หนังสือยังไม่ตาย! เปิดรายได้อมรินทร์งวด 1/2565 เกือบทะลุ 1 พันล้าน

หนังสือยังไม่ตาย! เปิดรายได้อมรินทร์งวด 1/2565 เกือบทะลุ 1 พันล้าน

“อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง” ผู้นำด้านธุรกิจ สื่อแบบครบวงจร ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และการจัดกิจกรรม โดยเฉพาะกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

เมื่อเราพูดถึงธุรกิจสำนักพิมพ์แล้ว หลายคนคงจะคิดว่าธุรกิจนี้ได้ล้มละลายหายไปแล้ว และคนคงไม่นิยมอ่านหนังสืออีกต่อไปแล้ว แต่อันที่จริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว เพราะวันนี้ Modernist จะพาทุกคนมาทำความรู้จัก “อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง” ผู้นำด้านธุรกิจสื่อแบบครบวงจร ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และการจัดกิจกรรม โดยเฉพาะกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งการมีสำนักพิมพ์ของตนเอง โรงงานพิมพ์ และร้านจำหน่ายหนังสือ ซึ่งตัวบริษัทเขาเพิ่งประกาศรายได้ในไตรมาสที่ 1/2565 ไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 และจากการทำธุรกิจแบบนี้เขากวาดรายได้ร่วมไป 900 ล้านบาทเลยทีเดียว

โดยบมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง มีจุดเริ่มต้นมาจากนิตยสารบ้านและสวนในเดือนกันยายน 2519 โดยเป็นการรวมตัวของพรรคพวกและกองบรรณาธิการไม่กี่คน และมีหัวเรือใหญ่คือ “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” และได้ค่อย ๆ ขยายธุรกิจไปยังโรงพิมพ์เพื่อจัดพิมพ์นิตยสารเอง และรับจ้างงานพิมพ์จากภายนอกอีกด้วย จนกระทั่งในวันที่ 3 มกราคม 2535 อมรินทร์นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อว่า AMARIN และขยายกิจการไปยังสื่อสิ่งพิมพ์แนวอื่น ๆ เช่น การก่อตั้งนิตยสารแพรว และการซื้อลิขสิทธิ์ National Geographic มาตีพิมพ์ในฉบับประเทศไทย นอกเหนือจากนี้ยังดำเนินการจัดจำหน่ายหนังสือโดยมีหน้าร้านภายใต้ชื่อว่า “ร้านนายอินทร์” อีกด้วย

ในปี 2556 อมรินทร์เองได้ขยายสู่วงการโทรทัศน์ระดับชาติ ด้วยการประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ระบบความคมชัดสูงได้ในช่องหมายเลข 34 และเริ่มออกอากาศในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ในชื่อของ “อมรินทร์ทีวี เอชดี 34” เน้นรายการข่าวสาร สาระความรู้ และรายการไลฟ์สไตล์ที่ต่อยอดจากนิตยสาร รวมถึงได้เริ่มขยายช่องทางไปจัดกิจกรรมและทำสื่อออนไลน์ที่หลากหลายขึ้น เช่น Spotlight ที่เน้นสื่อเศรษฐกิจเป็นหลัก หรือการนำหัวนิตยสารมาพัฒนาในสื่อออนไลน์ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันอมรินทร์กรุ๊ปนั้นมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด (ในเครือ TCC Group ของตระกูลสิริวัฒนภักดี) ถึงร้อยละ 60.35 และได้ทายาทรุ่นสองอย่าง “คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์” เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ดูแลภาพรวมทั้งหมด ซึ่งจากการรวมพลังของทั้งอมรินทร์เดิมและเครือทีซีซีนั้น ส่งผลทำให้ได้ผลประกอบการเป็นที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก โดยในไตรมาสที่ 1/2565 ที่เพิ่งประกาศไปนั้น มีรายได้รวมอยู่ที่ 998,639,000 บาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 113,974,000 บาท

และจากการแบ่งสัดส่วนของรายได้ ทำให้พบว่ารายได้ของอมรินทร์ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ โดยมีรายได้อยู่ที่ 572,047,000 บาท รองลงมาคือธุรกิจสื่อโทรทัศน์ 351,104,000 บาท และสุดท้ายคือ ธุรกิจจัดแสดงงานและสื่อออนไลน์ 204,429,000 บาท

การปรับตัวก้าวขึ้นไปเรื่อย ๆ ของอมรินทร์ ทำให้เราค้นพบบทเรียนว่า ตราบใดที่เราพยายามปรับตัวเองให้ทันสมัยอยู่เรื่อย ๆ นั้น ก็อาจจะทำให้เราสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวต่อไปได้ในอนาคตก็เป็นไปได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจยุคนี้ คือ การร่วมมือของแต่ละฝ่าย นำจุดแข็งที่มีมาพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อนำพาทั้งสองฝ่ายให้ถึงเป้าหมายได้เร็วที่สุดต่อไปนั่นเอง