Extended Producer Responsibility (EPR)
EPR ทางรอดของธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดการขยะบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร
EPR: Extended Producer Responsibility คือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค ที่ผู้บริโภคใช้/บริโภคหมดแล้ว หรือสินค้าหมดอายุการใช้งาน (Post - consumer products) โดยผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ใช้แล้ว หรือที่หมดอายุการใช้งาน
ไม่ว่าจะเป็นเก็บรวบรวม หรือรับคืนผลิตภัณฑ์ – บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อคัดแยก แล้วนำไปรีไซเคิล รวมไปถึงกำจัดซากผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ สามารถช่วยให้ผู้ผลิตได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ จนนำมาสู่การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์พลาสติก ให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และส่งผลเสีย หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
- องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co – operation and Development : OECD ให้นิยาม EPR ไว้ว่า เป็นการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ที่ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้หมดแล้ว
- หลักการ EPR จึงช่วยลดภาระหน่วยงานภาครัฐ เช่น เทศบาล ที่ต้องจัดเก็บ – คัดแยก – กำจัดขยะ ขณะเดียวกันทำให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น
- เมื่อผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในขั้นตอนหลังการบริโภค/ใช้ ย่อมเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ – บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิล นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ลดการใช้ส่วนประกอบ หรือวัสดุที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณวัสดุที่ต้องส่งไปพื้นที่ฝังกลบ หรือกำจัดด้วยวิธีการอื่น
- ยกตัวอย่างเช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปัจจุบันผู้ผลิตใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือบรรจุภัณฑ์นำกลับมาใช้ซ้ำ ก็ต้องเก็บรวบรวม หรือรับคืนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เพื่อคัดแยก นำไปรีไซเคิล หรือหากเป็นบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เพื่อนำกลับมาใช้ในครั้งต่อ ๆ ไป
- แนวทาง EPR ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กร หรือแบรนด์นั้น ๆ ที่แสดงความรับผิดชอบตลอดทั้งวงจรชีวิตสินค้า และบรรจุภัณฑ์
- สร้าง Demand ให้กับผู้บริโภค เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อ/ใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- แนวทาง EPR เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) เติบโต
ทำไมจึงต้องทำ EPR
- เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และไม่สูญเปล่า
- เป็นการบริหารจัดการและลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก ได้ร่วมดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
- ช่วยแก้ปัญหาด้านการทำลายสิ่งแวดล้อมจากพลาสติก อย่างยั่งยืน
- ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมดูแลและจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจร
ตัวอย่างของ EPR ที่เกิดขึ้นแล้ว
- 100% Recyclable: ตัวสินค้าสามารถนำไปรีไซเคิลได้จริง จากทั้งตัววัสดุเองและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น กระป๋องอะลูมิเนียมหรือโลหะต่าง ๆ พลาสติกหนา ๆ ประเภท PP หรือ HDPE
- Reduced Packaging: การลดแพ็คเกจจิ้งที่ไม่จำเป็นไป เช่น เครื่องสำอางหรือสกินแคร์หลายแบรนด์ที่เมื่อก่อนจะต้องใส่กล่องหุ้มด้วยพลาสติกอีกชั้น ก็เปลี่ยนเป็นตัวขวดหรือหลอดโดยป้องกันการปนเปื้อนด้วยซีลอะลูมิเนียมฟอยล์
- Responsibly Produced: ผลิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบ เช่น ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ผลิตสินค้าให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ลดการปล่อยของเสียหรือมีขยะจากการผลิตเกินความจำเป็น ไม่ผลิตมากเกินไป (Mass production)
- Take - back program: พบมากในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางแบรนด์ที่รับสินค้าของตัวเองกลับไปจัดการ โดยให้ส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าชิ้นใหม่