิมพ์ ความกว้างของแกมุติสีและที่สำคัญคือ ใช้หมึกฐานน้ำ ไม่ทำลายวิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีที่เราเลือกนี้ยังมีจุดเด่นในเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ ไม่มีการสูญเสียกระดาษในระหว่างพิมพ์ ไม่ต้องใช้ Solvent ในการล้างหมึก ทำให้ตัวชี้วัดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สารไอระเหยง่าย (VOCS) และของเสียลดลงสู่ระดับต่ำ นำไปสู่เกณฑ์กำหนดการเป็นธุรกิจยั่งยืน (sustainable business) ของภาครัฐ ซึ่งจะมีการรับรองจากภาครัฐต่อไป
การเปลี่ยนเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งย่อมมีผลต่อรูปแบบการทำงาน และค่าใช้จ่ายที่อาจสูงขึ้น เพราะพนักงานเดิม และเครื่องพิมพ์เดิมยังอยู่ ทางสำนักพิมพ์ได้ มีการบริหารจัดการอย่างไร
การนำระบบพิมพ์อิงก์เจ็ตป้อนม้วน ความเร็วสูงมาใช้งานในสำนักพิมพ์ ไม่ใช่ว่าเราจะยกเลิกระบบการผลิตดั้งเดิมไปเลย เรายังคงใช้เครื่องพิมพ์ออฟเซตและอุปกรณ์หลังพิมพ์อยู่เพียงแต่ต้องตัดสินใจว่า จะคงเหลืออุปกรณ์และเครื่องจักรเหล่านี้เท่าใด ให้เหมาะกับสภาพธุรกิจของสำนักพิมพ์เอง ทำให้รูปแบบการจัดสรรงานพิมพ์กลายเป็นลูกผสมคือ ระบบดั้งเดิมจะใช้กับงานพิมพ์หนังสือจำนวนมาก งานพิมพ์บนกระดาษเคลือบผิวและงานพิมพ์ปก 4 สี ในขณะที่งานจำนวนน้อยหรือจำนวนตามสั่ง (on demand) จะใช้กับระบบพิมพ์อิงก์เจ็ตอย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงของการแบ่งสัดส่วนงานสำหรับระบบพิมพ์ทั้งสอง ต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นด้วย เช่น จำนวนพนักงานที่มีอยู่ ไม่ให้ว่าง เงินเดือนพนักงาน จำนวนพิมพ์ขั้นต่ำของระบบพิมพ์อิงก์เจ็ต และจำนวนงานที่รับเข้ามา ซึ่งแต่ละปีจะมีพนักงานเกษียณไปเรื่อย ๆ คาดว่าในอีก 3 ปี ข้างหน้า เราจะใช้งานกับระบบพิมพ์อิงก์เจ็ตได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โมเดลการจัดสรรงานรูปแบบนี้ มีความสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังคิดจะลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม
สรุปได้ว่าการมีระบบพิมพ์ 2 ระบบในสำนักพิมพ์ ทำให้การผลิตงานพิมพ์โดยภาพรวมรวดเร็วขึ้น แสดงถึงกำลังการผลิตของสำนักพิมพ์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นงานท้าทายของฝ่ายการตลาดที่ต้องหางานเพิ่มขึ้น
สำนักพิมพ์จุฬาฯ กำลังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 4.0 เป็นที่แรกของธุรกิจสิ่งพิมพ์
ทุกวันนี้เรามีบริการผลิตตำราหนังสือวิชาการให้คณาจารย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ครบวงจร ตั้งแต่การประเมินคุณภาพเนื้อหา การออกแบบรูปเล่ม การจัดพิมพ์และจัดจำหน่าย รวมทั้งานบริการรับจ้างพิมพ์ทั่วไปจากลูกค้าภายในมหาวิทยาลัยเอง (ร้อยละ 40) และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย รวมภาคเอกชน (ร้อยละ 60)
เราต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสำนักพิมพ์จุฬาฯ ให้เป็นผู้ให้บริการสิ่งพิมพ์ที่มีคุณภาพ รวดเร็ว และราคาเป็นที่พอใจ รวมทั้งสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าเสริมบริการงานพรีมีเดีย premedia ให้แก่ลูกค้า ตั้งแต่ให้คำปรึกษา พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับลูกค้า รวมทั้งบริการ digital marketing ทั้งนี้ระบบพิมพ์อิงก์เจ็ตป้อนม้วน ความเร็วสูง จะเป็นตัวช่วยให้สร้างภาพลักษณ์ใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี
โครงการ Digital Transformation ยุค New Normal และภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ถือว่าเป็นความบังเอิญพอดีที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในช่วงระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่การทำงานของสำนักพิมพ์จุฬาฯ ต้องอยู่ในสภาพที่เรียกว่าคนทำงานน้อย ต้องรักษาระยะห่างในการปฏิบัติงาน ใช้เวลาในการทำงานน้อยลง และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้บ่งบอกให้เราเป็นนัยว่าต้องมีแผนรองรับเสมอกับสิ่งที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้น และเราต้องอยู่กับสิ่งนี้ให้ได้ ทำให้สถานการณ์นั้นกลายเป็นสิ่งที่เป็นปรกติต่อมา เรียกว่า New Normal ดังนั้นจึงคิดว่า การใช้เทคโนโลยี 4.0 ด้วยระบบพิมพ์ใหม่นี้มาถูกทาง เพราะเข้ากับสถานการณ์ได้ดี
ต่อมาใครจะไปคิดว่าเมื่อการระบาดของโควิดเบาบางลง เศรษฐกิจโลกกลับไปสู่ในสภาพถดถอยอีกด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูง อาจจะด้วยสาเหตุหนึ่งจากการสู้รบกันระหว่างรัสเชียกับยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน การแข่งขันของธุรกิจก็รุนแรงขึ้นตามมา ประเทศไทยก็ไม่ยกเว้น การอยู่รอดของผู้ประกอบการต้องปรับตัวอยู่เสมอ ระบบการผลิตแบบดั้งเดิมอาจจะต้องนำมาคิดใหม่แล้วว่าจะดำเนินการต่อไปได้ไหม หรือต้องหาเทคโนโลยีใหม่มาทดแทน สำหรับโครงการ digital transformation ที่สำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้ดำเนินการและเราถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควรนี้ น่าจะเป็นคำตอบได้ในระดับหนึ่ง